นักวิ่งต้องตรวจสภาพร่างกายก่อนออกสตาร์ท

นักวิ่งต้องตรวจสภาพร่างกายก่อนออกสตาร์ท

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ แนะนักวิ่งตรวจสภาพร่างกายตนเองให้พร้อมก่อนออกกำลังกาย หลังพบป่วยฉุกเฉินจากอาการหัวใจหยุดเต้นจากการแข่งวิ่งแล้วหลายราย เน้นพิเศษผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะมีสมรรถนะของร่างกายลดลง

เลขาสพฉ.แนะนักวิ่งตรวจสภาพร่างกายตนเองให้พร้อมก่อนออกกำลังกาย หลังพบป่วยฉุกเฉินจากอาการหัวใจหยุดเต้นจากการแข่งวิ่งแล้วหลายราย ล่าสุดชายอายุ 54 ปีหมดสติไม่หายใจ จากการวิ่งมาราธอน ที่สวนหลวง ร.9 แต่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจากทีมแพทย์ที่เข้าร่วมวิ่งภายในงานจนปลอดภัย ขณะที่แพทย์ที่เข้าให้การช่วยเหลือแนะทุกคนเรียนรู้เรื่องการทำ CPR เพราะเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นรอดชีวิตได้



ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้แนะวิธีการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะมีสมรรถนะของร่างกายลดลง เพราะจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และการบีบตัวให้เลือดออกจากหัวใจแต่ละครั้งได้ปริมาณน้อยลง ทำให้ปริมาณเลือดที่หัวใจส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง เป็นผลให้ปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายนำไปใช้ลดลงด้วย พร้อมชี้ว่า โดยพื้นฐาน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะออกกำลังกายได้คล้ายๆ กับในคนปกติ เพียงแต่ควรจะเน้นไปที่การออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น เต้นแอโรบิก เดินเร็ว ขี่จักรยาน วิ่งเหยาะๆ และว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่แนะนำ ได้แก่ ปิงปอง เทนนิสคู่ กอล์ฟ เป็นต้น

 ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาใดๆ ผู้ป่วยทุกคนควรปรึกษาแพทย์ และควรออกกำลังแต่พอเหมาะ ช่วงที่เริ่มออกกำลังกายระยะแรก ควรซ้อมเบาๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน และหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อย หรือแน่นหน้าอก หลังจากที่เริ่มเคยชินก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาของการออกกำลังกาย จนสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป และทำเป็นประจำทุกวันที่สำคัญต้องไม่ลืมเตรียมร่างกาย (warming up and down) ก่อน และหลังการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และควรทำทุกครั้ง

“สำหรับบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีภาวะอ้วน ไม่เคยออกกำลังกายหรือเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอาทิ ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ท่านต้องปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย และก่อนที่จะทำการวิ่งก็จะต้องมีการ Warmup ร่างกายอย่างเพียงพอ ไม่ใช่มาถึงก็โหมวิ่งเลยทันที และที่สำคัญต้องฟังสัญญาณร่างกายของตนเองเพราะหากร่างกายรู้สึกไม่ไหวจะฟ้องเราออกมาทันทีอาทิหากในระหว่างวิ่งมีอาการหน้ามืด เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายให้หยุดวิ่งและรีบปรึกษาแพทย์ทันที”เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)ระบุ

ด้าน นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต ที่ได้เข้าให้การช่วยเหลือนายสรรเสริญที่หมดสติในงานวิ่งครั้งนี้กล่าวว่า เหตุการณ์ในวันนั้น ตนเข้าไปร่วมในการวิ่งมาราธอนด้วย ระหว่างวิ่ง มีเสียงประกาศตามสายว่า ใครเป็นหมอบ้าง ให้มาช่วยทำ CPR เนื่องจากมีคนล้มหมดสติบริเวณก่อนถึงเส้นชัยไม่กี่เมตร ด้วยความเป็นหมอที่เคยร่ำเรียนมา จึงเดินเข้าที่เกิดเหตุ และช่วยทำ CPR ให้ โดยทำการจับ ชีพจร ปั๊มหัวใจ และเตรียมที่จะผายปอดเพื่อทำการกระตุ้น ซึ่งระหว่างนี้รถพยาบาลฉุกเฉิน ก็มาถึงที่เกิดเหตุอย่างทันท่วงที และก็โชคดีที่ลุงคนนี้ก็รู้สึกตัวในที่สุด

“แต่เรื่องนี้ผมไม่อยากให้มองว่า เป็นเรื่องโชคดี ดวงหรือโชคชะตา แต่เกิดจากการเตรียมความพร้อม อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งทีมงาน หน่วยกู้ภัย ทีมแพทย์ที่อยู่ในสนาม ซึ่งทุกคนน่ารักมาก มีการเตรียมตัว เตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี และเรื่องนี้ผมไม่อยากให้มองว่า ผมเป็นฮีโร่ หรือมาเชิดชูอะไรในตัวผม แต่ผมทำตามหน้าที่ในความเป็นหมอ ตามหลักมนุษยธรรมที่ต้องการเชื่อเหลือเพื่อนมนุษย์”หมอล็อต กล่าวและว่าการเรียนรู้เรื่องการ CPR เป็นสิ่งที่ดีเพราะประชาชนทั่วไปก็สามารถฝึกในการทำ CPR ด้วยตนเองได้ เพราะหากเราสามารถทำการ CPR เป็นเราก็จะสามารถช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินคนอื่นๆ ได้

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวด้วยว่า กรณีการวิ่งมาราธอน หรือ การออกกำลังกายในกีฬาชนิดต่างๆ การเตรียมความพร้อมในส่วนของร่างกายถือเป็นสิ่งสำคัญ ทุกครั้งที่มีการออกกำลังกาย สำรวจตัวเองว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ มีการพักผ่อนที่เพียงพอหรือไม่ และเมื่อทำการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการวิ่งมาราธอน ไม่ควรอายที่จะพกยาดม ยาหม่อง ซึ่งแม้เราจะไม่ใช้ ก็จะยังสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมทางที่อยู่ข้างเคียงได้


กรณีการวิ่งมาราธอน ถ้าเป็นไปได้ควรให้มีการยืดหยุ่นเรื่องเวลาเช่น ควรสตาร์ทสัก 7 -8 โมงเช้า เป็นต้น เพราะทุกวันนี้มีการเริ่มสตาร์ทกันที่ ตี 4 ตี 5 ถามว่า ผู้ที่เข้ามาวิ่งมีการพักผ่อนที่เพียงพอหรือไม่ เมื่อเริ่มวิ่งตี 5 พวกเขาต้องตื่นเตรียมตัวก่อนประมาณ ตี 2 ตี 3 ทำให้ผู้มาวิ่งพักผ่อนนอนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผู้เข้าแข่งขันเป็นลมล้มหมดสติ

ขณะที่แพทย์หญิง ณิชยา วัฒนกำธรกุล หรือ หมอฝน แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ ทีมแพทย์ที่ทำการให้ความช่วยเหลือ กล่าวว่า วันเกิดเหตุตนได้ไปวิ่งเหมือนกัน เมื่อมีเสียงประกาศขอทีมแพทย์เพื่อทำการช่วยเหลือจึงเข้าไปที่เกิดเหตุ และพบคุณลุงนอนหมดสติอยู่ จากนั้นจึงช่วยทำ CPR และตรวจชีพจร พบว่าคุณลุงหัวใจหยุดเต้นแล้วประมาณ 5 นาที ระหว่างการทำ CPR ก็มีรถพยาบาลฉุกเฉินเข้ามาพอดี จากนั้นจึงทำการใช้ เครื่อง AED หรือ เครื่องกระตุกหัวใจชนิดไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ มาดำเนินการต่อ แล้วคุณลุงก็รู้สึกตัว

“กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการเตรียมความพร้อมนับเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทีมงาน ทีมแพทย์ในที่เกิดเหตุมีความพร้อมที่ดีมาก ทั้งเรื่องเครื่องมือ รวมไปถึงรถพยาบาลที่สามารถส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ถ้าเป็นไปได้หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ระหว่างที่รถพยาบาลฉุกเฉินจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ อยากให้ทีมงานผู้จัดกิจกรรม ทำการเคลียร์เส้นทาง เพื่อจะนำรถพยาบาลฉุกเฉิน เข้าไปที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด”หมอฝนกล่าว

แพทย์หญิง ณิชยา กล่าวด้วยว่า การวิ่งออกกำลังกาย โดยเฉพาะการวิ่งมาราธอน นับเป็นกีฬาที่ทำให้หัวใจทำงานมากกว่าปกติ การเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ต้องสำรวจตัวเองว่า ก่อนการวิ่งทุกครั้ง ตัวเองมีโรคประจำตัวหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องปรึกษาแพทย์ ก่อนการวิ่งทุกครั้ง เพื่อให้เราได้รู้ว่า ขอบเขตของร่างกายเรามีความพร้อมแค่ไหน

--
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669