ชี้ 'ประยุทธ์' ไม่เข้าใจเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ชี้ 'ประยุทธ์' ไม่เข้าใจเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

"ธีระชัย-รสนา-ปานเทพ" กลุ่มคปพ.ชี้ "ประยุทธ์" ไม่เข้าใจเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ พร้อมยื่นหนังสือคัดค้าที่สภาพรุ่งนี้

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลาฯ แยกคอกวัว เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดยนายธีระชัย ภูวนาทนรานุบาล น.ส.รสนา โตสิตระกูล ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แถลงกรณีการพาดพิงของนายกรัฐมนตรีต่อภาคประชาชน และเรื่องนายกรัฐมนตรีติดหลุมพรางกับดักของกลุ่มทุนพลังงาน

โดยนายปานเทพ กล่าวว่า ตามที่นายกฯให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนพาดพิงกลุ่ม คปพ. กดดันตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และเตรียมนำม็อบมาล้อมทำเนียบหรือรัฐสภานั้น พวกเราเห็นว่านายกฯกำลังไม่เข้าใจและเข้าใจผิดอยู่หลายเรื่อง

ทั้งนี้ การตั้งบรรษัทน้ำมันไม่ใช่เพราะ คปพ. กดดัน แต่เกิดขึ้นจากรายผลการศึกษาของคณะกรรมมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นรายงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า จำเป็นต้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ภาคประชาชนไม่รับกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่มีการกำหนดระยะเวลาการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อรับโอนทรัพย์สินปิโตรเลียมในแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณที่ใกล้หมดสัญญาสัมปทาน มีมูลค่า 2 แสนล้านบาทต่อปี จึงต้องตั้งองค์กรของรัฐเพื่อรับโอนทรัพย์สินก่อนการประมูลรอบต่อไป หากไม่ทันจะทำให้ชาติสูญเสียอธิปไตยเหนือแหล่งปิโตรเลียมหลายสิบปี

รวมถึงไม่ระบุว่าจะมีการประมูลผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดต่อรัฐ ไม่มีการแก้ไขผลการศึกษาของ สนช. เช่น การเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจ ลดหย่อนค่าภาคหลวง ภาษี ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษได้อย่างกว้างขวาง ไม่มีราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้าง และยังไม่มีบทบัญญัติในการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทางกลุ่ม คปพ. จะเดินทางยื่นหนังสือคัดค้านกฎหมายดังกล่าว ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 08.00 น.

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า คปพ.ขอชี้แจงเหตุผลต่อนายกฯที่ประเทศไทยต้องมีบรรษัทน้ำมัน ว่า หน้าหน้าที่ของบรรษัทน้ำมัน คือ รับโอนทรัพย์สินจากทุกแหล่งที่หมดสัญญาสัมปทาน รับโอนระบบท่อก๊าซเพื่อหยุดการผูกขาด เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง และขายปิโตรเลียมตามสิทธิ์ที่รัฐได้จากระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิต แต่การจะใช้ ปตท. ทำหน้าที่แทนบรรษัทนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเอกชนและต่างชาติถือหุ้นเกือบครึ่ง หรือจะใช้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ไม่คล่องตัว เพราะติดระเบียบราชการ

ทั้งนี้บรรษัทน้ำมันควรมีทุกภาคส่วนเข้ามาจัดการ ต้องรวมถึงฝ่ายทหารด้วย การที่มีทหารเข้ามาร่วมดูแลด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ เพราะน้ำมันถือเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญของชาติ แต่ไม่ใช่ให้ทหารเป็นหลัก ควรต้องมีองค์ประกอบที่หลากหลายเพื่อการถ่วงดุลอำนาจ ส่วนการตรวจสอบควรต้องมี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง) ผู้ตรวจการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และภาคประชาชน เข้ามาร่วมด้วย “อยากให้นายกเห็นประโยชน์ของประชาชนมากกว่ากลุ่มทุน” นายปานเทพกล่าว