คุมเข้ม “บัตรเครดิต” ส้มหล่น “หุ้นลีสซิ่ง...!!

คุมเข้ม “บัตรเครดิต” ส้มหล่น “หุ้นลีสซิ่ง...!!

ธุรกิจลีสซิ่ง “ส้มหล่น” เด้งรับมาตรการแก้หนี้ “แบงก์ชาติ” คุมวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต-บุคคล คาดคนแห่ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น สะท้อนราคาหุ้นทยาน เชื่อผลประกอบการอนาคตโตต่อ

เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า หนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ กำลังซื้อ ของผู้บริโภคยังหดตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคประชาชนที่มีรายได้น้อย ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม หรือแม้แต่มนุษย์เงินเดือน ผู้มีรายได้ประจำก็เริ่มขาดความเชื่อมั่นในรายได้ในอนาคตของตนเอง

หนึ่งในปัญหาที่มักจะวนกลับมาเสมอๆ คือ หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจากข้อมูลล่าสุด หนี้ภาคครัวเรือนได้ปรับลดลง จากระดับ 81.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในสิ้นปี 2559 แต่ก็ยังถือว่ายังยืนอยู่ใน ระดับที่สูง

ในจำนวนนี้ยังพบว่า หนี้ครัวเรือนของเมืองไทยเกิดจากการสร้างหนี้เกิดตัว โดยเฉพาะสินเชื่อประเภทบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล” ข้อมูลที่น่าตกใจคือสัดส่วนการเป็นหนี้ ปัจจุบัน“คนรุ่นใหม่” หรือเจนวาย ที่จบการศึกษาและเริ่มเข้าทำงานมีการสร้างหนี้เกินตัวเพิ่มขึ้น

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเตรียมออกมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล เพื่อแก้ไขปัญหา โดยเกณฑ์ใหม่ได้ปรับเปลี่ยนเพดานการปล่อยเงินกู้ จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือนซึ่งเกณฑ์ใหม่จะปรับเปลี่ยน ธุรกิจบัตรเครดิต กำหนดให้มีผู้รายได้ต่อเดือน 15,000-30,000 บาท ได้รับวงเงินบัตรเครดิตสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ แต่ถ้ามีรายได้เดือนละ 30,000-50,000 ล้านบาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ และรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ยังเหมือนเดิมที่5 เท่าของรายได้ แต่ไม่ได้ควบคุมจำนวนสถาบันการเงินออกบัตรเครดิต

สำหรับ ธุรกิจสินเชื่อบุคคล กำหนดเงื่อนไขให้มีผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และสถาบันการเงินปล่อยกู้ได้สูงสุด 3 แห่ง หรือคิดเป็น 4.5 เท่าของรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้ต่อเดือนที่ 30,000 บาทขึ้นไป ยังสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ 5 เท่าของรายได้

เมื่อสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ถูกควบคุมการปล่อยสินเชื่อเครดิตและสินเชื่อบุคคล ด้วยการปรับลดวงเงิน “ผลบวก” โดยตรงเกิดขึ้นกับธุรกิจการเงินประเภทที่ไม่มีบัตรเครดิต 

โดยเฉพาะใน ธุรกิจลีสซิ่ง” (Leasing) ถือเป็นกลุ่มที่มีผลประกอบการเติบโต โดดเด่น มาตลอดตั้งแต่เศรษฐกิจชะลอตัว จนมาถึงมาตรการล่าสุดของธปท.

สอดคล้องกับข้อมูลทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ธุรกิจดังกล่าวมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข สองหลัก มีกำไรสุทธิระหว่างปี 2558-ไตรมาส 1 ปี 2560 เติบโตมาโดยตลอด ได้แก่ บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง หรือ MTLS มีกำไรสุทธิ 825 ล้านบาท , 1,464.14 ล้านบาท และ 536.22 ล้านบาท

บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD มีกำไรสุทธิ 1,336.11 ล้านบาท , 2,004.62 ล้านบาท และ 690.15 ล้านบาท ,บมจ.ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง หรือ ECL มีกำไรสุทธิ 49.77 ล้านบาท , 25.03 ล้านบาท และ 30 .31 ล้านบาท

ทว่า ผลงานที่มีทิศทาง สดใส ตอกย้ำผ่านราคาหุ้น MTLS หุ้น SAWAD และ หุ้น ECL ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันทยานเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 43.72% 26.06% และ 88.89% ตามลำดับ

สอดคล้องกับความเห็นของ “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทยลิสซิ่ง หรือ MTLS บอกว่า การที่แบงก์ชาติเตรียมประกาศหลักเกณฑ์คุมเข้มสินเชื่อบัตรเครดิต ไม่กระทบต่อธุรกิจของบริษัท เพราะว่าบริษัทไม่มีธุรกิจบัตรเครดิต 

แต่กลับรับ“ส้มหล่น”เต็มๆ เนื่องจากมองว่าลูกค้าอาจจะมาขอบริการสินเชื่อบุคคลเพิ่มมากขึ้น หากกำหนดให้ผู้สามารถทำบัตรเครดิตต้องมีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป และทำบัตรกับสถาบันทางการเงินได้ไม่เกิน 3 แห่ง

