เมกะโปรเจค '8แสนล้าน' ส่อหลุดเป้า

เมกะโปรเจค '8แสนล้าน' ส่อหลุดเป้า

เมกะโปรเจค "คมนาคม" ระยะเร่งด่วน ส่อหลุดเป้าเดินหน้า 36 โครงการ ลงทุนรวม 8.95 แสนล้านปีนี้ หลัง 8 เดือน ทำได้เพียง 6 โครงการ มูลค่า 4.3 หมื่นล้าน

กระทรวงคมนาคมเปิดฉากปี 2560 ด้วยแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action plan) ซึ่งบรรจุการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้ 36 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 895,757.55 ล้านบาท

กรุงเทพธุรกิจ สำรวจพบผ่านมาร่วม 8 เดือน สามารถดำเนินการตามเป้าหมายเพียง 6 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 43,818.67 ล้านบาท ต้องลุ้นว่า กระทรวงคมนาคมจะผลักดันโครงการที่เหลือได้มากน้อยเพียงใดในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้

สำหรับ Action plan 2560 จำนวน "6 กลุ่มงาน" มีความคืบหน้าดังนี้

กลุ่มที่ 1 โครงการที่ตั้งเป้าหมายพร้อมเปิดให้บริการ มูลค่ารวม 219.66 ล้านบาท ขณะนี้เป็นไปตามแผน 1 โครงการจากทั้งหมด 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอรี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและตะวันตก (พัทยา-หัวหิน) เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และ 2.โครงการบริหารจัดการตั๋วร่วม มูลค่า 219.66 ล้านบาท เลื่อนเวลาเปิดให้บริการจากเดือน มิ.ย. เป็นเดือน ต.ค. นี้

กลุ่มที่ 2 โครงการที่ตั้งเป้าหมายจะเริ่มก่อสร้าง มูลค่า54,798.5ล้านบาท ขณะนี้เป็นไปตามแผน 1 โครงการ จากทั้งหมด 5 โครงการ ได้แก่ 1.ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงราย มูลค่า 2,365.81 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา 2.การพัฒนาท่าอากาศยานในภูมิภาคระยะแรก4แห่ง มูลค่า 7,685.50 ล้านบาท ปัจจุบันท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก และท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ท่าอากาศยานกระบี่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2561 ส่วนท่าอากาศยาน จ.สกลนคร มีผู้โดยสารไม่หนาแน่น จึงสามารถรอการพัฒนาได้

3.ทางพิเศษ (ทางด่วน) พระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก มูลค่า 31,244 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา คาดเปิดประมูลภายในเดือน ต.ค. และเริ่มก่อสร้างเดือน ธ.ค.2560 แต่มีแนวโน้มว่าการก่อสร้างจะล่าช้าเป็นเดือน มี.ค.2561

4.รถไฟทางคู่หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่า 10,239.58ล้านบาท เตรียมเสนอรายชื่อผู้ชนะการประมูลให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด ร.ฟ.ท.) เห็นชอบ คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และ5.การปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระอาคารผู้โดยสารหลักท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 3,263.61 ล้านบาท อยู่ระหว่างเปิดประมูลและจะทราบผลในเดือน ต.ค. นี้

กลุ่มที่ 3 โครงการที่เริ่มประกวดราคาได้ 15 โครงการ มูลค่า 468,564.48 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีโครงการใดเป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่ 1.การจัดซื้อรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ไฟฟ้า 200 คัน พร้อมก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้า มูลค่า 2,272.22 ล้านบาท ยังไม่เริ่มประกวดราคา 2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 มูลค่า 21,197 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียดและเตรียมเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

ด้านการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางถูกชะลอไว้ เพื่อรอความชัดเจนเรื่องการโอนทรัพย์สินระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แก่ 3.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู มูลค่า 12,146 ล้านบาท 4.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา มูลค่า9,803ล้านบาท 5.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลค่า123,354ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรูปแบบการประมูล

6.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท มูลค่า 31,149.35 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรูปแบบการประมูล คาดเปิดประมูลพร้อมรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยานในเดือน พ.ย. นี้ 7.รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มูลค่า 7,596.94 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านรถไฟทางคู่ 6 โครงการผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดการรถไฟฯ แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ 8.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย มูลค่า 56,066.25 ล้านบาท 9.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 35,839.74 ล้านบาท 10.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 26,065.75 ล้านบาท 11.รถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี มูลค่า 23,384.91 ล้านบาท 12.รถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา มูลค่า 51,823.28 ล้านบาท 13.รถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 7,941.80 ล้านบาท

14.รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ มูลค่า 59,924.24 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของการรถไฟฯ และ 15.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

กลุ่มที่ 4 โครงการที่มีเป้าหมายจะนำเสนอ ครม. หรือคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) 8 โครงการ มูลค่ารวม 298,004.67 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีโครงการใดเป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่ 1.รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่า 76,978.82 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) 2.รถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มูลค่า60,351.91ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม คาดเสนอให้ ครม. เห็นชอบได้เดือน ต.ค.

3.รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มูลค่า 19,042.13 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4.ท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 มูลค่า 35,099.54 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) 5.ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ East-West Corridor ด้านตะวันออก มูลค่า 14,382 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรายงานความเหมาะสมและคาดว่าจะเสนอ ครม. ในเดือน พ.ย. นี้

6.ทางด่วน ช่วงกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต มูลค่า 10,496.65 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) 7.ทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงนครปฐม-ชะอำ มูลค่า 80,600 ล้านบาท เตรียมเสนอรายงานพีพีพีให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา 8.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม มูลค่า 1,053.62 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมเห็นชอบรายงานพีพีพีและเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแล้ว

กลุ่มที่ 5 โครงการที่ตั้งเป้าหมายให้เตรียมข้อเสนอโครงการแล้วเสร็จ มูลค่ารวม 48,985.56 ล้านบาท ขณะนี้เป็นไปตามแผน 2 โครงการ จากทั้งหมด 4 โครงการ ได้แก่1.การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน ฝั่งตะวันออก-ตะวันตกในระยะยาว ของกรมเจ้าท่า (จท.) มูลค่า981.70ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม 2.มอเตอร์เวย์ ช่วงหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย มูลค่า 30,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงานพีพีพีให้เสร็จภายในปีนี้

ด้านการศึกษาโครงการพัฒนาสถานีขนส่ง 2 โครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ได้แก่ 3.โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคชายแดน 9 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย ตาก หนองคาย มุกดาหาร สระแก้ว ตราด กาญจนบุรี สงขลา และนราธิวาส มูลค่า 8,065.84 ล้านบาท และ4.โครงการพัฒนาสถานีขนส่งภูมิภาคเมืองหลัก 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี มูลค่า 9,438.02 ล้านบาท

กลุ่มที่ 6 โครงการสำคัญที่ตั้งเป้าหมายจะผลักดัน วงเงิน 24,049 ล้านบาท ขณะนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 2 โครงการ ได้แก่ 1.การก่อสร้างจุดพักรถบรรทุก 3 แห่ง ที่บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และกำแพงเพชร มูลค่า 450 ล้านบาท ซึ่งได้รับงบประมาณดำเนินการในปี 2561 แล้ว และ2.โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต มูลค่า 23,499ล้านบาท ซึ่ง รฟม. เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานพีพีพี

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเหลือโครงการสำคัญที่ตกค้างจาก Action Plan 2559 ซึ่งยังไม่คืบหน้ามากนัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สคร. เพื่อให้เปิดประมูลได้ภายในปีนี้

โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งมีแผนจะสรุปผลการศึกษาภายในเดือน ส.ค. นี้ และขณะนี้ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน โครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ตั้งเป้าจะตอกเสาเข็มภายในปีนี้ รวมถึงโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งต้องขออนุมัติงบประมาณก่อสร้างจาก ครม. เพิ่มเติม