'รมว.อุตสาหกรรม' โต้ 'อาลีบาบา' ย้ายลงทุนมาเลย์

'รมว.อุตสาหกรรม' โต้ 'อาลีบาบา' ย้ายลงทุนมาเลย์

"รมว.อุตสาหกรรม" โต้ “อาลีบาบา” ย้ายการลงทุนจากไทยไปมาเลเซีย ยันยังใช้ไทยเป็นฐานการค้าอี-คอมเมิร์ช เตรียมหารือ 31 มี.ค.นี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปฏิเสธถึงกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียกรณีกลุ่มบริษัท อาลีบาบา เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ที่มีบริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เป็นบริษัทลูกในไทยจะย้ายการลงทุนจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไปยังประเทศมาเลเซีย ว่า ไม่เป็นความจริง ล่าสุดติดต่อไปยังอาลีบาลา ซึ่งได้รับการยืนยันว่าทางอาลีบาบายังคงมีนโยบายลงทุนในไทยและมีเป้าหมายจะใช้ไทยเป็นฐานการค้าอี-คอมเมิร์ช หรือ “ศูนย์การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค” (E-Commerce Park) ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาเกี่ยวกับขั้นตอนด้านศุลกากร เพื่อทำให้เป็นเขตปลอดภาษีด้วย มีเป้าหมายขยายตลาดให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มประเทศ CLMV

นายอุตตม กล่าวว่า วันที่ 31 มีนาคมนี้ ทางคณะผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มอาลีบาบาและบริษัทลาซาด้า ได้นัดหมายเข้าพบ เพื่อหารือถึงความคืบหน้าการลงทุน การศึกษาพื้นที่ลงทุนในอีอีซีให้มีความชัดเจน รวมถึงแนวทางการสร้างศูนย์อี-คอมเมิร์ซปาร์คในไทย เพื่อกระจายสินค้าและบ่มเพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงวิสาหกิจชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจสามารถเข้าถึงการค้าแบบออนไลน์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายตลาดและกระจายสินค้าไปสู่ตลาดโลก

“อาลีบาบาแสดงความพร้อมลงทุนในไทยและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ต้องใช้เวลานานในการดำเนินงาน คาดว่าจะเห็นภาพชัดภายในปีนี้ ส่วนโครงการลงทุนในมาเลเซียของอาลีบาบานั้น เป็นโครงการที่เชื่อมการค้าระหว่างมาเลเซียกับจีนเท่านั้น” นายอุตตม กล่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการยืนยันว่าคณะผู้บริหารจากอาลีบาบาและลาซาด้าจะเข้าพบรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและตน เพื่อยื่นข้อเสนอการลงทุน อาทิ การอำนวยความสะดวกเรื่องขั้นตอนกฎหมายศุลกากรที่ช่วยส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าในธุรกิจของบริษัท และความชัดเจนว่าจะเข้าลงทุนพื้นที่ใดให้ได้ข้อสรุปวันที่ 31 มีนาคม 2560 ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายอีอีซีชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ภายในสัปดาห์นี้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ฮิราตะ ผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น มีกำหนดการเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุนในไทย รวมถึงล่าสุดบริษัท ฟูจิฟิล์ม ประธานกลุ่มเมดิคัลฮับ ผู้ประกอบการด้านยาสมัยใหม่ของญี่ปุ่น กำลังศึกษาข้อเสนอการลงทุนพัฒนาการผลิตยาสมัยใหม่ในไทยด้วยเชื่อว่าจะมีความคืบหน้าระยะต่อไป