โดยบริษัทมีโปรดักท์สินเชื่อรายย่อยไว้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่แล้ว ประเมินว่า อาจจะทำให้สัดส่วนลูกค้าสินเชื่อขยายตัวมากขึ้นด้วย

เราไม่มีสินเชื่อบัตรเครดิต ดังนั้นมาตรการดังกล่าวที่จะมาคุมเข้มผู้ใช้บัตรเครดิต จึงไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการของ MTLS ถ้าหากแบงก์ชาติออกเกณฑ์คุมเข้มสินเชื่อบัตรเครดิต เรื่องดังกล่าวส่งผลดีกับบริษัทในอนาคตด้วยซ้ำ หากบุคคลเหล่านั้นไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้ หรือบุคคลที่มีความต้องการสินเชื่อ น่าจะหันมาขอใช้บริการสินเชื่อกับบริษัทมากขึ้น

ส่วนข้อกังวลหากมีการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล จะเป็นตัวเร่งทำให้ประชาชนหันไปกู้เงินนอกระบบมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องหันมาดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย และเครื่องมือของรัฐบาลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ มากขึ้น หากภาครัฐมีการจัดการตรงนี้ได้ดี การที่ประชาชนหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบน่าจะลดลงได้

ประธานกรรมการบริหาร เล่าต่อว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก หลังลูกค้ากลุ่มเกษตรกรมีความต้องการใช้เงินสูงขึ้น โดยเห็นได้จากการซื้อปุ๋ยที่เพิ่มมากขึ้น และ ปัญหาภัยแล้งได้คลี่คลายลง ประกอบกับ ในครึ่งปีหลังเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจของบริษัททำให้มั่นใจว่าปีนี้สินเชื่อใหม่จะเติบโตได้ 50% แตะ ระดับ 50,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 37,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ รายได้และกำไร   ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง

"ครึ่งปีแรกเราก็ยังโต ซึ่งถือว่าโตสวนทางกับตลาด โดยเฉพาะเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจเราก็ยิ่งโต ทำให้เชื่อว่าในครึ่งปีหลังเราก็จะโตต่อเนื่อง และ มากกว่าในครึ่งปีแรก เพราะเป็นไฮซีซั่นของเราความต้องการใช้เงินก็สูง

ล่าสุด บริษัทได้เดินทางไปให้ข้อมูลพื้นฐานธุรกิจแก่นักลงทุนสถาบันต่างชาติ และ บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำกว่า 10 กองทุนในลอนดอน , สตอคโฮม , มิวนิค และแฟรงค์เฟิร์ตเมื่อวันที่ 18- 21 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยไปกับ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุนดอยซ์ทิสโก้ จำกัด ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักลงทุนสถาบัน เนื่องจากผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมามีผลงานที่โดดเด่น โดยเติบโตสูงถึง 80% ซึ่งถือว่าดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ และ กำไรทำสถิติสูงสุดทุกปี

นอกจากนี้ ยังมีการคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยสิ้นปีนี้ตั้งเป้าให้อยู่ในระดับ 1.50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.09% และในวันที่ 17-18 ส.ค.นี้ จะเดินทางไปให้ข้อมูลแก่นักลงทุนสถาบันต่างชาติที่ประเทศสิงค์โปร์ กับ บริษัท หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DBS และ ในเดือนก.ย.นี้ จะเดินทางไปให้ข้อมูลแก่นักลงทุนสถาบันต่างชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุนดอยซ์ทิสโก้ จำกัด

เดือนพ.ย. ก็จะเดินทางไปให้ข้อมูลแก่นักลงทุนสถาบันต่างชาติที่สิงค์โปร์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนบริษัทอยู่ที่ 5.3% ซึ่งคาดว่าสถาบันต่างชาติจะถือหุ้นมากขึ้นจากนี้

ก่อนหน้านี้ ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น บอกไว้ว่า แนวโน้มรายได้และสินเชื่อในไตรมาส 2 ปี 2560 จะดีกว่าไตรมาส 1 ปี 2560 หลังความต้องการสินเชื่อยังอยู่ในระดับสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และ ทางสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อทำให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจของบริษัท

ทำให้ปีนี้ยังมั่นใจว่าสินเชื่อจะเติบโต 20-30% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือ คิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 25,000 ล้านบาท จากปี 2559 ที่สินเชื่อเติบโต 50% หรือคิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 20,000 ล้านบาท

สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อของนั้น มีทั้งบริการสินเชื่อ ทั้งแบบมีหลักประกัน เน้นไปที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีความต้องการใช้เงินด่วน แต่ไม่สามารถใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก ที่ต้องการเงินหมุนเวียน เพื่อไปเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ

กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางที่อยู่ระหว่างรอธนาคารพาณิชย์อนุมัติสินเชื่อ ที่ต้องการสภาพคล่องไปขยายธุรกิจ และยังมีสินเชื่ออเนกประสงค์ สำหรับคนในชุมชน เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน หรือ สินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับ (P Loan) มุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีเงินเดือนประจำ มีแหล่งรายได้แน่นอน

นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็น 15-20% ภายในปี 2564 จากปัจจุบันอยู่ที่ 1% พร้อมมีแผนเปิดสาขาในเวียดนาม ลาว เมียนมา

---------------------------------

ยกหุ้น “MTLS & SAWAD” เด่น

สุวัฒน์ บำรุงชาติอุดม นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง ระบุว่า เมืองไทย ลิสซิ่งและ ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทน่าจะได้รับประโยชน์หากแบงก์ชาติออกมาตรการคุมเรื่องสินเชื่อบัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้สร้างหนี้เกินตัว

อย่างไรก็ตาม จะเห็นผลบวกต่อทิศทางของธุรกิจก็ต้องหลังมาตรการดังกล่าวออกมาคาดว่าจะเป็นไตรมาส 3 หรือ 4 ปี 2560 เป็นต้นไป

โดย บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง จากการประกาศงบไตรมาส 1 ปี 2560 ที่กำไร 536 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 11% จากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 7% มาจากการที่บริษัทปล่อยสินเชื่อมากกว่าที่มองไว้ถึง 10%

สินเชื่อรวมที่เติบโตอย่าง ก้าวกระโดด 10% จากไตรมาสก่อน และ 80% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้แนวโน้มการขยายสาขาอย่างรวดเร็วและการเติบโตของสินเชื่อที่ดีขึ้นของ MTLS นั้น ทำให้คาดการณ์กำไรไตรมาส 2 ปี 2560 จะทำสถิติใหม่อีกครั้งจากในไตรมาสแรก

เขา บอกต่อว่า ยังมีมุมมองต่อการเติบโตของสินเชื่อปีนี้อยู่ที่ 27% แม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อปี 2559 จะเติบโตสูงถึง 80% แต่ยังคงประมาณการณ์กำไรปีนี้อยู่ที่ 2,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50%

สาเหตุมาจาก ข้อแรก สินเชื่อเติบโตอย่างรวดเร็วจากอุปสงค์สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในตลาดรากหญ้าที่ธนาคารเข้าไม่ถึง ข้อสอง การให้บริการทางการเงินรายย่อยเต็มรูปแบบพร้อมทั้งการขยายตัวของสาขาเป็น 1,874 สาขา (ตัวเลขสินเดือนมี.ค.) จาก 1,600 สาขา เมื่อปลายปี 2559

ข้อสาม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อที่ 1.3% รวมถึงอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 221% ในไตรมาส 1 และ ข้อสี่ ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวอีกหลายปีจากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต่ำที่ 2.7 เท่า เมื่อเทียบกับเป้าของกิจการที่ให้ไว้ไม่เกิน 4 เท่า

บมจ.ศรีสวสดิ์ คอร์ปอเรชั่น” เขาวิเคราะห์ต่อว่า ปรับประมาณการเติบโตสินเชื่อของ SAWAD เป็น 32% ในปี 2560 (เดิม 25%) และ 20% ในปี 2561 (เดิม 18%) หลังไตรมาส 1 ที่ผ่านมา สินเชื่อเติบโตแข็งแกร่งที่ 23% จากไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้บริหารยังคงเป้าสินเชื่อเติบโตปี 2560 ประมาณ 20-30% และบริษัทกำลังขยายการให้สินเชื่อกับธุรกิจขนาดเล็ก (SME) คิดเป็นราว 20% ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งคาดว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะกว้างขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2560 เป็นต้นไป หลังจากที่ตกลงมาอยู่ที่ 20% ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เป็นผลจากการควบรวมพอร์ตสินเชื่อกับ BFIT โดยประเมินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 22% สำหรับปีนี้และปีหน้า โดยยังมองว่ามีอัพไซด์จากการที่บริษัทใช้ BFIT ในการหาแหล่งต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า SAWAD

นโยบายของ SAWAD นั้น จะพยายามให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยมากขึ้นหลังจากซื้อหุ้น BFIT ซึ่งเป็นบริษัทไฟแนนซ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของแบงก์ชาติจะช่วยหนุนบริษัทลูกในต่างประเทศของบริษัทในการทำธุรกิจ เช่น เวียดนาม ,ลาว และ เมียนมา เพื่อขออนุญาตและค้ำประกันการมีตัวตนของกิจการ โดยปัจจุบันบริษัทปล่อยเงินกู้ 800 ล้านบาท ในประเทศดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ มีแผนจะเพิ่มสาขาในต่างประเทศอีก โดยในเวียดนามจาก 4 สาขา เป็น 10 สาขา เมียนมาจาก 4 สาขา เป็น 8 สาขา และในลาวเป็น 2-3 สาขา (จากไม่มี) ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อภายในประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะหนุนกำไรให้ SAWAD ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตามการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อดังกล่าว