‘ค้าปลีก’ลุยลงทุนกรุงเทพฯพื้นที่แตะ7.65ล้านตร.ม.

‘ค้าปลีก’ลุยลงทุนกรุงเทพฯพื้นที่แตะ7.65ล้านตร.ม.

แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในทางกลับกันกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะมองศักยภาพตลาดระยะยาว ประการสำคัญก้าวช้ากว่าคู่แข่งย่อมพลาด “ทำเลทอง” 

ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า  ตลาดกรุงเทพฯ ยังเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงในการลงทุนของธุรกิจค้าปลีกหลากหลายประเภทจากการเติบโตของฐานกำลังซื้อและไลฟ์สไตล์ ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการในทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ไทยเป็นเซ็นเตอร์ของอาเซียน บินไปมาง่าย ทำให้กรุงเทพฯ เป็นตลาดที่ดีที่สุดในภูมิภาค”

ดังนั้นทำเลเป้าหมายของกลุ่มเดอะมอลล์ยังคงปักหลักกรุงเทพฯ และประเทศไทย โดยมีเมกะโปรเจครอการพัฒนา อย่าง “แบงค็อกมอลล์” มูลค่าลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่ 100 ไร่  แม้จะถูกจับตามองว่า “ความคืบหน้าค่อนข้างช้า” แต่ ไพบูลย์ มองว่าเป็นเรื่องปกติของโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีสถานะเป็น Tourist Attraction ต้องการดึงองค์ประกอบที่เป็น “แม่เหล็ก” มาอยู่ที่ศูนย์การค้าให้ได้มากที่สุด เรียกว่า เปิดมาต้องปัง!!  

ฟากของยักษ์ใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล มีหลายโปรเจคอยู่ระหว่างพัฒนาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ  ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา  เซ็นทรัล พลาซา มหาชัย ห้างสรรพสินค้าโรบินสันมหาชัย โรบินสัน ไลฟ์สไตล์  จ.กำแพงเพชร รวมทั้งเมกะโปรเจคมิกซ์ยูสมูลค่า 3.6  หมื่นล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มดุสิตธานี ปักธงสร้างแลนด์มาร์คใหม่ย่านสีลม  เบื้องต้นส่วนของโรงแรมใหม่จะสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 ขณะที่โครงการส่วนอื่นทั้งหมดจะแล้วเสร็จราวปี 2567

ศักยภาพของกรุงเทพฯ ถูกตอกย้ำด้วยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี  “วัน แบงค็อก”  มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท บนที่ดิน 104 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดพระราม 4 (โรงเรียนเตรียมทหารเดิม) พัฒนาโดยกิจการร่วมทุนระหว่าง บริษัททีซีซี แอสเซ็ท(ประเทศไทย) ถือหุ้น 80.1% และ FCL 19.9% บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่จากประเทศสิงคโปร์  ภายใต้คอนเซปต์เมืองแห่งการครบครัน ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน โรงแรมหรู 5 โรงแรม ที่พักอาศัยระดับลักชัวรี 3 อาคาร ร้านค้าปลีก พื้นที่กิจกรรมและศิลปวัฒนธรรม ทยอยเปิดตั้งแต่ ปี 2564 จะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2568

สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า พื้นที่ค้าปลีกกว่า  3 แสนตร.ม. อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2560-2561  ส่วนใหญ่เป็นโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โดยพื้นที่ค้าปลีกใหม่ราว 1.14 แสนตร.ม. เปิดให้บริการช่วงครึ่งแรกปี 2560 ส่งผลให้พื้นที่ค้าปลีกทั้งหมดของกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ เพิ่มเป็น 7.65 ล้านตร.ม. 

โครงการพื้นที่ค้าปลีกส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมาเป็นโครงการศูนย์การค้า ตามมาด้วยพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุนในอาคารสำนักงาน พื้นที่รอบใจกลางเมืองได้รับความนิยมในการพัฒนาโครงการพื้นทีค้าปลีกมากที่สุดในอนาคต เพราะมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกมากกว่า 60% ของพื้นที่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในพื้นที่นี้

ทั้งนี้ “คอมมูนิตี้มอลล์” นับเป็นคลื่นลูกใหม่ของธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่รวมเป็นอันดับ2 ของตลาดในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบตั้งแต่ปี 2557 อย่างไรก็ดี  ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา คอมมูนิตี้มอลล์ชะลอการขยายตัว เพราะบางโครงการไม่ประสบความสำเร็จหลังเปิดบริการได้ 2-3 ปี เนื่องจากเจ้าของหรือผู้พัฒนาโครงการไม่เข้าใจในธุรกิจค้าปลีก

ศูนย์การค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและครองสัดส่วนมากที่สุดในพื้นที่ค้าปลีกที่มีแผนจะเปิดให้บริการในช่วงปี 2560-2561 พื้นที่ศูนย์การค้ารวมในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ สิ้นไตรมาส 2  ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.45 ล้านตร.ม. หรือประมาณ 58% ของพื้นที่ค้าปลีกโดยรวม 

ผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกขยายตัวต่อเนื่อง โดยเปิดให้บริการศูนย์การค้าในประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองใหญ่ และขยายตัวออกนอกประเทศไทยด้วย”

โดย "ศูนย์การค้า ยังมีอัตราการเช่าที่สูงเช่นกัน เพราะได้รับความนิยมทั้งจากแบรนด์หรือร้านค้าของไทยและต่างประเทศ อาคารสำนักงานหลายอาคารสร้างเสร็จในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาทำให้พื้นที่ค้าปลีกสนับสนุนในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“พื้นที่ค้าปลีกสนับสนุนในอาคารสำนักงานใหม่บางแห่งมีผู้เช่าเป็นร้านค้าหรือแบรนด์ที่มีชื่อเสียงซึ่งสามารถดึงดูดคนที่ไม่ได้ทำงานในอาคารเข้ามาได้มากพอสมควร”

อัตราการเช่าเฉลี่ยในพื้นที่ค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้นเทียบกับช่วงหลายไตรมาสก่อนหน้านี้ เพราะอาคารสำนักงานหลายอาคารปรับเปลี่ยนพื้นที่ค้าปลีกมาเป็นพื้นที่สำนักงาน และเพิ่มผู้เช่าที่เป็นบริษัทที่ให้บริการต่างๆ ค่าเช่าเฉลี่ยในทุกทำเลในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบครึ่งแรกปี 2560 เพิ่มขึ้น 5-10%  เทียบปี 2559 ศูนย์การค้าขนาดใหญ่จะมีค่าเช่าสูงที่สุด พื้นที่ใจกลางเมือง มีค่าเช่าสูงสุด มากกว่า 3,000 หรือ 4,000 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน สำหรับพื้นที่ศูนย์การค้าใจกลางเมือง ส่วนกรุงเทพฯ รอบนอก อยู่ที่  800-3,000 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน  

คอมมูนิตี้มอลล์บางโครงการ ตั้งค่าเช่าได้ที่ 300 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือนเท่านั้น ค่าเช่าเฉลี่ยของทุกพื้นที่ในปี 2560  เพิ่มขึ้น 5-10% จากปี 2559 ขึ้นอยู่กับทำเลและประเภทของโครงการ

โดยคอมมูนิตี้มอลล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกไม่สามารถปรับเพิ่มค่าเช่าได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการไม่ได้รับความนิยมเหมือนช่วงเปิดให้บริการใหม่ๆ