จบคดีค่าโง่ทางด่วน 'กทพ.' ไม่ต้องจ่าย9.6พันล้าน!

จบคดีค่าโง่ทางด่วน 'กทพ.' ไม่ต้องจ่าย9.6พันล้าน!

จบคดีค่าโง่ทางด่วน!! ศาลฎีกาตัดสิน "กทพ." ชนะคดีไม่ต้องจ่ายเงิน 6,039,893,254 บาท ให้ "บีบีซีดี" ศาลชี้ไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติม

เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรณี พนักงานอัยการสำนักงานคดีแพ่ง แก้ต่างสู้คดีให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จนชนะคดีในชั้นศาลฎีกาทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน 9,683 ล้านบาทเศษ กรณีกิจการร่วมค้าบีบีซีดี คู่สัญญาสัมปทานก่อสร้างทางด่วน ยื่นฟ้อง กทพ.สืบเนื่องจากการก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี–บางปะกง เมื่อปี 2538 ว่า ได้รับแจ้งจากนางอัมราวดี ศัลยพงษ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีแพ่งว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาหมายเลขดำที่ 1190/2560 ที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กทพ. เป็นจำเลย ต่อศาลแพ่งที่เป็นศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ 721/2551 เรื่อง มูลลาภมิควรได้ จำนวนทุนทรัพย์ 9,683,686,389.76 บาท โดยศาลฎีกา ได้พิพากษายกฟ้อง เท่ากับ กทพ. จำเลย ชนะคดีไม่ต้องชดใช้เงินตามที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี. ยื่นฟ้องมา

โดยโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ย้อนความเป็นมาของคดีนี้ว่า เมื่อปี 2538 กทพ.จำเลย ได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี–บางปะกง วงเงินตามสัญญา 25,192,950,000 บาท โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และ กทพ.ได้ชำระค่าก่อสร้างตามสัญญาแล้ว แต่ต่อมาปี 2543 กิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ และ บมจ. ช.การช่างได้ให้ กทพ.จำเลย ชำระเงินค่าคงที่ที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาอีกจำนวน 6,039,893,254 บาท แต่ กทพ.ปฏิเสธ
       
ต่อมากิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์คดีนี้ กับ บมจ. ช.การช่าง จึงได้ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ต่อมาวันที่ 20 ก.ย.44 อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้ กทพ.ชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ม.ค.43 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่ง กทพ.ได้ปฏิเสธคำชี้ขาดดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พ.ค.45 กิจการร่วมค้าบีบีซีดี กับบมจ. ช.การช่าง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ให้พิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้พิพากษาให้ฝ่ายกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ชนะคดีและบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของอนุญาตโตตุลาการ โดยพนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ดังกล่าวไปยังศาลฎีกาตามขั้นตอนของกฎหมาย แล้วต่อมาศาลฎีกา จึงมีคำพิพากษาที่ 7277/2549 ให้ กทพ.ชนะคดี ไม่ต้องจ่ายเงินค่าคงที่ที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาอีกจำนวน 6,039,893,254 บาท ให้กับโจทก์ โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างทางด่วนนั้น เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพัน กทพ. หากบังคับคดีให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตฯนั้น ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

โดยหลังจากกิจการร่วมค้าบีบีซีดี แพ้คดีดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 11 ก.พ.51 กิจการร่วมค้าบีบีซีดี ก็ได้ยื่นฟ้อง กทพ. เป็นคดีใหม่ต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 72/2551 ในมูลคดีลาภมิควรได้ทุนทรัพย์ 9,683,686,389.76 บาท โดยศาลแพ่งที่เป็นศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.54 ให้ กทพ.แพ้คดี ให้ชำระเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ก.พ.50 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ และให้ กทพ.ชำระค่าฤชาธรรมเนียมพร้อมค่าทนาย แทนกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์อีกด้วยจำนวน 300,000 บาท ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีแพ่งก็ได้ยื่นอุทธรณ์ให้กับ กทพ. คัดค้านคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าว และต่อมาในวันที่ 27 ธ.ค.56 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับยกฟ้อง โดยกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว กระทั่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนตามศาลอุทธรณ์โดยให้ยกฟ้องคดี

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คำพิพากษาฎีกาที่ให้ กทพ.ชนะคดีดังกล่าว ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยสรุปว่า พฤติการณ์ของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ กับพวกถือได้ว่าโจทก์กับพวกทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างกับ กทพ.จำเลย โดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นผลให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างไม่มีผลผูกพันจำเลยแม้โจทก์กับพวก จะทำงานตามสัญญาจนเสร็จสิ้น และจะส่งมอบโครงการทางด่วน โดยมีราคาคงที่เพิ่มเติมในภายหลังก็ตาม ราคาคงที่เพิ่มเติมดังกล่าวก็ถือว่าโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ตามมาตรา 411

"การที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีแพ่ง เข้าไปแก้ต่างต่อสู้คดีให้กับ กทพ.จนชนะคดีดังกล่าว ถือเป็นการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินในการที่จะรักษาผลประโยชน์ของรัฐ จากการแก้ต่างและสู้จนชนะในชั้นศาลฎีกาเป็นผลทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงิน จำนวน 9,683 ล้านบาทเศษ" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว

สำหรับคดีของ กทพ.กับ บีบีซีดี ในส่วนนี้จึงถือว่าสิ้นสุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว