'รมว.คมนาคม'แจง'สนช.' ทำรถไฟความเร็วสูง

'รมว.คมนาคม'แจง'สนช.' ทำรถไฟความเร็วสูง

"รมว.คมนาคม" แจง "สนช." ทำรถไฟความเร็วสูง ด้าน สนช. เชื่อเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจระยะยาว แต่ห่วงเรื่องการเวนคืนที่ดินที่ยังไม่ชัดเจน

รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อรับทราบรายงานของครม.ที่ลงมติเห็นชอบโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกทม.-หนองคาย (ระยะที่1 ช่วงกทม.-นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,412 ล้านบาท โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ชี้แจงที่ประชุมสนช.ว่า โครงการดังกล่าวคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ปี 2564 ใช้เวลาเดินทางจาก กทม.-โคราช 1 ชั่วโมง 17นาที ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนส่งผู้โดยสารได้ 5,310 คนต่อวัน ค่าโดยสารราคา 535 บาท เริ่มต้นที่ 80 บาท มีจำนวนรถไฟให้บริการ 11 ขบวนต่อวัน ผลประโยชน์ทางตรงที่เกิดขึ้นจากโครงการคือ การประหยัดเวลาเดินทาง การประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถยนต์ การลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ

ขณะที่ผลประโยชน์ทางอ้อมช่วยให้เกิดการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปยังภูมิภาคอย่างก้าวกระโดด เมื่อโครงข่ายสมบูรณ์ทั้งระบบจะเกิดการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับจีน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เป็นโครงการที่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนและชื่นชมรัฐบาลที่กล้าตัดสินใจดำเนินโครงการดังกล่าว อาทิ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ นายยุทธนา ทัพเจริญ โดยเห็นว่า เป็นโครงการเหมาะสม ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจระยะยาวมหาศาล และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค แต่ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการเวนคืนพื้นที่ก่อสร้าง 2,800 ไร่ ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นพื้นที่ใดบ้าง จะมีการประเมินราคาเวนคืนอย่างไร เรื่องการบำรุงรักษาอนาคตระยะยาว 30 ปี ที่มีตัวเลขการบำรุงรักษาสูงถึง150,000 ล้านบาท ที่ใครจะเป็นผู้จ่ายค่าบำรุงรักษา และรัฐบาลชุดนี้ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าค่าบำรุงรักษาหรือไม่ รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะนำมาก่อสร้าง จะกู้มาจากแหล่งใด เรื่องแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องการเชื่อมเส้นทางไปยังประเทศจีน ซึ่งนายอาคมรับจะนำข้อห่วงใยต่างๆไปพิจารณาดำเนินการต่อไป