โบอิ้งชูโลว์คอสต์ดันยอดใช้เครื่องบินอาเซียนพุ่ง

โบอิ้งชูโลว์คอสต์ดันยอดใช้เครื่องบินอาเซียนพุ่ง

โบอิ้งเผยคาดการณ์ธุรกิจโลว์คอสต์ดันการบินอาเซียนบูม ผงาดยึดส่วนแบ่งตลาด 25% ชี้อีก 20 ปีความต้องการเครื่องบินใหม่เพิ่มกว่า 3,860 ลำ เปิดกลยุทธ์การพัฒนาโปรดักต์หลากหลายบี้แอร์บัสคู่แข่งหลัก

นายแรนดี้ ทินเซ็ธ รองประธานฝ่ายการตลาด โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน กล่าวว่า คาดการณ์ความต้องการเครื่องบินพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ในอีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2578) จะมีจำนวนกว่า 3,860 ลำ ครองส่วนแบ่งราว 25% เทียบกับในเอเชียทั้งหมด 1.5 หมื่นลำ และคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5.65 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 1.94 หมื่นล้านบาท) โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ การขยายตัวของสายการบินโลว์คอสต์ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั้งภูมิภาค ส่งผลให้มีความต้องการสั่งซื้อเคื่องบินแบบทางเดินเดียวคิดเป็นกว่า 77% ของจำนวนเครื่องบินทั้งหมด รองลงมาได้แก่เครื่องบินขนาดเล็กแบบลำตัวกว้าง (Small wide-body) คิดเป็น 15% และเครื่องบินขนาดกลางแบบลำตัวกว้าง (Medium wide body) 6%

ทั้งนี้ แนวการเติบโตเห็นได้จากส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจโลว์คอสต์ในเอเชียเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในปี 2549 มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 5% แต่ในปี 2559 เพิ่มเป็น 20% แต่หากเจาะลึกเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีส่วนแบ่งถึง 25% โดยในขณะนี้มีลูกค้าประจำภูมิภาคที่สั่งเครื่องบินจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ไลอ้อน กรุ๊ป ที่มีสายการบินเครือข่ายทั้งในอินโดนีเซีย, ไทย และเวียดนาม

นอกจากนั้น จากการคาดการณ์ระยะ 20 ปีดังกล่าว พบด้วยว่านอกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว จีนถือเป็นประเทศที่ครองส่วนแบ่งในเอเชียมากที่สุดกว่า 40% ขณะที่ภาพรวมระดับโลกมีภูมิภาคที่ต้องการเครื่องบินมากที่สุด นอกจากเอเชีย ที่เป็นอันดับ1 ในจำนวนความต้องการกว่า 1.5 หมื่นลำแล้ว รองลงมา ได้แก่ อเมริกาเหนือ 8,330 ลำ, ยุโรป 7,570 ลำ, ตะวันออกกลาง 3,310 ลำ, ละตินอเมริกา 2,960 ลำ, กลุ่มประเทศซีไอเอส 1,170 และแอฟริกา 1,150 ลำ รวมทั้งสิ้นเป็น 3.96 หมื่นลำทั่วโลก หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 204 ล้านล้านบาท

นายแรนดี้ กล่าวว่า ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดของสายการพาณิชย์ทั่วโลก 50% เท่ากับแอร์บัสซึ่งเป็นคู่แข่ง นับตั้งแต่ปี 2554-2559 มีการส่งมอบเครื่องบินไปแล้วกว่า 3,959 ลำ โดยในปีที่ผ่านมาส่งมอบ 748 ลำ ลดลงไปเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ส่งมอบไป 762 ลำ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่การนำเสนอเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาศักยภาพ แต่ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นการเติบโตขึ้นในปีนี้ระหว่างการประชุมประเมินผลการส่งมอบที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งการตลาดของเครื่องบินประเภทลำตัวกว้างขนาดกลางของโบอิ้งมีสูงถึง 60% เหนือคู่แข่ง เนื่องจากมีการวางกลยุทธ์พัฒนาเครื่องบินมีขนาดที่แตกต่างกัน 5 แบบ ทำให้มีเครื่องบินซึ่งมีสมรรถะหลากหลายและครอบคลุมทุกรูปแบบการใช้งานมากกว่า โดยที่ผ่านมาเครื่องบินในตระกูล 787 ในกลุ่มนี้ ทำให้สายการบินสามารถเปิดเส้นทางบินตรงใหม่ได้ถึง 140 เส้นทาง และที่ผ่านมามีการสั่งซื้อเครื่องบินในตระกูลนี้ไปแล้วกว่า 1,211 ลำจากลูกค้า 64 ราย ทำการส่งมอบไปแล้วกว่า 532 ลำ

ขณะที่ยอดการผลิตเครื่องบินเพื่อรอการส่งมอบของโบอิ้งในปัจจุบันอยู่ที่ 5,715 ลำ โดยแบ่งเป็นเครื่องบินทางเดินเดี่ยวมากที่สุด 50% ซึ่งอยู่ในตระกูล 737 ตามมาด้วยขนาดกลางตระกูล 787 ในสัดส่วนกว่า 49%

นายแรนดี้ กล่าวด้วยว่า โบอิ้งยังอยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการร่วมมือกับพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน เช่น การตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักบิน, การพัฒนาด้านวิศวกรรมการบิน, การซ่อมบำรุง เพื่อรองรับการใช้เครื่องบินในตระกูล 787 และ 777 ซึ่งเบื้องต้นจะใช้โครงสร้างพื้นฐานจากที่การบินไทยมีอยู่แล้ว ส่วนการจะตอบรับเข้าร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลไทยจะส่งเสริมให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฮับการบินแห่งใหม่หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ แต่ยืนยันว่าโบอิ้งให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย เพื่อช่วยดูแลคุณภาพมาตรฐานอากาศยานให้กับสายการบินที่เป็นลูกค้าเสมอ

ส่วนนโยบายการปกป้องการค้าในประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะมีผลต่อธุรกิจอย่างไรนั้น ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน แต่ยืนยันว่าโบอิ้งได้รับการสนับสนุนที่ดีจากประธานาธิบดีมาโดยตลอด