‘กุ้งโอเมก้า’เหนือระดับกุ้งกุลาดำ

‘กุ้งโอเมก้า’เหนือระดับกุ้งกุลาดำ

สวทช.เสริมแกร่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำด้วยวิทยาศาสตร์ จับมือ “ภูเก็ตกรีนชริมป์” วิจัยจุลินทรีย์ทะเลโอเมก้าสูงเป็นวัตถุดิบเสริมอาหาร เพิ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้กุ้งกุลาดำมีดีเอชเอและอีพีเอสูง ตอบเทรนด์ผู้บริโภครักสุขภาพ

“ปกติเราลงพื้นที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรกลุ่มคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำอยู่แล้ว เพื่อทดสอบสายพันธุ์กุ้งที่พัฒนาขึ้น ระหว่างช่วงรอผลก็มีโอกาสพบกับภูเก็ตกรีนชริมป์ ที่ต้องการพัฒนาตนเองไปอีกขั้นโดยพัฒนากุ้งกุลาดำคุณภาพดีเพื่อผู้บริโภคไทย” นุชจรี พิสมัย นักวิชาการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) กล่าว

เพิ่มมูลค่าด้วยโอเมก้า

ภูเก็ตกรีนชริมป์ของกลุ่มไอทีฟาร์ม โดยนายศักดิ์สหกรณ์ คงสมุทร เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำปลอดสารเคมี (BioShrimp) ในพังงาและภูเก็ต อยากสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจาก “กุ้งเป็น” ทั้งนี้ กุ้งกุลาดำเป็นกุ้งสายพันธุ์พื้นถิ่น มีขนาดใหญ่ รสชาติดีและสีสวย มีตลาดเฉพาะและเป็นสินค้าพรีเมียมส่งออกในลักษณะกุ้งเป็นไปยังตลาดจีนมากกว่าบริโภคในประเทศ

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโอเมก้า นอกจากเป็นอาหารเสริมให้กับมนุษย์แล้ว ยังใช้เป็นอาหารเสริมในสัตว์ เช่น ปลาแซลมอนหรือไก่ไข่ เพื่อเพิ่มการสะสมโอเมก้าในเนื้อปลาและไข่ไก่ เพิ่มคุณค่า สร้างมูลค่าในท้องตลาด

นุชจรี มองว่า กุ้งกุลาดำก็สามารถทำได้ หลังจากค้นพบว่า ราทะเลหรือจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งมีการสร้างและสะสมกรดไขมันโอเมก้าดีเอชเอในปริมาณสูง นักวิจัยไบโอเทคสามารถคัดแยกราทะเลชนิดดังกล่าวจากแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมพัฒนากระบวนการเลี้ยงให้เลี้ยงได้ง่าย และมีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง

“เราเคยทำงานวิจัยก่อนหน้านั้น ด้วยโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยในด้านพัฒนาการสัตว์วัยอ่อน จึงนำไปทดสอบในกุ้งเล็ก ซึ่งเป็นลูกกุ้งที่เพิ่งฟัก พบว่าอัตราการรอดสูงขึ้น จึงต่อยอดวิจัยในกุ้งใหญ่วัย 2-3 เดือน อัตราการรอดก็มากขึ้นเช่นกัน จากนั้นเก็บเนื้อกุ้งมาวิเคราะห์พบว่า มีโอเมก้าเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด”

เมื่อเห็นความเป็นไปได้ จึงร่วมกับไอทีฟาร์ม (ภูเก็ตกรีนชริมป์) ทดสอบเคลือบบนอาหารเม็ด อัตราราทะเล 5 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 40 วัน พบว่ามีผลทำให้สัดส่วนของดีเอชเอและอีพีเอเพิ่มมากกว่ากุ้งที่กินอาหารปกติ โดยกุ้งขนาด 20 ตัวต่อกิโลกรัมนั้นจะมีโอเมก้าราว 2 กรัมต่อตัว ซึ่งเป็นปริมาณสูงเมื่อเทียบกับไข่ไก่โอเมก้าที่มีโอเมก้า 200 มิลลิกรัมต่อฟอง หรือปลากระพงที่ต้องกินถึง 500 กรัมจึงจะได้โอเมก้า 2 กรัม

เปิดตลาดคนรักสุขภาพ

ปัจจุบัน ทีมวิจัยยังคงพัฒนาต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะได้สูตรแล้วคือ การผสมราทะเล 5 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม จำนวน 2 ใน 5 มื้อโดยให้ในช่วง 1 เดือนก่อนจับขาย ส่วนต้นทุนที่เกษตรกรต้องรับภาระนั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อาจต้องแบกรับในระยะยาว จึงได้วิจัยต่อยอดโดยทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อหาสูตรเหมาะสมที่จะทำให้กุ้งมีโอเมก้าสูงที่สุดในระยะเวลาสั้นที่สุดเพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน

นักวิจัย กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของภูเก็ตกรีนชริมป์ ได้เริ่มทำตลาดกุ้งโอเมก้าล็อตแรกแล้ว โดยมุ่งเน้นสร้างสตอรี่ของตัวสินค้าให้เป็นที่รู้จัก สนใจ เข้าใจและเลือกซื้อกุ้งกุลาดำมากขึ้น โดยไม่ได้เพิ่มราคาขายจากเดิม

“กุ้งโอเมก้าเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับเกษตรกรที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ นอกจากจะเพิ่มมูลค่าให้กุ้งแล้วยังช่วยปรับภาพจำของกุ้ง ที่คิดว่ามีคลอเรสเตอรอลสูง แต่แท้จริงแล้ว กุ้งมีไขมันดีมากกว่าไขมันเสีย ยิ่งมีโอเมก้าสูงด้วยก็จะเพิ่มความน่าสนใจ”

นุชจรี กล่าวอีกว่า เกษตรกรสนใจที่จะเพิ่มโอเมก้าให้กับกุ้ง สามารถติดต่อ สวทช. เพื่อรับตัวอย่างราทะเลสายพันธุ์ที่ไบโอเทคมีอยู่ และอาจนำไปสู่การวิจัยหรือคำนวณต้นทุนเพื่อผลิตราทะเลให้กับผู้ที่สนใจได้ อย่างไรก็ดี หากต้องการใช้ทันทีก็มีราทะเลสายพันธุ์ที่จำหน่ายอยู่แล้วในตลาด

กุ้งกุลาดำตามธรรมชาติจะกินสาหร่ายทะเลที่มีโอเมก้าสูง แม้จะไม่มีการวิเคราะห์ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ แต่ด้วยราคาของกุ้งกุลาดำธรรมชาตินั้นสูงจนหลายคนไม่สามารถซื้อได้ ในขณะที่กุ้งเลี้ยงมีโอเมก้าน้อยเพราะกินอาหารเม็ด ดังนั้น การเพิ่มมูลค่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จนเกิดเป็น “กุ้งโอเมก้า” ก็ช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างจุดเด่นในตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก