"ซัมซุง" ผนึกแบงก์ ลุยอีเพย์เม้นท์ไทย

"ซัมซุง" ผนึกแบงก์ ลุยอีเพย์เม้นท์ไทย

'ซัมซุง’ ขนทัพพันธมิตรแบงก์รัฐ-เอกชน เปิดตัวซัมซุงเพย์ตลาดที่ 10 ของโลกรับนโยบายไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด

'ซัมซุง’ ขนทัพพันธมิตรแบงก์รัฐ-เอกชน เปิดตัวซัมซุงเพย์ตลาดที่ 10 ของโลกรับนโยบายไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด โชว์ผลงาน 1 ปีระบบยังไร้ช่องโหว่ ยอดใช้จ่ายพุ่ง100 ล้านครั้ง ชี้จุดเด่นฮาร์ดแวร์ผนวกไบโอเมตริก เสริมความปลอดภัย เผยเฟสแรกใช้งานบนกาแล็กซี่ 9 รุ่น ครอบคลุมบัตรเครดิตกว่า 70% คลังระบุใช้กับตั๋วร่วมได้เดือน มิ.ย.นี้

กระแสการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เม้นท์ ได้รับความนิยมสูงขึ้นในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว ด้วยมีความสะดวก ทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน ที่ผ่านมามีบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามาบุกตลาดอีเพย์เม้นท์ในไทยต่อเนื่อง ล่าสุด คือ ซัมซุงที่เลือกไทยเป็นตลาดที่ 10 เปิดระบบอีเพย์เม้นท์ในชื่อ “ซัมซุงเพย์”

นางสาวแอล คิม รองประธาน กลุ่มธุรกิจการชำระเงิน ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ เผยว่า การใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะเกาหลีเท่านั้น แต่รวมถึงไทยที่เป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพที่อีเพย์เมนท์ขยายตัว และมีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ

เลือกไทยตลาดที่ 10
ซัมซุงจึงได้เลือกไทยเป็นตลาดที่ 10 เปิดให้บริการ “ซัมซุงเพย์” ระบบชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อสอดรับกับเป้าหมายการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดของประเทศไทย

เบื้องหลังของ “ซัมซุง เพย์” พัฒนาขึ้นจากพื้นฐาน 3 อย่างคือ คือเป็นใช้งานง่าย แต่มีระบบความปลอดภัยสูงซึ่งออกแบบด้วยเทคโนโลยีน็อกซ์ (KNOX) ดีไซน์เฉพาะของซัมซุงทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์และได้รับการยอมรับใช้งานจากรัฐบาลทั่วโลก

ขณะที่ร้านค้าก็ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เนื่องจากซัมซุงเพย์รองรับการใช้งานเครื่องรูดบัตรอีดีซีเดิม โดยใช้การส่งข้อมูลผ่านเอ็นเอฟซี และเอ็มเอสที (แมคเนติก ซีเคียว ทรานมิสชั่น) มีอยู่บนเครื่องรูดบัตรอีดีซีทั่วไปอยู่แล้ว

ผนวกกับระบบยืนยันตัวตนด้วยการสแกนลายนิ้วมือที่ช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัย จำลองตัวเลขแบบโทเคไนเซชั่น เป็นการเข้ารหัสข้อมูลที่ป้องกันการถูกโขมย หรือกรณีที่โทรศัพท์ถูกโขมยและมีความพยายามจะเจาะระบบ ระบบดังกล่าวก็จะทำลายตัวเอง

โดยหลังเปิดตัวในตลาดเกาหลีใน 1ปี มีจำนวนทรานแซคชั่นผ่านซัมซุงเพย์แล้ว 2.1 ล้านล้านวอน หรือราว 2 พันล้านดอลลาร์ และรวมทั่วโลก 100 ล้านทรานแซคชั่น จากตลาดใหญ่ในสหรัฐ และเกาหลีใต้

“ซัมซุงเป็นโมบาย คอมพานีที่เริ่มอีเพย์เมนท์จากศูนย์จนมาถึง 100 ล้านทรานเซคชั่นใน 1 ปี ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีมากๆ แสดงว่าคนก็ยอมรับเราในเทคโนโลยีนี้ และจนถึงวันนี้ระบบของเราก็ยังไม่เคยมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยเลย”

มั่นใจอีเพย์เม้นท์ไทยโตพุ่ง
นอกจากนี้ส่วนตัวยังเชื่อว่า ตลาดอีเพย์เมน์ไทยจะเติบโตได้แบบก้าวกระโดด เพราะเป็นนโยบายระดับชาติที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ในเกาหลีตอนที่ซัมซุงเริ่มทำอีเพย์เมนท์ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่เป็นที่แพร่หลาย

