ถึงเวลารื้อใหญ่การรถไฟฯ รับเมกะโปรเจคเฉียด2ล้านล้าน

ถึงเวลารื้อใหญ่การรถไฟฯ รับเมกะโปรเจคเฉียด2ล้านล้าน

ถึงเวลารื้อใหญ่การรถไฟแห่งประเทศไทย รับเมกะโปรเจคเฉียด2ล้านล้าน

กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง 2 ฉบับเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า คือฉบับที่ 10/2560 เรื่องการปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และฉบับที่ 11/2560 เรื่องกำกับการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ

คำสั่งทั้ง 2 ฉบับมีที่มาจากร.ฟ.ท.โดยตรง โดยฉบับแรกมีการปลดนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร พ้นจากผู้ว่าการร.ฟ.ท. และแต่งตั้ง นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวงมาเป็นรักษาการณ์ผู้ว่าการรถไฟฯ และการแต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมครบ 9 คน

ฉบับที่ 2 เป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง โดยตั้งคณะกรรมการหรือซูเปอร์บอร์ดขึ้นมา และมีอำนาจการพิจารณากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐทั้งหมดที่มีความสำคัญและมูลค่าสูงกว่า 5,000 ล้านบาท และที่สำคัญคำสั่งฉบับนี้ ระบุอย่างตรงไปตรงมาว่าให้โครงการรถไฟทางคู่ที่อยู่ระหว่างการประมูลอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

คำถามว่าทำไมจึงประเดิมด้วยร.ฟ.ท.?

หากติดตามนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ต้น ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านการขนส่งของประเทศ ซึ่งร.ฟ.ท.ถือว่ามีบทบาทอย่างมาก ดังจะเห็นจากโครงการขนาดใหญ่ส่วนมากจะมาจากการปฏิรูปขนส่งทางรางของประเทศ ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าในเขตเมือง

งบประมาณส่วนมากอยู่ที่ร.ฟ.ท. แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือร.ฟ.ท.มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความพร้อมในการดำเนินงาน จนทำให้รัฐบาลต้องการปฏิรูปร.ฟ.ท.ครั้งใหญ่ ก่อนเข้ามารับผิดชอบโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

รัฐบาลเริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาหนี้สินของร.ฟ.ท. โดยแลกหนี้กว่าแสนล้านบาทกับกระทรวงการคลังในการบริหารที่ดินมักกะสัน แต่ผลสุดท้ายร.ฟ.ท.ก็ขอบริหารที่ดินเอง ในขณะที่กระทรวงคมนาคมได้สั่งให้ร.ฟ.ท.เตรียมปฏิรูปองค์กร โดยอันดับแรกให้มีการแยกบัญชีของกิจการของร.ฟ.ท.ออกเป็น 3 บริษัท คือ การเดินรถ การซ่อมบำรุงและบริหารสินทรัพย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่จนบัดนี้ทุกอย่างยังไม่เป็นไปตามแผน

ในขณะที่ในปีนี้ จะมีการประมูลโครงการรถไฟทางคู่อีกหลายเส้นทาง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลต้องการปฏิรูประบบรางครั้งใหญ่

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม ระบุว่าคำสั่งคสช.ดังกล่าวต้องการให้การดำเนินการจัดซื้อจ้างของภาครัฐในระยะอีก 2 ปีข้างหน้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรมและสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อจัดจ้างของการรถไฟแห่งประเทศ(ร.ฟ.ท.) ที่ใช้งบประมาณมากถึง 90% ของงบลงทุนทั้งประเทศ โดยระหว่างปี 2559-2560 มีโครงการลงทุนรวมเกือบ 2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2559 จำนวน 968,978 .79 ล้านบาทและปี 2560 จำนวน 904,817.28 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเห็นว่าปริมาณและคุณภาพโครงการจัดซื้อจัดจ้างของร.ฟ.ท. ในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมาก จึงกังวลว่าการบริหารจัดการรูปแบบเดิมของ ร.ฟ.ท. อาจไม่สามารถรองรับโครงการเมกะโปรเจคที่มีความซับซ้อนและใช้เงินลงทุนจำนวนมากได้ จึงควรปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น

คสช. จึงออกคำสั่งฉบับที่ 11/2560 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) ขึ้นมา 1 ชุด ประกอบการด้วยกรรมการจำนวน 9 คน เพื่อกำกับดูแลโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปทุกโครงการของรัฐ โดยจะนำกลไกลดังกล่าวมากำกับดูแลโครงการรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง มูลค่า 1.29 แสนล้านบาทของ ร.ฟ.ท. เป็นหน่วยงานแรก

เบื้องต้นคณะกรรมการกำกับฯ ชุดนี้จะทำหน้าที่คล้ายๆ กับ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่ง คสช. ใช้อำนาจสั่งยุบไปก่อนหน้านี้ โดยจะมีอำนาจดูแลตั้งแต่เริ่มต้นขบวนการจัดซื้อจัดจ้างคือ จัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดราคากลาง จัดทำทีโออาร์ไม่ให้มีการล็อกสเปค และสามารถเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลโครงการจนถึงระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา รวมไปถึงการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนด้วย

ส่วนจะมีการประกาศยกเลิกโครงการทางคู่ 7 เส้นทางดังกล่าวหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับฯ ที่จะพิจารณาเพื่อให้โครงการเกิดความโปร่งใส โดยหากคณะกรรมการฯ เห็นว่า ควรยกเลิกทั้งหมดก็สามารถทำได้ แต่ถ้าไม่ต้องการยกเลิก ก็อาจจะปรับปรุงโครงการบางส่วน

“คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจพิจารณายกเลิกโครงการ ทั้งที่ได้เปิดประมูลไปแล้ว กำลังจะเปิด และยังไม่ได้เปิดประมูล ซึ่งตามปกติสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้น มีการเปิดช่องให้มีการบอกเลิกสัญญาได้อยู่แล้ว หากตรวจสอบพบว่ามีข้อกังวลเรื่องความไม่โปร่งใส หรือมีข้อร้องเรียน ความไม่เป็นธรรม แต่ในทางปฏิบัติจะต้องมีเหตุผลชี้แจงได้ว่ายกเลิกเพราะสาเหตุอะไร”

ทั้งนี้ยอมรับว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับฯ ขึ้นมาอาจทำให้โครงการล่าช้าไปบ้าง แต่หากทำให้โครงการมีความโปร่งใสมากขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่า อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานตรวจสอบของหน่วยงานเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หรือซูเปอร์บอร์ดของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากชุดใหม่ที่ คสช. ตั้งขึ้นจะกำกับดูแลขบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น

สำหรับสาเหตุที่ คสช. มีคำสั่งปลดผู้ว่า ร.ฟ.ท. ออกจากตำแหน่งนั้น นายพิชิตระบุว่า เป็นเพราะรัฐบาลต้องการให้บอร์ด ร.ฟ.ท. ชุดใหม่ ทำงานได้อย่างอิสระเต็มที่ทั้งเรื่องการบริหารจัดการภายในและการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคต ซึ่งการให้ผู้ว่า ร.ฟ.ท. คนเดิมพ้นจากตำแหน่งถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่จะทำให้บอร์ดใหม่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา ยังมีข้อร้องเรียนการทำงานของ รฟท.หลายเรื่องตั้งแต่ในอดีต เช่น ร้องเรียนว่าขบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้องตามระเบียบ ไม่โปร่งใส ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะโครงการเปิดประกวดราคาโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางมีข้อร้องเรียนว่า ร.ฟ.ท. มีการล็อกสเปคหรือมีการกีดกันรายอื่นๆ ไม่ให้เข้าร่วมประมูล รวมถึงข้อร้องเรียนในโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ซึ่งสุดท้าย ร.ฟ.ท. ได้ประกาศล้มการประมูลไปในที่สุด

“รัฐบาลมองเห็นว่า ข้อร้องเรียนดังกล่าวมีสาระสำคัญ รวมทั้งโครงการรถไฟทางคู่ยังเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบลงทุนจำนวนมาก และรัฐบาลให้ความสำคัญสูง ซึ่งรัฐบาลได้เน้นย้ำหลักการมาตลอดว่าต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้”