เมืองจิ๋ว ความสุขของคนทุกวัยในบ้าน

เมืองจิ๋ว ความสุขของคนทุกวัยในบ้าน

Stanley MiniVenture (สแตนลีย์ มินิเวนเจอร์) เมืองจำลองจิ๋ว ขนาด 1:87 พื้นที่เดินชมใหญ่สุดในเอเชีย

กิจกรรมนอกบ้านสำหรับครอบครัว นอกจากไปห้างสรรพสินค้า จับจ่ายซื้อของ ดูหนัง กินข้าว เดินชมงานศิลปะตามหอศิลป์ ฯลฯ ตอนนี้กรุงเทพฯ มีพื้นที่แห่งใหม่ให้คนทุกวัยในบ้านได้ใช้เวลาร่วมกัน พื้นที่แห่งนี้คือ Stanley MiniVenture (สแตนลีย์ มินิเวนเจอร์) เมืองจำลองจิ๋ว ขนาด 1:87

แนวคิดในการสร้างเมืองจำลองจิ๋ว
“เราอยากสร้างสถานที่หนึ่งที่คนเข้ามาแล้วได้มีโมเมนต์ดีๆ ร่วมกันได้ทั้งครอบครัวทุกช่วงวัย เราพบว่ามิเนเจอร์ (Miniature ของจำลองขนาดเล็ก) ตอบโจทย์นี้ได้” เอกภาสน์ เตพละกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท สกายเวนเจอร์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ และจำลองการบิน Flight Experience กล่าวถึงแนวคิดในการสร้าง Stanley MiniVenture เมืองจำลองจิ๋ว


“สแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ คือการย่อโลก เราต้องการให้เห็นภูมิประเทศส่วนใหญ่ของโลกเรา สภาพภายในโลกเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทรัพยากรธรรมชาติคืออะไร คนเราเอาแรงงานมาจากไหน เอาอาหารมาจากไหน โดยนำเสนอในรูปแบบเมืองของผู้คน เพราะเมืองแต่ละเมืองต่างมีเอกลักษณ์มีสภาพแตกต่างกันไป ผู้คนแต่ละเมืองอยู่กันอย่างไร เราอยู่อย่างไร เขาอยู่อย่างไร ใช้ทรัพยากรอย่างไร เมืองที่เจริญแล้วเป็นอย่างไร เมืองนี้ปลูกต้นไม้ให้คนริมถนน บ้านสไตล์อเมริกันเป็นบล็อก พอมาถึงยุโรปบ้านเมืองดูโบราณบ้านไม้สไตล์ทูดอร์ บ้านเมืองไม่เป็นบล็อก เดินคดเคี้ยวไปมา โบสถ์เยอะ คนแต่ละเมืองมีกิจกรรมอย่างไร เหมือนการท่องไปในโลก เหล่านี้คือเรื่องราวที่เราใส่เข้าไป”


โดยพยายามดึงจุดต่างๆ ที่เป็นจุดเด่นของโลกเข้ามาไว้ในพื้นที่แห่งนี้ เพื่อให้เด็กๆ และผู้ที่เข้าชมได้เห็นในสิ่งที่เขาอาจจะยังไม่ได้เห็นกัน และเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันระหว่างพ่อแม่ที่มีประสบการณ์เคยไปสถานที่ต่างๆ มาแล้วก็สามารถเล่าให้ลูกๆ ฟังถึงสิ่งที่ได้ชมตรงหน้า


“เมืองแต่ละเมืองมีคาแรคเตอร์ ภูมิประเทศแตกต่างกันไป บางเมืองก็ไม่มีในเมืองไทย แต่เราไม่ได้ระบุว่าเป็นเมืองใดเมืองหนึ่ง เราใช้วิธีอ้างอิงมากกว่า เช่นภูมิประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ แต่บางอย่างที่มีเอกลักษณ์มากๆ เราก็จำลองมา เช่น เขื่อนฮูเวอร์ในอเมริกาที่เสาไฟฟ้าแรงสูงไม่ได้ตั้งตรง”

การเดินชมพื้นที่เมืองจำลองจิ๋ว
เมืองจำลองจิ๋วจัดแสดงอยู่บนโต๊ะ จำนวน 11 โต๊ะ วางแผนผังในลักษณะของการเริ่มจากสภาพด้านนอกเมืองแล้วค่อยๆ ไหลเข้าสู่ตัวเมือง


โต๊ะที่หนึ่งจากปากทางเข้าเป็นโต๊ะ Resource Town จัดแสดงเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งแร่ธาตุ การทำเหมือง โรงไฟฟ้า เขื่อนที่เป็นจุดเริ่มต้นพลังงานไฟฟ้า โต๊ะที่สอง Organic Farm แหล่งอาหารของมนุษย์ ไล่ไปสู่โต๊ะที่จัดแสดงเมืองต่างๆ สามแบบ Residential and Historical Town เชื่อมต่อไปสู่โต๊ะที่สี่ Transportation and Entertainment เมืองที่ไม่หยุดนิ่งและความหรรษาบันเทิง ต่อด้วย Desert เมืองทะเลทราย, Beach ทะเล, Cave ถ้ำ, Snow Port หิมะ, Airport สนามบิน, Central Business District การสร้างเมืองสมัยใหม่ ท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่ผู้เข้าชมสามารถบังคับเรือได้เอง


โต๊ะพิเศษ Very Thai เมืองไทยไทย จำลองย่านการค้าเยาวราชและอาคารสมัยเมืองไทยยังมีรถราง เช่น โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย หัวลำโพง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตลาดน้ำ เป็นอาทิ และเปิดให้ผู้เข้าชมเสนอว่าต้องการเห็นอะไรจัดแสดงบน ‘โต๊ะเมืองไทยไทย’


ยังมีพื้นที่วางบนโต๊ะ Very Thai นั่นเป็นเพราะคุณเอกภาสน์ตั้งใจจะจัดแสดงมิเนเจอร์เหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ปีพ.ศ.2549 ที่อยู่ในความทรงจำคนไทย งานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ขณะนี้อยู่ในระหว่างการกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต


“ฟิกเกอร์ทุกคนที่อยู่ในฉากนี้ต้องขยับได้หมด ไม่คนก็ธง ผมไม่แน่ใจว่าใส่ได้กี่หมื่นตัว ฟิกเกอร์พระองค์ท่านเราวางแผนสั่งทำพิเศษจากเยอรมนี วัสดุพิเศษ แม่พิมพ์ต้องทำใหม่ มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกเพื่อให้สมพระเกียรติ ผมตั้งใจอยากทำมาก คงไม่ได้ทำคนเดียว อยากให้เป็นความร่วมมือร่วมใจกัน ภาคเอกชน โรงเรียน ผู้เข้าชม ใครอยากมีส่วนร่วมกับฉากนี้ก็ยินดี มาช่วยกันเพนต์ฟิกเกอร์คนที่ต้องใช้เป็นหมื่นชิ้น” คุณเอกภาสน์ กล่าว

ต่อด้วย ห้องระบายสี ให้เห็นการทำงานของช่างบนโต๊ะ และ ร้านขายของที่ระลึก(Gift Shop)


นอกจากนี้ยังจัดแสงเสมือนจริงให้เห็นความแตกต่างแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่แสงแดดยามเช้า กลางวัน เย็น หัวค่ำ กลางดึก หมุนเวียนกันไปช่วงละ 3 นาที

สัดส่วนความจิ๋ว 1 : 87
คุณเอกภาสน์เริ่มคิดโครงการนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เริ่มจากดูว่าประเทศอื่นทำ ‘เมืองจำลอง’ กันอย่างไร


“ตอนแรกเราก็ดูจากวีดิโอ แต่อยากได้ความรู้สึกของคนที่เข้าไปดู เราก็บินไปดูที่เยอรมนี ฮัมเบิร์ก มิเนเจอร์ วันเดอร์แลนด์ คนเข้าชมปีละล้านกว่าคน เขาทำอะไรกันเหรอ เขาทำมานานกว่าสิบกว่าปี พื้นที่เก้าพันกว่าตารางเมตรอยู่ในโกดังเก่า สเกลตัวฟิกเกอร์ 1:87”


คุณเอกภาสน์เล่าว่า โลกเราทำมิเนเจอร์หลายสเกล เริ่มจากสเกลจี-ตัวใหญ่ รองลงมาเป็นสเกลวัน ถัดมาเป็นสเกลเอชโอ คือที่เราเห็นอยู่นี้ เป็น 1:87 ซึ่งคนนิยมเล่นกันที่ยุโรปและอเมริกา ต่อไปเป็นสเกลเอ็น เล็กลงไปอีก นิยมเล่นกันที่ญี่ปุ่น


“ตอนแรกเราก็สองจิตสองใจระหว่างเอชโอกับเอ็น แต่เอชโอคนมองเห็นรายละเอียด ถ้าเล็กกว่านี้จะมองรายละเอียดยากและใช้เวลาทำนานกว่านี้ และรถไฟจำลองส่วนใหญ่ก็ใช้สเกล 1:87 เราจึงเลือกใช้สเกลนี้ ยกเว้นโมเดล ‘รถไฟไทย’ ที่เราต้องทำขึ้นมาเอง ดัดแปลงสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะไม่มีขาย"

เมืองจิ๋วแต่ประโยชน์ไม่จิ๋ว
เมืองจำลองจิ๋ว คือการจัดแสดงเป็นภาพสามมิติ ซึ่งถ้าเป็นภาพปกติ เราจะเห็นเพียงเด้านเดียว คือด้านหน้า การเห็นภาพรอบด้านในเวลาเดียวกัน จะสร้างมุมมองอีกแบบให้ผู้เข้าชม


“ผู้ใหญ่เข้าชม จะได้เห็นว่าเขาเองเป็นหนึ่งในโลก ไม่ใช่โลกหมุนรอบตัวเขา แต่เขาเป็นส่วนหนึ่งของโลก ปัญหาของเขาหรือปัญหาของคนซึ่งเป็นสิ่งเล็กๆ เมื่อเทียบกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก นี่คือแนวคิดหลักของงานมิเนเจอร์ที่เขาสร้างกันขึ้นมา” เอกภาสน์ กล่าว


“เด็กได้เต็มๆ นอกเหนือจากการได้เห็นวิศวกรรมด้านต่างๆ เห็นรถไฟวิ่งไปมาบนสะพานเหล็กที่เมืองไทยไม่ค่อยมี วิ่งลอดอุโมงค์ ซึ่งยุโรปมีเยอะมาก เห็นวิศวกรรมการหมุนเก็บหัวรถจักรเข้าไปในโรงเก็บ เมืองไทยมีที่เดียวที่ลำปาง นั่นก็คือการกระตุ้นด้านนอกของสมอง คือการมีปฏิสัมพันธ์ การเข้าใจผู้อื่น การมองเห็นภาพรวม การเป็นผู้นำ เพราะเป็นภาพที่มองได้ครบทุกด้านในเวลาเดียวกัน มีข้อมูลจิตวิทยาเด็กสนับสนุน”
-----------------------------------------------------------
สแตนลีย์ มินิเวนเจอร์ (Stanley MiniVenture) ตั้งอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้สกายเวนเจอร์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย กรุงเทพฯ เปิดบริการทุกวัน 10.00-20.00 น. สอบถามรายละเอียดและค่าเข้าชมโทร.0 2248 9923 www.stanleyminiventure.com และ Facebook:StanleyMiniVenture มีเจ้าหน้าที่นำชมสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาจีน

------------------------

ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร