อย.เตือน! ซื้อยารักษาสิวผ่านเว็บ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

อย.เตือน! ซื้อยารักษาสิวผ่านเว็บ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

อย.เตือน! การซื้อยารักษาสิวผ่านเว็บ เสี่ยงได้รับยาไม่มีคุณภาพ อาจอันตรายภัยถึงชีวิต โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ทำให้ทารกพิการได้

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กรณีสื่อสังคมออนไลน์โพสต์ภาพเด็กผู้หญิงขายยา Acnotin10 ซึ่งเป็นยาในกลุ่มวิตามินเอ อ้างลดการผลิตไขมัน ลดสิวอุดตัน กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใหม่ ๆ นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอย้ำเตือนผู้บริโภคอย่าสั่งซื้อยา ผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์มารับประทานโดยเด็ดขาด เสี่ยงต่อการได้รับยาไม่มีคุณภาพ และอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาถึงชีวิต

สำหรับยาดังกล่าวเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มวิตามินเอมีชื่อสามัญทางยา คือ Isotretinoin (ไอโซเตรทติโนอิน) หรือ Retinoic acid (เรทิโนอิก แอซิด) มีชื่อทางการค้า เช่น Roaccutane (โรแอคคูเทน) Acnotin (แอคโนติน) Sotret (โซเทรท) Isotane (ไอโซเทน) เป็นต้น โดยยากลุ่มนี้จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น สำหรับการซื้อยาดังกล่าวจากร้านขายยาจะต้องมีใบสั่งแพทย์มาซื้อ และขายได้เฉพาะในร้านขายยาที่มีเภสัชกรคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ต้องมีใบอนุญาตขายยา อีกทั้งควรใช้ยาในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

ยากลุ่มกรดวิตามินเอนี้ที่ต้องจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง ส่งผลต่อหญิงมีครรภ์ เพราะจะทำให้เด็กทารกในครรภ์พิการได้ เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ พบความบกพร่องทางสมอง ดังนั้นผู้ที่ได้รับยาจึงต้องคุมกำเนิดก่อนกินยาอย่างน้อย 3 เดือน และ คุมกำเนิดตลอดระยะเวลาที่ใช้ยาตัวนี้ในการรักษาสิว เพื่อความปลอดภัยต่อมารดาและทารกในครรภ์ นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังมีผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ทำให้ริมฝีปากแห้ง ตาแห้ง ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ที่มีภาวะวิตามินเอสูงเกินหรือผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง อย่าคิดว่าเป็นแค่เรื่อง สิว สิว ภัยร้ายอาจถึงชีวิต

"อย. เข้มงวดในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเป็นภัยต่อสังคม โดยเฉพาะทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ซึ่งนำมาโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณไม่ว่าจะเป็นการช่วย เสริมสมรรถภาพทางเพศ ลดความอ้วน ลดน้ำหนัก ยารักษาสิว เพิ่มขนาดหน้าอก ทำให้ผิวขาวใส การโฆษณาขายยา ผ่านทางเว็บไซต์ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุมัติภาพและข้อความโฆษณา"นพ.สุรโชคกล่าว

นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา อย. ได้มีมาตรการขั้นเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำการละเมิดกฎหมายไปแล้ว โดยในปี 2560 พบการกระทำผิด 111 เรื่อง ดำเนินการส่งเรื่องแจ้งระงับการโฆษณา และ ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี 236 รายการ และยังคงเข้มงวดกับผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผ่านเว็บไซต์ และ Social Media ขอให้แจ้งมาได้ที่ อย. โดยตรง ทางสายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด