‘ซีไอเอ็มบี’ ชี้ปีนี้ธุรกิจเวลธ์แข่งดุ

‘ซีไอเอ็มบี’ ชี้ปีนี้ธุรกิจเวลธ์แข่งดุ

ซีไอเอ็มบีชี้ปีนี้ "ธุรกิจเวลธ์" แข่งขันแรง ระบุความน่าสนใจคือไม่ต้องตั้งสำรอง เผยแต่ละแบงก์เริ่มดึงตัวพนักงานดูแลลูกค้า

‘ซีไอเอ็มบีไทย’ประเมินปีนี้ธุรกิจบริหารเวลธ์แข่งขันรุนแรง เพราะเป็นธุรกิจเดียวในธนาคารที่ไม่ต้องมีการกันสำรอง ขณะที่ธุรกิจอื่นก็ต้องกันสำรองเพิ่มตามเกณฑ์บาเซิล 2 แถมรายได้ยังดี แต่มีความเสี่ยงเกิดปัญหาแย่งตัวพนักงานดูแลลูกค้า

นางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ปรึกษาทางการเงิน รักษาการผลิตภัณฑ์การออม ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ธุรกิจการบริหารเวลธ์ (Wealth)มีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจเวลธ์เป็นธุรกิจประเภทเดียวที่ไม่ต้องมีเงินกันสำรอง ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะต้องมีการกันสำรองเพิ่มขึ้น ตามเกณฑ์บาเซิล 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกทั้งรายได้จากธุรกิจนี้อยู่ในระดับที่ดี

อย่างไรก็ตามจากการแข่งขันที่มีมากขึ้น ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่ต้องจับตามองคือ ความเสี่ยงเรื่องคน ที่มีการเข้าออก หรือ เทิร์นโอเวอร์สูง จากการดึงตัวเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการลูกค้า บางแห่งให้เงินเดือนเพิ่มเป็นเท่าตัว ซึ่งขณะนี้ในตลาดเริ่มเห็นมาบ้างแล้ว แต่ในส่วนของธนาคารเองมีน้อย และที่ผ่านมาก็มีเทิร์นโอเวอร์ในระดับที่ต่ำกว่าตลาด

ทั้งนี้ ในการให้บริการบริหารเวลธ์ให้กับลูกค้า เจ้าหน้าที่ หรือพนักงาน 1 คน จะต้องมีใบอนุญาตให้ครบทุกผลิตภัณฑ์ หรือมีหลายใบอนุญาต ยิ่งในปีหน้าทางสำนักงานคณะกรรมกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) จะแยกใบอนุญาต ออกเป็น 3 ประเภท โดยแยก IC เดิมออกเป็น IC ทั่วไป หรือ IC pain และ IC ที่มีความซับซ้อน หรือ IC Complex

โดยคนที่มีใบอนุญาตประเภทเดิมอยู่แล้ว สามารถไปอบรมเพิ่มเพื่อเป็นผู้ให้บริการดังกล่าวได้ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องไปสอบเพิ่ม คนที่จะเข้าตลาดใหม่ก็ต้องมีใบอนุญาตให้ครบ ซึ่งก็จะมีความยากมากขึ้น เพราะต้องมีใบอนุญาตให้ครบ 3 ใบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบประเทศสิงคโปร์แล้ว ถือว่าเราข้อกำหนดด้านคุณสมบัติของประเทศไทยน้อยกว่ามาก เพราะสิงคโปร์ต้องมีใบอนุญาตเป็น 10 ใบ

“โดยทั่วไปของลูกค้าในกลุ่มเวลธ์ไม่ได้ใช้บริการแบงก์เดียว จะใช้หลายๆ แบงก์ และก็ไม่ได้ยึดติดกับธนาคาร แต่จะติดคนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเหตุผลที่จะทำให้ลูกค้าบอกลาการเป็นลูกค้าของธนาคารทุกแห่ง ก็มี3-4 เหตุผล คือ การขาดทุนต่อเนื่อง พนักงานที่ดูแลอยู่ลาออก แบงก์มีปัญหาด้านการเงิน และผลิตภัณฑ์ไม่มีความหลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมา เทิร์นโอเวอร์ของธนาคารก็น้อยกว่าตลาด ส่วนเหตุผลอื่นธนาคารก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะ ในส่วนของผลิตภัณฑ์นั้น ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ดีกว่าบางธนาคารในสิงคโปร์เสียอีก”

เป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มเวลธ์ในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้ารายได้ในกลุ่มธุรกิจเวลธ์(wealth)ปีนี้มีการเติบโต 43% หรือมีรายได้ 920 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 644 ล้านบาท ไม่รวมรายได้เงินฝาก หากรวมรายได้จากเงินฝากปีรายได้ในกลุ่มเวลธ์ปี้จะอยู่ที่ระดับ1พันล้านบาท

ขณะที่เป้าหมายรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะมาทั้งจากการขยายฐานลูกค้าใหม่และการเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการหรือเอยูเอ็ม (AUM) ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าเป็น 7หมื่นราย จากปีก่อนมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 5.8 หมื่นราย และตั้งเป้าเพิ่มเอยูเอ็มเป็น 2.5 แสนล้านบาท จากปีก่อนมีเอยูเอ็มอยู่ที่ 1.89 แสนล้านบาท โดยล่าสุดธนาคารมีฐานลูกค้าในกลุ่มนี้แล้วกว่า 6 หมื่นราย และมีเอยูเอ็มอยู่ที่ระดับ 2 แสนล้านบาทแล้ว