วว.4.0’ย้ำจุดยืนผู้นำวิทย์อาเซียน

วว.4.0’ย้ำจุดยืนผู้นำวิทย์อาเซียน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ปีที่ 54 มุ่งสู่โมเดลวิจัย-บริการเชิงรุกตอบโจทย์ผู้ประกอบการครบวงจรควบคู่การสนับสนุนฟู้ดอินโนโพลิส

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ปีที่ 54 มุ่งสู่โมเดลวิจัย-บริการเชิงรุกตอบโจทย์ผู้ประกอบการครบวงจรควบคู่การสนับสนุนฟู้ดอินโนโพลิส ล่าสุดเตรียมจัดประชุมวิชาการนานาชาติพร้อมโชว์ 7 ผลงานวิจัยใหม่บนฐานความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศ

ผลิตภัณฑ์บรรเทาพาร์กินสันในผู้สูงอายุจากพืชสกุลเสาวรส ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบต้ากลูแคนจากเห็ด เครื่องดื่มฟังก์ชันนัลจากเห็ดพื้นเมืองอีสาน เวชสำอางกระชับผิวจากสมุนไพรตังกุย สำอางนาโนเอสเซ้นท์เซรั่มจากสารสกัดเมล็ดองุ่นไทย ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว และแอพฯ ประเมินพื้นที่ปลูกข้าว

 

เส้นทางสู่ไทยแลนด์ 4.0

 

นางสาวลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวถึงแนวทางการให้บริการงานวิจัยในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 54 ปี ว่า วว.จะทำงานวิจัยเชิงรุกให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ วว.4.0 หรือ TISTR 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อผลักดันให้ก้าวสู่องค์กรชั้นนำระดับอาเซียนด้านวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมด้านเกษตร อาหาร สมุนไพร และศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายน้ำด้วยการใช้ วทน. ช่วยเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุน

 

รวมถึงการใช้กลไกต่างๆ ของภาครัฐ เช่น คูปองนวัตกรรม ไอแทป STIM และคูปองวิทย์เพื่อโอทอป ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการด้านแหล่งทุน การจัดทำรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมตลอดจนการสร้างและขยายตลาดของสินค้าด้วยกลไก TISTR & Friends เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนด้านงานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งดำเนินงานโดยตรงด้านวิจัย พัฒนาบริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และกลุ่มหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ทั้งในลักษณะรายอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่

 

ล่าสุดได้นำเสนอ 7 ผลงานวิจัยใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการจากโรคพาร์กินสันในผู้สูงอายุจากกะทกรกพืชสกุลเสาวรส สามารถเพิ่มระดับสารสื่อประสาทโดปามีนและลดระดับเอนไซม์ MAO-B ในสมองหนูทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับยามาตรฐานที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน, เวชสำอางกระชับผิวจากสมุนไพรตังกุยที่มีสารสำคัญคือ ไลกัสติไล และกรดเฟอร์รูลิก พัฒนาสูตรโดยใช้เทคนิคอนุภาคนาโน มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน, เวชสำอางนาโนเอสเซ้นท์เซรั่มวิทิสตราจากสารสกัดเมล็ดองุ่นไทย สามารถซึมลงใต้ผิวหนังและออกฤทธิ์กระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสต์ ให้ผลิตคอลาเจนมากขึ้นถึง 70% และกระตุ้นการสร้างอีลาสตินเพิ่มขึ้น 15%, ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว และโปรแกรมการคำนวณปุ๋ยอินทรีย์เคมีสั่งตัด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตข้าว สนับสนุนการวางแผนการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อการปลูกข้าว โดยประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ประเมินความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่เป้าหมาย

 

จากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก

นอกจากนี้ วว. กำหนดจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ TISTR's From Local to Global International Forum : Food Industry 4.0 วันที่ 12-13 มิ.ย.นี้ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว นำเสนอผลงานวิจัยทางด้านอาหารและงานบริการที่รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และขับเคลื่อนฟูดอินโนโพลิส ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์รวมถึงการผลิตในเชิงพาณิชย์ ภายในงานยังมีนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี บริการอุตสาหกรรมของเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชนทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ การให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ตลอดจนการจับคู่ธุรกิจด้านอาหารพร้อมทั้งผลงานวิจัยและพัฒนาใหม่ซึ่งมีศักยภาพพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เชิงพาณิชย์

"ในแต่ละปี วว.จะมีผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ประมาณ 40 ชิ้น ซึ่งจะคัดผลงานเด่นออกมาโชว์ให้กับผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศที่เข้ามาร่วมงาน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อได้มีมุมมองในการนำไปต่อยอดธุรกิจ และสร้างเครือข่ายพันธมิตรในอนาคต พร้อมกับการนำเสนอนวัตกรรมจากโลคอลสู่โกบอลอีกด้วย” ผู้ว่าการ วว.กล่าว