ททท. กว้านพันธมิตรปลุกไตรมาส 2 สู้ศึกคู่แข่งทั่วเอเชีย โหมชิงนักท่องเที่ยว

ททท. กว้านพันธมิตรปลุกไตรมาส 2 สู้ศึกคู่แข่งทั่วเอเชีย โหมชิงนักท่องเที่ยว

ภาคท่องเที่ยวไทยเผชิญความท้าทายหนัก! ท่ามกลางประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียทุ่มสรรพกำลังทำตลาดเชิงรุก เฟ้นจุดขายโหมโปรโมตชิงขุมทรัพย์นักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะทัพหน้า! แห่งท่องเที่ยวไทย เฟ้นหาพันธมิตรผนึกความร่วมมือดึงดูดนักท่องเที่ยว

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในไตรมาส 2 ปี 2567 ยังคงมีปัจจัยท้าทายจากการทำตลาดเชิงรุกของประเทศคู่แข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ โดยแนวทางดำเนินงานส่งเสริมตลาดต่างประเทศขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (NTO) ของประเทศต่างๆ เช่น “จีน” ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 6 ประเทศ สามารถเดินทางเข้าจีนได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และมาเลเซีย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศ มีผลวันที่ 1 ธ.ค. 2566 - 30 พ.ย. 2567

“เวียดนาม” ชูจุดขายทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง (Man-made Attraction) สามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นอย่างดีและเป็นคู่แข่งที่พร้อมช่วงชิงฐานนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย

ด้าน “ญี่ปุ่น” เน้นส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ภายใต้แนวคิดหลัก “เที่ยวได้หมดทุกจังหวัด” พร้อมโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรอง และชูภาพลักษณ์การเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูง ทำให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นในการเดินทางและสามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวก เนื่องจากมีรถไฟเข้าถึงทั่วประเทศ

“เกาหลีใต้” จัดแคมเปญ “100 กิจกรรมการท่องเที่ยวเกาหลี” ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเกาหลี เพื่อขยายฐานนักท่องเที่ยวจากตลาดอาเซียน โดยมุ่งเน้นโปรโมตการท่องเที่ยวแบบสมาร์ต ทัวริสซึ่ม (Smart Tourism) ซึ่งเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวมิติใหม่ที่เกาหลีพัฒนาขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้บริการด้านการท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ พร้อมดำเนินยุทธศาสตร์ด้านซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ด้วยการใช้วัฒนธรรมเค-คัลเจอร์ (K-Culture) เป็นแกนหลักในการกระตุ้นนักท่องเที่ยว เพื่อทำแคมเปญส่งเสริมการขายกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลาย

นอกจากนี้ ยังมีคู่แข่งสำคัญอื่นๆ ที่มีทรัพยากรและงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมใหม่ๆ ที่ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวด้วยสินค้าท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง, ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Medical & Wellness), คอนเสิร์ตและอีเวนต์ด้านกีฬา (Concert & Sport Event) อาทิ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐ และสิงคโปร์

ขณะเดียวกัน หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ (Domestic Tourism) อาทิ ตลาดจีน ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างเมืองและมณฑลมากขึ้น และมีการดำเนินการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องนับจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ด้านตลาดอินเดียประกาศนโยบายทราเวล อิน อินเดีย (Travel in India)โดยขอความร่วมมือชาวอินเดียให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นแทนการเดินทางไปต่างประเทศ

ฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการแข่งขันดึงนักท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ททท.จึงเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มโอกาสการทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดศักยภาพและตลาดดาวรุ่งเข้าไทย ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2567 อาทิ การจัดและเข้าร่วมงานคอนซูเมอร์แฟร์ แทรเวลแฟร์ และโรดโชว์ในพื้นที่ตลาดเป้าหมาย อาทิ มาเลเซีย งาน Sawasdee Malaysia (เม.ย. 67) เซี่ยงไฮ้ จีน งาน CMTF 2024 (25-27 เม.ย.67) ดูไบ ยูเออี งาน ATM 2024 (6-9 พ.ค.67) โซล เกาหลีใต้ งาน Amazing Thailand x Toto Booking Road Show to Korea 2024 (16 พ.ค.67) และเซาเปาโล บราซิล งาน WTM Latin America (7-10 พ.ค)

ล่าสุด ททท. และ บริษัท ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชันแนล (UnionPay International) ผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ในประเทศจีน เพื่อผนึกความร่วมมือส่งเสริมการขายและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของตลาดนักท่องเที่ยวจีน พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการท่องเที่ยวประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมตลาดให้นักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและผู้ถือบัตร UnionPay เดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น พร้อมส่งมอบประสบการณ์การที่ดีทางการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ UnionPay International เป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ในประเทศจีนที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานในประเทศ เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless) ร้านค้าส่วนใหญ่จะรับชำระเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือแอปพลิเคชันการชำระเงินต่างๆ แทนการใช้เงินสด โดยบัตร UnionPay สามารถใช้ได้ในกว่า 180 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก มีเครือข่ายร้านค้ามากกว่า 85 ล้านแห่ง

“ความร่วมมือระหว่างกันครั้งนี้จะเพิ่มโอกาสในการนำเสนอสินค้าและบริการคุณภาพของประเทศไทยในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น ผ่านช่องทางของ UnionPay เพื่อมอบข้อเสนอสุดพิเศษให้แก่ผู้ถือบัตร UnionPay สร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น”

ททท. กว้านพันธมิตรปลุกไตรมาส 2 สู้ศึกคู่แข่งทั่วเอเชีย โหมชิงนักท่องเที่ยว