ครม.ใช้ยาแรงป้องขรก.เอาประโยชน์ส่วนรวมเข้าตัว!!

ครม.ใช้ยาแรงป้องขรก.เอาประโยชน์ส่วนรวมเข้าตัว!!

"ครม." ไฟเขียวกฎหมายครอบคลุมผู้สืบสันดาน หวังใช้ยาแรงป้องกันข้าราชการเอาประโยชน์ส่วนรวมเข้าตัว แต่ไม่ถึงขั้นห้ามใช้มือถือชาร์ตไฟหลวง

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … หรือที่ก่อนหน้านี้เรียกว่า กฎหมาย 7 ชั่วโคตร โดยรัฐบาลตั้งใจจะใช้กฎหมายดังกล่าวกับข้าราชการทุกระดับ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมคู่สมรส และครอบคลุมไปถึงญาติ 4 ลำดับ คือ ผู้สืบสันดาน ประกอบด้วย ลูก บุพการี คู่สมรสของบุตร สามีภรรยาของบุตร พี่น้องของเจ้าหน้าที่คนนั้นๆ ไม่ว่าจะพ่อแม่เดียวกันหรือไม่ บุตรที่รับเป็นลูกบุญธรรม ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กระบวนการของกฎหมายฉบับนี้ทั้งหมด เพื่อให้มีความสุจริต ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือเอาผลประโยชน์ส่วนตนไปปนประโยชน์ส่วนรวม

"ในครม.ก็มีการถามกันเยอะว่าวันข้างหน้าใครจะกล้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ต้องบอกว่าถ้าเราตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน ก็ต้องพร้อมถูกตรวจสอบเพราะไม่ใช่มีกฎหมายแบบนี้เฉพาะประเทศไทย ทุกประเทศที่เจริญแล้วมีกฎหมายแบบนี้ทั้งนั้น และถ้าคิดมาก แทรกแซงแต่งตั้งก็โดนเอาเงินใส่ซองตราครุฑของทางราชการไปช่วยงานศพก็โดน เอาโทรศัพท์มือถือชาร์ตไฟหลวงก็โดนเหมือนกัน อย่างนี้มันเวอร์ไป นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เล่าให้ฟังว่า ถ้าตีความเป๊ะๆ แบบนี้เวอร์ไป ความจริงเขาต้องออกกฎหมายรองหรือระเบียบแต่ละหน่วยงานว่าอนุญาตอะไรแค่ไหนอย่างไร เช่น ชาร์ตไฟได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์สำคัญที่เป็นข้อห้าม 1.ห้ามกระทำการที่ขัดผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม 2.ห้ามรับของขวัญ ของระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่อาจคำนวนเป็นเงินได้ แต่มีข้อยกเว้น ถ้าเป็นการให้ตามประเพณีนิยมสามารถทำได้ จากนี้จะต้องออกกฎระเบียบย่อยตามมาอีก อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ที่ได้ร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ด้วย จะได้ยกเลิกกฎหมายของเขาที่กำหนดห้ามรับเงินเกิน 3 พันบาทแล้วมาใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันส่วนจะกำหนดเท่าไหร่จะมีการว่ากันในรายละเอียดอีกครั้ง" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ คนที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกำกับหน่วยงานอะไรมาก็แล้วแต่ หลังจากพ้นตำแหน่งนั้นไปแล้ว 2 ปี จะไปรับตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษาใดๆ ไม่ได้ รวมถึงการกระทำใดๆที่ทำให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับทางราชการ โดยใช้ข้อมูลนั้นเพื่อประโยชน์กับตัวเองไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสัญญาโครงการของรัฐ สัญญาสัมปทาน สัญญาให้บริการสาธารณะ จะมีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนทำให้รัฐเสียประโยชน์เพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ โดยกำหนดขอบเขตการฟ้องร้องชัดเจน หากผิดในลักษณะนี้จะฟ้องร้องที่ศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือศาลปกครอสูงสุดตามแต่กรณี