เปิดเบื้องลึก 'จุลพงษ์' อธิบดีกรมโรงงาน ลาออกไม่รอเกษียณ 30 ก.ย.นี้

เปิดเบื้องลึก 'จุลพงษ์' อธิบดีกรมโรงงาน ลาออกไม่รอเกษียณ 30 ก.ย.นี้

เปิดที่มาที่ไป "จุลพงษ์ ทวีศรี " อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประกาศลาออกจากตำแหน่งโดยไม่รอเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย. นี้ “พิมพ์ภัทรา” ยันยังไม่เห็นหนังสือลาออก ไม่เคยกดดันให้ลาออก แต่กดดันแก้ปัญหา ลั่น ทุกเรื่องต้องมีคำตอบ ทำงานแบบมืออาชีพ

รายงานข่าวระบุว่า ทันทีที่นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ประกาศลาออกจากราชการ กลางวงประชุมคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ซึ่งในการประชุมได้เร่งรัดติดตามการแก้ 2 เรื่องสำคัญที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

อาทิ กรณีเพลิงไหม้สารเคมีของกลาง ของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จ.ระยอง โดยกรณีนี้นายจุลพงษ์ ถูกนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อว่าเรื่องการลงพื้นที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนล่าช้า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา และกรณีการลักลอบขนย้ายกากแร่ตะกอนแคดเมียมจาก จ.ตาก ไปยัง จ.สมุทรสาคร จนถูกกระจายไปยัง จ.ชลบุรี และเขตบางซื่อ กทม. ซึ่งการขนย้ายยังพบปัญหาหลายจุด ทำให้นายจุลพงษ์ ถูกตำหนิเพราะแก้ปัญหาล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการลาออกครั้งนี้ เป็นการยื่นหนังสือลาออกก่อนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 2567 โดยคาดว่า เป็นผลจากความกดดันในการทำงาน ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การลักลอบขนย้ายกากแร่ตะกอนแคดเมียม และกรณีเพลิงไหม้สารเคมีของกลาง ของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 ได้ถูกนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อว่าเรื่องการลงพื้นที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนล่าช้า

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ที่เอกชนร้องเรียนล่าช้ามาก รวมถึงการเกิดเหตการณ์ไฟไหม้ สถานที่เก็บสารเคมีซ้ำซากในหลายๆ พื้นที่ และปัญหาการขนย้ายกากแคดเมียม เป็นต้น

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 -25 เม.ย. 2567 ช่วงที่เกิดเพลิงไหม้สารเคมีของกลาง ของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด นายจุลพงษ์ ได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมอนามัย ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเจรจาหารือกับ Mr.Satoshi Yoshida Director for International Resource Circulation และ Mr.Kageyama Minako Duputy Director Industrial and Hazardous Waste Management Division , Environmental Regeneration and Material Cycles Bureau กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น (MOEJ) 

เพื่อกำหนดแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 2 ประเทศ ในการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องมีแผนแม่บท ออกกฎหมายที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งแก้ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย จึงทำให้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของการเกิดเพลิงไหม้สารเคมีของกลาง ของวิน โพรเสสฯ จึงถูกนายกฯ ต่อว่าในขณะที่นายกฯ ลงตรวจพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2567 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นหนังสือลาออกของ นายจุลพงษ์ อย่างเป็นทางการ ส่วนการลาออกของนายจุลพงษ์ เป็นเพราะนางสาวพิมพ์ภัทรา ไม่พอใจต่อการทำงาน กดดันและต้องการย้ายนายจุลพงษ์ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้านั้น 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวยืนยันว่า ตนไม่เคยกดดันให้นายจุลพงษ์ ลาออก แต่กดดันให้ทุกคนทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพราะปัญหามีมาทุกวัน วน ๆ ซ้ำ ๆ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที ที่ผานมาเวลาเกิดเหตุการณ์ใดๆ ตนก็จะให้กำลังใจคนทำงานและสอบถามความคืบหน้าไปยังไลน์กลุ่มผู้บริหารโดยตลอด  อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ตนก็ยังไม่ได้รับรายงานการลาออกของนายจุลพงษ์ จากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเดินหน้าในการเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวดเร็ว เพราะปัญหารอไม่ได้ เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ย้ำแล้วว่า ทุกคนต้องทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ ตามอำนาจหน้าที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานหละหลวมไม่ได้ ทุกความไม่ปกติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ ต้องได้รับการตรวจสอบ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะด้วยเจตนา หรือไม่เจตนา จะต้องมีคำตอบ  เพราะนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนมากที่สุด ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐบาลโดยตรงที่จะต้องดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก