‘ทรูวิชั่นส์’เสริมทัพ‘ออริจินัลคอนเทนท์’

‘ทรูวิชั่นส์’เสริมทัพ‘ออริจินัลคอนเทนท์’

การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อที่เกิดขึ้นทั้งฟรีทีวี เพย์ทีวี และการขยายตัวของ“โอทีที” จากการเติบโตของประชากรอินเทอร์เน็ต

ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจ “แพลตฟอร์ม”มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ต้องมุ่งสร้างความแตกต่างด้าน“คอนเทนท์” เพื่อตอบโจทย์ผู้ชมแต่ละช่องทาง 

อรรถพล ณ บางช้าง กรรมการผู้จัดการสายรายการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีปัจจุบัน ส่งผลให้มีการขยายตัวของ“มีเดีย” หรือ “แพลตฟอร์ม”หลากหลายช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค ทั้งการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล ที่มีจำนวนช่องมากกว่ายุคทีวีอนาล็อก 4 เท่า การขยายตัวของผู้ให้บริการ Over The Top หรือ OTT ทั้งธุรกิจไทยและแบรนด์ระดับโลก ที่รุกเข้ามาให้บริการในไทย

สถานการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อวันนี้ เรียกได้ว่าผู้ประกอบการทุกรายมี“มีเดีย”เท่ากันหมด เพราะการเข้าถึงไลเซ่นส์ไม่ใช่เรื่องยากเหมือนในยุคอนาล็อก อีกทั้งเทคโนโลยีวันนี้ต้นทุนถูกลง ทำให้การเป็น“เจ้าของ”มีเดียในแต่ละแพลตฟอร์มง่ายขึ้น

“วันนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมาแข่งขันกันที่แพลตฟอร์มหรือมีเดีย เพราะทุกคนเข้าถึงสื่อได้ง่าย แต่วันนี้สนามแข่งขันของแพลตฟอร์มอยู่ที่คอนเทนท์ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ”

ปัจจุบันกลุ่มทรู มีสื่อครบวงจร ทั้งฟรีทีวี เพย์ทีวี โอทีที และโมบาย แพลตฟอร์ม ดังนั้นแนวทางการทำงานของทรูวิชั่นส์ จึงให้ความคัญด้านการผลิต “ออริจินัล คอนเทนท์” ทุกรูปแบบมากขึ้น ทั้งละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกแพลตฟอร์มสื่อในกลุ่มทรู รวมทั้งขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ

ที่ผ่านมาได้เริ่มผลิตคอนเทนท์ในกลุ่ม“ทรูวิชั่นส์ ออริจินัล พิคเจอร์ส” ร่วมกับบริษัทคอนเทนท์ โปรวายเดอร์หลายราย เพื่อนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มสื่อในเครือทรู โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นคนให้ไอเดียการผลิตคอนเทนท์ประเภท รีเมค บทประพันธ์ซีรีส์ เกาหลี ที่ได้รับความนิยม มาสร้างสรรค์ในเวอร์ชั่นไทย 

ทรูวิชั่นส์จึงเริ่มผลิตตั้งแต่ Autumn in my Heart, Coffee Prince, Full House ล่าสุด  Princess Hours  ที่กำลังอยู่ระหว่างออกอากาศ และ My Girl ที่อยู่ในช่วงการผลิต

อรรถพล กล่าวว่าที่ผ่านมา ซีรีส์เกาหลี รีเมค ทุกเรื่องสามารถ ขายลิขสิทธิ์ได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะเอเชีย ที่นิยมดารา นักแสดงจากประเทศไทย  ตัวอย่าง ฟูลเฮ้าส์ ที่ขายลิขสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการในประเทศจีน พบว่ามียอดรับชมกว่า 200 ล้านวิว

จากกระแสความนิยมดังกล่าว จึงปรับรูปแบบการขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ใหม่ โดยเรื่อง Princess Hours ที่กำลังออกอากาศทางฟรีทีวีทรูโฟร์ยู ขณะนี้ โดยแพร่ภาพพร้อมกันในประเทศจีนผ่านเว็บไซต์ v.qq.com ในเครือเทนเซนต์ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ ทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 21.00 น. ซึ่งตรงกับเวลาไทย 20.00 น. เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการเผยแพร่คอนเทนท์ฮอลลีวู้ด และถือเป็นครั้งแรกของผู้ผลิตคอนเทนท์ไทยที่เผยแพร่คอนเทนท์พร้อมกันในตลาดต่างประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์ 

ส่งผลให้ ซีรีส์ Princess Hours ที่ออกอากาศถึงตอนที่13 ยอดวิวในประเทศจีนทำได้แล้วกว่า 300 ล้านวิว คาดว่าจบซีรีส์ 20 ตอน จะมียอดผู้ชมกว่า 500 ล้านวิว

ขณะนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหลายประเทศ เจรจาขายลิขสิทธิ์บรอดแคสต์ไปเผยแพร่หลังจบซีรีส์ในไทย  เช่น ฮ่องกง มาเก๊า มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา บูรไน กัมพูชา

แนวทางการพัฒนา “ออริจินัล คอนเทนท์”ของทรูวิชั่นส์ นอกจากสร้างความแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกสื่อในกลุ่มทรู ทั้งฟรีทีวี เพย์ทีวี และโอทีที True ID 

“ซีรีส์ Princess Hours ถือเป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ว่า Content is King  สามารถเผยแพร่ทุกช่องทางสื่อในกลุ่มทรู อีกทั้งประสบความสำเร็จในจีน จากกลยุทธ์เผยแพร่พร้อมประเทศไทย การที่คอนเทนท์สามารถขายลิขสิทธิ์ได้ในหลายประเทศ จะทำให้มีรายได้และเงินทุนสำหรับการผลิตคอนเทนท์ที่มีคุณภาพมากขึ้น”

นอกจากนี้ ทรูวิชั่นส์ ออริจินัล พิคเจอร์ส  ยังเป็นผู้ผลิตเป็นภาพยนตร์ปีละ 5-6 เรื่อง สำหรับเข้าโรงฉายปกติ จากนั้น 3 เดือนจะนำมาออกอากาศที่ทรูวิชั่นส์ และนำไปออกอากาศที่ฟรีทีวีทรูโฟร์ยู

แม้จุดเริ่มต้นการผลิตคอนเทนท์ คือ เพื่อรองรับตลาดในประเทศ แต่หากสามารถยกระดับคุณภาพการผลิต เพื่อโอกาสขยายตลาดส่งออก น่าจะเป็นอีกโจทย์สำคัญในการพัฒนาคอนเทนท์ของผู้ผลิตไทย ให้ก้าวไปอีกขั้นสู่การทำตลาดระดับโลกในยุคนี้