“เซตซีโร่ ”ข้าวไทย สู่...สมาร์ท ฟาร์มเมอร์

“เซตซีโร่ ”ข้าวไทย สู่...สมาร์ท ฟาร์มเมอร์

3ปีกับการระบายข้าวค้างสต็อก “18ล้านตัน” เป็น “ศูนย์” ได้เวลา “เซตซีโร่” พ้นบ่วงวิกฤติข้าวไทยตกต่ำถึงขีดสุด ทวงคืนบัลลังก์แชมป์ ปั้น“สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ชาวนาฆ่าไม่ตาย..!

ย้อนรอย บทเรียนราคาแพง จากนโยบายประชานิยม “โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด” เอาใจชาวนามายาวนาน ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ประเมินความเสียหายจากโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ฤดูกาลผลิต 2554/2555 -2556/2557 พบว่า รัฐต้องใช้งบประมาณในโครงการนี้สูงเกือบแสนล้านบาท (985,000 ล้านบาท) ทั้งยังพบว่ามีการขาดทุนทางบัญชี 519,000 ล้านบาท มีต้นทุนความเสียหายทางสังคม 123,000 ล้านบาท มีการทุจริตรวม 111,000 ล้านบท  

คิดสะระตะเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 585,000 ล้านบาท !

ทว่า 3 ปีของการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว (หลังการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์) ได้เปลี่ยนระบบจากการจำนำเป็นการอุดหนุนการผลิต ไปพร้อมกับการเร่งสะสางปัญหาข้าวเก่าค้างสต็อกจากโครงการรับจำนำที่มีมากถึง 17-18 ล้านตัน ส่งผลให้ข้าวในสต็อกทยอยลดลงต่อเนื่อง โดยคนในวงการค้าข้าว คาดการณ์กันว่าข้าวค้างสต็อกจะหมดลงในปีนี้ 

จากนี้จึงเป็นเหมือนการ เซตซีโร่ อุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ “กู้ศักดิ์ศรี”ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ที่พิสูจน์แล้วว่าโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดที่ผ่านมาเป็นการ“อุ้ม”ชาวนาให้ขาดประสิทธิภาพการผลิต 

ถึงเวลาที่ชาวนาไทย จะต้องพลิกสู่การ "Smart Farmer" แม้จะเป็นภาพอุดมคติ แต่อย่างน้อย ก็ได้เริ่มต้น “นับหนึ่ง”  

สำทับด้วยมุมมองของ “เจริญ เหล่าธรรมทัศน์” นายกสมาคมส่งข้าวออกต่างประเทศ สะท้อนสถานการณ์ราคาข้าวในปัจจุบัน ว่า ไทยผ่านพ้นวิกฤติข้าวไทยตกต่ำตันละ 300 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นราคา “ตกต่ำ” ถึงขีดสุดในรอบ 80 ปีมาแล้ว เป็นผลจากการแบกรับสต็อกมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา

ทว่า การทยอยระบายข้าวทั้งแบบจำหน่ายรัฐต่อรัฐ (จูทูจี) ซึ่งคาดว่าจะล้างสต็อกข้าวได้หมดภายในปีนี้ เมื่อสต็อกหมด มีโอกาสที่จะทำให้ราคาข้าวไทยขยับขึ้นถึงตันละ 476 ดอลลาร์สำหรับข้าวขาว และข้าวหอมมะลิราคาตันละ 807 ดอลลาร์  

งานนี้ต้องยกเครดิตให้รัฐที่เอาจริงเอาจังกับการระบายข้าวค้างสต็อก อนุมัติการดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในทุกช่องทาง จากที่ไม่คิดว่าสต็อกข้าวจะหมดภายใน 5 ปี กลับใช้เวลาแค่ 3 ปีเพื่อล้างสต็อกข้าวเก่า

เมื่อสถานการณ์ข้าวเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งความต้องการ (ดีมานด์) และปริมาณผลผลิต (ซัพพลาย) เกมการค้าข้าวในตลาดโลกของไทยในระยะถัดไป จึงไม่ใช่การ “กุมสต็อก” ผ่านโครงการรับจำนำไว้ทั้งหมดเพื่อหวังจะกำหนดราคาขายเองจน รัฐบาลขายข้าวขาดทุนหลายแสนล้านบาทเหมือนช่วงที่ผ่านมา

ยุคต่อไป จึงเป็นเวลาของการ “มองไปข้างหน้า ในการวางแผนยุทธศาสตร์ข้าวระยะยาว 20 ปี เริ่มตั้งแต่ภาคการผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด อย่างเป็นระบบและครบวงจร

เพราะสิ่งที่ไทยจะต้องยอมรับ คือ ไทยไม่สามารถกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกได้ แม้ไทยจะเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลกจากการส่งออกข้าวปีละ 8-10 ล้านตัน เพราะไทยยังมีคู่แข่งสำคัญ อีก 4 ประเทศ คือ อินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ยังไม่รวมปัจจัยอื่นๆ มาเป็นองค์ประกอบดันราคาข้าวตลาดโลกขึ้น-ลง เช่น ปริมาณสต็อกข้าวในตลาดโลก ดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติ เป็นต้น

ข้าวเป็นหนึ่งในพืชผลทางการเกษตร ที่จะต้องวางแผนทั้งระบบ ร่วมกันกับผลผลิตทางการเกษตรอื่น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และน้ำตาล ว่าควรจัดสรรแบ่งโซนการเพาะปลูกอย่างไรให้มีราคาดี ผลผลิตไม่ล้นตลาด

สิ่งสำคัญ คือ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่ควรเปลี่ยนนโยบายกลับไปสู่วังวนปัญหาเดิม

การปฏิรูปประเทศครั้งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ต้องทำต่อเนื่อง และไม่ใช่รัฐบาลใหม่มาก็เปลี่ยน เพราะนโยบายที่ออกมา ไม่ใช่ทำปีเดียวแล้วรู้ผลแต่ต้องทำระยะยาว หากเปลี่ยนก็ต้องต่อยอดให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนมากขึ้นต้องไม่มีการรับจำนำข้าว แต่หากต้องการอุดหนุนชาวนาควรมีการประกันราคาและบริหารจัดการให้ดีไม่ให้มีการสวมสิทธิ์

ด้าน ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองปัญหาปัจจุบันและอนาคตข้าวไทยว่า ปมปัญหาของประเทศที่ผ่านมา เกิดจากโครงการรับจำนำที่ทำให้ไทยติด“กับดัก”ข้าวไทยราคาตกต่ำ ทำให้ต้องเร่งระบายข้าวในสต็อก เมื่อข้าวถูกปล่อยสู่ตลาดมากทำให้ราคาตกต่ำ เป็นจังหวะเดียวกับเกิดการทจริตคอร์รัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อนตลอดห่วงโซ่ผลผลิต

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงเวลาสะสางปัญหาข้าวเก่าค้างสต็อก แต่ยังต้องแก้ไขปัญหาระบบซัพพลายเชนข้าวไทยทั้งยวงอย่างเป็นระบบ

จากนี้ต่อไป ชูเกียรติเห็นสอดคล้องกับ “เจริญ” ว่า ข้าวไทยจะต้องเดินตามแผนยุทธศาสตร์ข้าว ตั้งแต่ ภาคการผลิต การแปรูป เพิ่มมูลค่า ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่จะต้องเดินเกมควบคู่กันกับการทำการตลาด "กู้ภาพลักษณ์ข้าวไทย ในหลายตลาดที่แบนข้าวไทย หรือไม่ซื้อข้าวไทยในช่วงที่มีโครงการรับจำนำ มีการส่งออกข้าวไทยคุณภาพแย่ ก็ต้องทวงคืนตลาดเหล่านี้กลับคืนมา

“มีบางบริษัทในช่วงรับจำนำข้าว เกี่ยวโยงกับการเมือง ได้สิทธิ์ในการส่งออกข้าวไทยไปอิรัก แล้วส่งข้าวคุณภาพแย่มากไปทำให้อิรัก แบนข้าวไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราต้องทวงคืนกลับมา บวกกับตลาดข้าวไทยมีปัญหาค้าสต็อกจึงมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ข้าวไทยไม่ดีนักในสายตาของผู้ค้าข้าวในตลาดโลก” เขาเล่าปัญหาข้าวไทย

สำหรับตลาดข้าวไทยแบ่งเป็น 3 ตลาด ประกอบด้วย 1.ข้าวกินเพื่ออิ่มท้องสัดส่วน 90%ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทยซึ่งเป็นข้าวขาว แข่งขันเรื่องราคาและต้นทุนต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดแอฟริกา บังคลาเทศ อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศยากจน 2.ตลาดข้าวกินให้อร่อย หรือตลาดข้าวพรีเมี่ยม เช่น ข้าวหอม และข้าวบาสมาติ จากอินเดีย สัดส่วน 5-6%ของการส่งออกข้าวไทย เป็นกลุ่มข้าวที่มีราคาสูงขึ้นมาเจาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีกำลังซื้อ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐ และยุโรป และ 3.ตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ แปรรูปนวัตกรรม เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม สัดส่วนประมาณ 4-5%

โดยทั้ง 3 ตลาดนี้ ต้องยอมรับว่าที่มีสัดส่วนมากที่สุดยังเป็นกลุ่มข้าวขาว มีส่วนแบ่งการส่งออกข้าวไทย 90% แม้ตลาดข้าวพรีเมี่ยมและสินค้านวัตกรรมมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเป็นลำดับแต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียง 10%

“สัดส่วนข้าวพรีเมี่ยมมากขึ้น แต่เติบโตระดับที่ไม่เร็วมาก ยังไงก็ยังไม่ใช่ตลาดส่วนใหญ่ที่เป็นข้าวบริโภคเพื่อดำรงชีวิต” ชูเกียรติ เผย

สำหรับข้าวขาวซึ่งส่วนแบ่งตลาดใหญ่ ที่อยู่ในแอฟริกา รัฐบาลก็ส่งออกข้าวไปมากจากการระบายสต็อก โดยเฉพาะแอฟริกาในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปตลาดนี้ถึงปีละ 2 ล้านตัน ในราคาที่ต่ำกว่าเวียดนามทำให้เพิ่มการส่งออกได้

ส่วนตลาดข้าวพรีเมี่ยม ไทยเป็นผู้นำในด้านการกำหนดราคาข้าวหอมมะลิข้าวหอมมะลิ แต่ปัจจุบันราคาเริ่มถูกเวียดนามตีตื้น ซึ่งความแตกต่างระหว่างข้าวหอมไทยและข้าวหอมเวียดนาม ห่างกันเพียง ตันละ 15-20 ดอลลาร์

เราเป็นผู้นำในตลาดข้าว เราจึงขายแพงกว่าคู่แข่งได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเราไม่พัฒนาคู่แข่งก็เริ่มไล่ตามเราทัน สังเกตเรื่องช่องว่างของราคาที่คู่แข่งเริ่มตีตื้นเรามาเรื่อยๆ เราเคยแพงกว่าประมาณ 30-50 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันแพงกว่าเพียง 15-20 ดอลลาร์"

สาเหตุที่ข้าวไทยเริ่มราคาไม่ห่างจากคู่แข่ง “ชูเกียรติ” ระบุว่า เป็นผลมาจากโครงการรับจำนำทำให้ราคาข้าวไทยกระโดดสูงไปมากกว่าคู่แข่ง คู่ค้าและลูกค้าที่เคยซื้อข้าวไทยจึงลองไปซื้อข้าวหอมเวียดนาม และประเทศอื่นๆ ดูโดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นจำหน่ายปริมาณมาก เช่น ในภัตตาคาร โรงพยาบาล และโรงเรียน โดยเฉพาะในตลาดฮ่องกง ไทยเคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวหอม 90% ลดเหลือ 45%ในช่วงที่ประสบปัญหาภาพลักษณ์ข้าวไทยตกต่ำ ทำให้หน่วยงานรัฐและเอกชนเร่งโปรโมทข้าวไทย จนทำให้เพิ่มส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60%

ข้าวไทยแย่ลงในช่วง 2-3 ปี ทั้งภาพลักษณ์และราคาตกต่ำ ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวคู่แข่ง จนเกิดความเคยชิน ภาครัฐและเอกชนต้องผนึกกำลั้งกันต้องเดินสายทำโรดโชว์โปรโมทให้ข้อมูลคู่ค้าเกี่ยวกับข้าวไทย และสร้างความสัมพันธ์อันดับกับคู่ค้า

โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่เริ่มจะมีข้าวหอมจากประเทศใหม่ๆเข้ามาแข่ง โดยเฉพาะกัมพูชา ได้พัฒนาสายพันธุ์มีความหอมมากกว่าข้าวไทย

ช่วงที่มีการรับจำนำเกษตรกรไทยต่างเร่งผลผลิตข้าวใช้สารเคมีและปลูกข้าวถี่ขึ้นเร่งผลผลิตได้มากขึ้น จนทำให้คุณภาพดินและข้าวเสื่อม ความหอมเริ่มลดลงในบางพื้นที่แล้วส่งออกทำให้ข้าวไทยภาพลักษณ์เสียหาย

ในไม่ช้าตลาดข้าวไทยจะมีการแข่งขันสูงขึ้น เพราะผลผลิตในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น จากคู่แข่งที่หันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น พร้อมกันกับพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกข้าวให้เพิ่มผลผลิตสูงขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม นั่นปัจจัยที่ไทยจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับกับเวทีการค้าข้าวในตลาดโลก

การแข่งขันข้าวสูงขึ้นแน่นอน เพราะหลายประเทศหันมาปลุกข้าวมากขึ้นมีเทคโนโลยีดีขึ้น เช่น จีน กำลังวิจัยผลผลิตข้าวเป็นไร่ละ 2 ตัน (2,000 กิโลกรัมต่อไร่) ขณะที่ไทยผลผลิตทำได้เพียงเฉลี่ยไร่ละ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่

กลยุทธ์การทำตลาดข้าวไทย ทั้งรัฐบาล และเอกชนต้องทำงานร่วมกัน และพัฒนาตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผู้ส่งออกเห็นเทรนด์ลูกค้าต้องการข้าวที่เฉพาะมากขึ้น เช่น ข้าวพื้นแข็ง ข้าวหอม หรือ ข้าวที่เฉพาะที่ต้องแบ่งเซ็กเมนท์ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะ

ในอดีตเราขายข้าวขาวอย่างเดียว แต่อนาคตจะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น หรือเป็นตลาดเฉพาะ (Niche) มากขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาด

------------------------ 

ฟื้นองคาพยพข้าวไทย

วางยุทธศาสตร์ 20 ปี

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยังกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทยในระยะยาวว่า ต้องเริ่มต้นกลับมามองทั้ง ซัพพลายเชน ตั้งแต่ภาคการผลิต ภาคการแปรรูป ส่งออก การทำตลาดโลก รวมถึงการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยต่อการผลิตสินค้าเกษตรไทย โดยตัดเรื่องประชานิยมออกไป มองถึงการวางระบบภาคการผลิตให้เข้มแข็งตั้งแต่ เกษตรกรอัจฉริยะ ยกระดับเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ไม่หวังพึ่งกลไกการอุดหนุนจากภาครัฐ แต่มีการพัฒนาปรับปรุงการผลิตด้วยตัวเอง

เช่น มีการส่งเสริมระบบเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ มารวมกลุ่มเพื่อลดต้นทุนและแบ่งปันปัจจัยการผลิต ช่วยกันคิดและหาเครื่องมือเทคโนโลยี นวัตกรรมมาช่วยปลูกข้าวได้ผลผลิตดีและรวดเร็ว คุณภาพสูง โดยมีการบริหารจัดการรวมกันตั้งแต่ผลิต จนถึงมีระบบสหกรณ์ และมีการแปรรูป มูลค่าก็สูงขึ้น โดยที่เกษตรกรมีอำนาจต่อรองกับผู้ค้าข้าว มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ได้มีช่องทางการขายเพียงแห่งเดียวคือโรงสีอย่างที่ผ่านมา

มีการเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการให้ความรู้ ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)เป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มองค์ความรู้ให้ชาวนาไทยได้ก้าวสู่การเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์

นอกจากนี้จะต้องกำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม ข้าวควรเพาะปลูกกี่ไร่ ผลผลิตกี่ไร่ เพื่อจะนำไปสู่การบริหารจัดการ หากบางพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวรัฐควรจัดหาอาชีพทางเลือกทดแทน พร้อมกับชดเชยหากต้องเลิกปลูกข้าว

ที่สำคัญโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ และการขนส่งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หากเทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์ ไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์สูงถึง 20%เพราะการขนส่งข้าว ส่วนใหญ่ยังเป็นใช้ถนน จึงอยากให้มีการวางแผนการขนส่งทางน้ำ เชื่อมกับระบบราง ปรับปรุงท่าเรือรองรับการขนส่งสินค้าปริมาณมาก

ปัจจุบันไทยยังถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านการส่งออกข้าวทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยปีที่ผ่านมาส่งออกข้าว 9.5ล้านตัน มูลค่าส่งออกรวม 1.5 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 10 ล้านตัน มูลค่าเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาท ซึ่งประเมินจากในช่วงราคาข้าวไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาและมีแนวโน้มจะสูงเช่นนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี

ดีมานด์ข้าวในตลาดโลกเข้ามาต่อเนื่อง ข้าวไทยยังโดดเด่นได้ในครึ่งปีหลังของปีนี้

สำหรับปีหน้าไม่สามารถคาดการณ์ได้เพราะยังมีปัจจัยต่างๆมากมายเข้ามา ทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ ปริมาณข้าวในสต็อก ซึ่งปัจจุบันข้าวเก่าไทยหมดสต็อกแล้ว จากที่ส่งออกไปแอฟริกาในปริมาณมากๆ อาจจะถูกประเทศอื่น เข้ามาแย่งตลาด

--------------------------

แท็กติกฮุกหมัดน็อคคู่แข่ง

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปรียบเทียบราคาข้าวว่า มีขึ้นและลงไม่ต่างจากราคาหุ้น จะหวังให้นิ่งไม่เปลี่ยนแปลงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการวางกลยุทธ์การตลาดให้“ถูกจังหวะ”จึงเป็นหมัดฮุกสำคัญ ต้อง หูไวตาไว มองดีมานด์และซัพพลายทั่วโลก นอกจากมองตลาดภายในแล้วยังต้องมองไปถึงคู่แข่ง โดยเฉพาะอินเดีย จีน ตลาดโลก และปัจจัยพื้นฐานทั้งสต็อกข้าว และภัยทางธรรมชาติที่เข้ามากระทบต่อราคาขึ้นๆ ลงๆ

จีนกินข้าววันละ 2.5 แสนตัน 4 วันก็ 1 ล้านตันแล้ว หากมีภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้พืชผลเสียหายก็ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกดีดตัวขึ้นทันที

กลยุทธ์การกอดสต็อกข้าวเพื่อกำหนดราคาไม่ใช่สิ่งที่ไทยจะเป็นกุมตลาดได้ ตรงกันข้าม สิ่งที่จะทำให้ข้าวราคาดีคือ “ยอมขายออกไปให้เร็ว เป็นทางกำจัดซัพพลายให้หายไปจากตลาดให้รวดเร็ว ราคาข้าวก็ขึ้นมาได้เอง เหมือนตลาดหุ้นเข้าเร็วออกเร็ว หวังว่าราคาวันข้างหน้าจะดีขึ้น

“ยิ่งขายมากราคาข้าวยิ่งขึ้น อย่าคิดว่าตั้งราคาสูงไว้ในประเทศเก็บของไว้ในประเทศแล้วราคาข้าวขึ้น การระบายยิ่งมากเท่าไหร่ข้าวยิ่งขึ้นราคา ไม่ใช่เราอยากขายของถูก แต่ตลาดข้าวหอมต้องมองช็อทเทอม(ระยะสั้น) อย่างเช่นเวียดนาม มีการขายล่วงหน้าก่อนเก็บเกี่ยว เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดราคาก็ไม่ตก”

สอดคล้องกันกับกลยุทธ์การตลาดที่ สมเกียรติ มรรคยาธร” เลขาธิการ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย วางกลยุทธ์ข้าวไทยบนเวทีโลกจะต้องแบ่งเซ็กเมนท์ให้ชัด ซึ่งมีข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ ก็ทำตลาดแตกต่างกัน ข้าวขาว ต้องยอมรับว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่ไม่ได้มีความพิเศษแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ จะขึ้นลงจึงเป็นไปตามภาวะราคาตลาดโลก

