ททท.ดัน“ท่องเที่ยว4.0”เคลื่อนเศรษฐกิจ

ททท.ดัน“ท่องเที่ยว4.0”เคลื่อนเศรษฐกิจ

เมื่อรัฐบาลวางแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ“ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้สูง

ส่งผลให้เครื่องจักรสำคัญ“ท่องเที่ยว”ซึ่งสร้างรายได้สัดส่วนราว 20.6% (จากการเปิดเผยของสภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก หรือ ดับเบิลยูทีทีซี) ต้องเร่งวางกลยุทธ์ปรับทัพรับการเปลี่ยนแปลง

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ท่องเที่ยว จัดเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ 4.0 ที่สุดในแง่การสร้างรายได้สูงแต่สามารถกระจายตัวได้ แต่ในมิติที่สำคัญกว่าคือ แม้จะช่วยเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงรักษาจุดเด่นของประเทศด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อัตลักษณ์ความเป็นไทย ตลอดจนให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติไว้ได้ หากมีการเตรียมวางแผนเชิงโครงสร้างรับมือ“การเติบโต” ไว้ตั้งแต่วันนี้

เนื่องจากการคาดการณ์ของ องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านการท่องเที่ยว (Tourism Landscape) จะปรากฏชัดในปี 2563 ที่จะมีนักเดินทางทั่วโลกกว่า 1,600 ล้านคน เคลื่อนมาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 416 ล้านคน หรือครองสัดส่วน 1 ใน 4 โดยที่มี“ไทย” เป็นผู้เล่นสำคัญ เพราะหากรักษาอันดับการเติบโตได้เท่ากับเอเชียแปซิฟิกที่ 6.5%ต่อปีไปได้ต่อเนื่อง ในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวจะสูงถึง 41.5 ล้านคน แต่หากยังรักษาการเติบโตเท่ากับอดีตที่ผ่านมาของตัวเองคือ 15%ต่อปี จะมีจำนวนก้าวกระโดดไปแตะ71 ล้านคน หรือเป็นครั้งแรกที่มีชาวต่างชาติ“เท่ากับจำนวนประชากรในประเทศ”

ดังนั้น ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงวางเกณฑ์การชี้วัดช่วง 5 ปีแรกว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท ในขณะที่อันดับความสามารถในการแข่งขันที่พิจารณาจาก Travel & Tourism Competitiveness Index (TTCI) จะต้องไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 25 ของโลก ปรับขึ้นจากในปี 2560 ที่ไทยรั้งอันดับ 34 ของโลก ซึ่งทั้งหมดจะต้องขับเคลื่อนด้วยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ ประสานด้วยความร่วมมือรัฐ-เอกชนในนามคณะทำงานสานพลังประชารัฐ มาสร้างStrength from Within หรือความเข้มแข็งจากภายใน หรือระดับท้องถิ่น ก่อนผงาดไปเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจระดับโลก ด้วยการตั้งอยู่พื้นฐานจุดแข็งวัฒนธรรมการให้บริการ ความหลากหลายเชิงชีวภาพและวัฒนธรรมที่เป็นคุณค่าดั้งเดิม

“การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา และการต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน จุดอ่อนคือมีความอ่อนไหวสูงต่อผลกระทบตลอดเวลา เช่น ภัยธรรมธรรมชาติ การเมือง และเศรษฐกิจผันผวน ซึ่งแม้ที่ผ่านมาไทยสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ความท้าทายคือ ด้วยอัตราการขยายดังกล่าว จึงต้องเตรียมพร้อมด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”

การปรับตัวในแนวทางท่องเที่ยว 4.0 ยังมีบริบทสอดรับกับเป้าหมายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals(SDGs) ที่ส่งเสริมให้ทั่วโลกพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมุ่งสู่คุณค่าสูงและสร้างผลกระทบทางลบต่ำในอนาคตด้วย

สำหรับกลไกที่ ททท.จะมุ่งไปสู่ยุค 4.0 จากนี้จะมุ่งสู่ 5 เรื่องหลัก คือ 1.การบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2. สร้างปัจจัยแวดล้อมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว 3.การตลาดสมัยใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 4.การสร้างวิสาหกิจและสตาร์ทอัพด้านท่องเที่ยว บนพื้นฐานของนวัตกรรม และ 5.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ กับหน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในทุกส่วนของห่วงโซ่คุณค่าด้านท่องเที่ยว

ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ในการสร้างความยั่งยืนที่เป็นกลไกแรก จะสร้างให้สำเร็จด้วยการเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ที่เคยมองใน 4 เรื่องเดิมสู่มิติใหม่ คือ จากการมองท่องเที่ยวเป็นสินค้า (Product) ต้องปรับสู่การให้ คุณค่าแหล่งท่องเที่ยว (Place) จากการสร้างสัญลักษณ์ (Brand) เปลี่ยนสู่การสร้างอัตลักษณ์ (Identity) แทน เช่นเดียวกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจเดิมที่มุ่งแต่ กำไร (Profit) ก็จะเคลื่อนสู่การนำสิ่งที่ดีกลับคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม (Purpose) ซึ่งหมายความว่าจะต้องเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญแต่ ราคา (Price) ไปมองที่ คุณค่า (Value) รวมถึงการเปลี่ยนจากเป้าหมายเชิงปริมาณนักท่องเที่ยว (Volume) ไปสู่การสร้างผลประโยชน์องค์รวม (Net Benefit) แทน

ส่วนการสร้างปัจจัยแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานนั้น เน้น“ความคิดสร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นึกถึงความสมดุลกับขีดความสามารถในการรองรับ ด้วยการทำงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และกระแสความต้องการตลาดโลก เช่น เชิงสุขภาพ, เชิงนิเวศ, เชิงศึกษาเรียนรู้ ฯลฯ รวมถึงดำเนินกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ที่เจาะลึกถึงตลาดใหม่ที่มีศักยภาพได้ 2. การสร้างเครือข่ายธุรกิจรายภูมิภาค ให้มีเมืองและชุมชนศูนย์กลางในภูมิภาคที่สำคัญ เพื่อเป็นจุดรับและกระจายให้ถึงระดับท้องถิ่น เพื่อร่วมรับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว พร้อมกับเปิดโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เมืองชายแดนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านท่องเที่ยวด้วย และ 3.บูรณาการกับทุกหน่วยงานเพื่อขจัดจุดอ่อนที่เป็นข้อจำกัดอยู่หลายด้าน เช่น สาธารณูปโภค, ความพร้อมด้านบุคลากร, สุขอนามัย, การจราจร, ความปลอดภัย เพื่อจะได้สร้างโอกาสและแรงจูงใจในการพัฒนาการค้าและการลงทุนด้านท่องเที่ยวมากขึ้น

ด้านการตลาดสมัยใหม่ ทำให้การทำงานต้องปรับให้ทันเทคโนโลยีและประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข่าวสารที่ทันสมัยและรวดเร็วมาก และทำให้การรับรู้เป็นไปอย่างสมบูรณ์มากขึ้นทั้งภาพและเสียง ดังนั้นจึงต้องฉกฉวยข้อนี้มามุ่งเป้าเรื่องการเพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว เน้นเจาะตลาดมีศักยภาพสูง สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทำให้เห็นคุณค่าและเอกลักษณ์วิถีไทยที่แตกต่าง และแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งต่อไปจะต้องทำตลาดแบบผสมผสานทั้งเชิงภูมิประเทศ (Geographic) หรือตามโปรไฟล์นักท่องเที่ยว (Demograhic) ที่มีอายุ เพศ รายได้ ต่างกันไป หรือแบ่งตามความสนใจชื่นชอบ (Acitivity/Behaviour )เพื่อทำให้เกิดการสื่อสาร “ตรงจุด”ไปที่ความต้องการเฉพาะแต่ละกลุ่ม กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจเดินทางฉับไวทันทีด้วยการใช้เทคโนโลยีสร้างการรับรู้ผ่านสังคมออนไลน์ และนิวมีเดียต่างๆ

รวมถึงการให้ความสำคัญกับ การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มีแม้จะมีจำนวนน้อย แต่สร้างรายได้สูงได้ ด้วยการสนับสนุนให้เอกชนและชุมชนในพื้นที่ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของตัวเองขึ้นมาตอบสนอง และหันมองไปรอบข้างไปยังเพื่อนบ้าน สร้างการท่องเที่ยวแบบCollaborative Tourismหรือการทำตลาดแบบเกื้อกูล กระชับความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนด้านท่องเที่ยว เพื่อรักษาฐานตลาดเดิมและแสวงหาฐานตลาดใหม่ แทนที่จะแย่งชิงแข่งขันลูกค้ากันเอง

สุดท้ายคือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือนั้น จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการสร้างสรรค์ต่อยอดสิ่งที่ท้องถิ่นมีอยู่ เพื่อให้น่าสนใจเพิ่มขึ้น เช่น ติดไฟส่องสว่างโบราณสถาน, อาคารที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม เป็นต้น รวมถึงขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษามาร่วมคิดร่วมสร้าง ภายใต้หลักการต้องกระจายประโยชน์จากท่องเที่ยวคืนสู่ท้องถิ่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน

นอกจากการถาโถมเชิงปริมาณแล้ว ยังต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร ที่ทำให้เกิดความซับซ้อนในการรับมือทำการตลาด เพราะแม้ว่าจะเข้าสู่“สังคมผู้สูงอายุ” ที่คาดว่าในปี 2573 จะมีกลุ่มนี้สูงถึง 17% ของประชากรทั้งหมดแต่ความท้าทายคือ ในเชิงพฤติกรรมจะไร้เส้นแบ่งทางอายุ (Age Blurring) มากขึ้น เมื่อเด็กหรือวัยรุ่นจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเด็ก ส่วนคนสูงอายุยังไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ ยังมีความกระฉับกระเฉงพร้อมเดินทาง รวมถึงกระแส Travelism ในกลุ่มท่องเที่ยวหน้าใหม่ในระดับชนชั้นกลางในเมือง ที่กลับต้องการแสวงหาประสบการณ์ในชนบท ชอบการออกแบบท่องเที่ยวเองและมีความเป็นปัจเจกสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดกระแสเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (Sharing Economy) เช่น แอร์บีแอนด์บี เติบโตอย่างมากในทุกวันนี้