ดังนั้น ชั้นเชิงการตลาดจึงต้องแบ่งวิธีการที่แตกต่างกัน ข้าวขาวเป็นสินค้าแข่งขันตามปกติเพราะมีปริมาณมากในตลาด ผลผลิตเยอะ จึงต้องมองระยะสั้น รีบขายทำกำไร ขายถูกไว้ก่อน ส่วนข้าวหอมมะลิ มองในระยะยาวที่รอจังหวะราคาดีจึงค่อยขายในตลาด

ข้าวขาวมอง short term ต้องขายล่วงหน้า ส่วนข้าวหอมมะลิม long term ต้องเก็บสต็อกไว้แล้วขายเมื่อมีอจังหวะราคา

เขายังระบุว่า ปัจจัยที่มีผลต่อราคาข้าว 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ หลังรัฐบาลขายสต็อกข้าวหมดแล้ว สต็อกข้าวก็เข้าไปอยู่ในมือเอกชน 2-3 ล้านตัน ซึ่งเป็นหน้าที่เอกชนต้องเร่งระบายส่งออก หรือขายภายในประเทศ ก่อนที่ฤดูกาลข้าวใหม่จะมานิส้นปีอีก 10-12 ล้านตัน

"ต้องยอมรับข้าวขาว แข่งกันที่ราคาถูก และราคาเป็นไปตามกลไกตลาดจึงไม่สามารถขึ้นราคาได้สูงกว่าคู่แข่งมากอย่างที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นไทยจะเสียตลาดให้กับคู่แข่ง สิ่งที่ภาครัฐจะช่วยชาวนาได้ คือการลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนสินเชื่อ ปัจจัยการผลิต ทำนาแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำ จึงจะทำให้ประโยชน์กำไรตกอยู่ในมือชาวนามากขึ้น

ส่วนตลาดข้าวหอม ก็เป็นตลาดพรีเมี่ยมที่ต้องทำแบรนด์โปรโมท สร้างมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย ที่กำหนดมาตรฐานโดยกรมการค้าต่างประเทศ ที่กำหนดมาตรฐานข้าวหอม 3 กลุ่ม เพื่อแข่งขันกับตลาดระดับบน คือ ข้าวหอมมะลิไทย (Thai Hom mali rice) สัดส่วนข้าวหอม 92% ,ตลาดกลาง ซึ่งเป็นข้าวหอมไทย สัดส่วนข้าวหอม 80% เป็น Fighting  brand  (แบรนด์ท้าชน) กับข้าวหอมจากเวียดนาม และกัมพูชา และตลาดล่าง คือ ข้าวหอมที่ซื้อไปผสม

“สำหรับการส่งออกข้าวไทยต้องยอมรับว่าการแข่งขันสูงขึ้นทุกๆ ปี และราคาข้าวไทยเริ่มกำไรลดลงเรื่อยๆ หากเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีปริมาณการส่งออกเฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านบาท ผู้ส่งออกข้าวไทยที่ส่งออกอยู่เพราะรักษาซัพพลายเชนต้นน้ำให้เกิดประโยชน์กับชาวนาไทย รวมถึงพ่อค้าข้าวส่วนใหญ่มีธุรกิจอื่นควบคู่ หากส่งออกข้าวอย่างเดียวมีความเสี่ยง”

เขา ยังบอกด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2554-2556 เป็นต้นมา ข้าวไทยมีสถานะแย่ลงทั้งด้านปริมาณและมูลค่า ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว 3 ปีติดกัน และกลับมาเป็นที่ 1 อีกครั้งในปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งระบายข้าว หลังจากนั้นก็ตกลงมาเป็นอันดับ 2 ในปี 2557-2558 และใน 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกข้าวได้เป็นอันดับ 1 อีกครั้ง ที่ยอดส่งออก 5.5 ล้านตัน 

แต่ในช่วง 6 เดือนที่เหลือไทยจะรักษาอันดับ 1 ได้หรือไม่ ต้องดูสถานการณ์ข้าวในประเทศคู่แข่ง และความต้องการข้าวในตลาดโลก !!