นายวิชัย พรพระตั้ง รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เสริมว่า ในไทยมีระบบเครื่องอ่านบัตรเครดิต (อีดีซี) ราว 4 แสนเครื่อง และใช้งานเทคโนโลยีเอ็นเอฟซีสำหรับจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ และในจำนวนนี้ 94%ยังรองรับการใช้ระบบเอ็มเอสที หรือกว่า 3 แสนเครื่อง

นอกจากนี้ยังเป็นจังหวะดีที่รัฐบาลไทยและเอกชนก็พยายามผลักดันการใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำอีเพย์เมนท์ โดยที่ซัมซุงก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการผลักดันเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น และความสะดวกในการใช้อีเพย์เมนท์ เบื้องต้นใช้งานได้ราว 70% ของบัตรเครดิตทั้งหมด ทั้งในระบบวีซ่าและมาสเตอร์ การ์ด ใช้งานกับกาแล็กซี่ 9รุ่น เช่น โน้ต 5 และกาแล็กซี่ เอ3,5,7 และเอส 6 เอดจ์ พลัสขึ้นไป

ผนึกร่วมแบงก์ใหญ่
นายวิชัย เผยว่า ซัมซุงทำงานร่วมกับแบงค์ใหญ่ๆเกือบหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย, กรุงศรีอยุธยา, ซิตี้แบงค์, เอสซีบีหรือกรุงไทย และก็ยังเวิร์คกับพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมเพื่อพยายามให้รองรับการใช้กับบัตรต่างๆได้เกิน 90% ขึ้นไป

นอกจากนี้ยังได้เปิดตัว “กาแล็กซี่ กิฟท์ การ์ด” ซึ่งเป็นบัตรพรีเพดที่ใช้กับซัมซุงเพย์ได้ และมีแผนจะขยายการรองรับบัตรสมาชิกต่างๆ รวมถึงบัตรเดบิตต่างๆ

“เทคโนโลยีทำได้หมดแล้ว และในเกาหลีก็มีหมดแล้ว เพียงแต่ในไทยก็จะต้องทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งธนาคาร และธนาคารแห่งประเทศไทย และพาร์ทเนอร์อื่นๆ ที่ต้องรอความพร้อมเท่านั้น เพราะเราเป็นแค่โซลูชั่นส่วนหนึ่งเท่านั้น”

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ซัมซุงเพย์เข้ามาในจังหวะเหมาะ เนื่องจาก “การชำระเงิน” เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นดิจิทัล อีโคโนมี ซึ่งรัฐพยายามผลักดันให้การใช้เงินสดน้อยลง กระทั่งเกิดโครงการเนชั่นนัล อีเพย์เมนท์ จนเกิดเป็นระบบพร้อมเพย์ขึ้นมา

ซัมซุงเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ง่ายและปลอดภัย ก็น่าจะมีศักยภาพที่ทำให้ระบบอีเพย์เมนท์แพร่หลายได้เร็ว และในเดือน มิ.ย.ก็จะสามารถใช้ซัมซุงเพย์กับตั๋วร่วมที่จะเกิดขึ้นได้ เพิ่มความง่ายขึ้นไปอีกขั้น

“ถ้าเราก้าวไปสู่สังคมที่ไม่ต้องใช้เงินสดได้ เราก็จะเป็นประเทศแรกในย่านนี้ที่ไม่ต้องใช้เงินสดในการใช้จ่ายได้”

ธุรกรรมออนไลน์ขยายตัว20%
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน กล่าวว่า ปัจจุบันมีอัตราผู้ใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวปีละ 20% ในช่วง 5ปี ส่วนโมบาย แบงกิ้งก็เพิ่มแบบก้าวกระโดด โดยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบเพื่อรองรับการใช้อีเพย์เมนท์ ตลอดจนพัฒนาบริการพร้อมเพย์ เพื่อเป็นถนนเข้าถึงปะชาชนไปสู่สังคมไร้เงินสด และการพัฒนาฟินเทค

รวมถึงออกแนวปฏิบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาเสนอบริการออกมาภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด (รีกูลาทอรี่ แซนบ็อกซ์) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนต่อยอดบริการพร้อมเพย์ และการขยายการวางเครื่องอีดีซี และการพัฒนานวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ เช่น การจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ สนับสนุนการทำธุรกรรมของประชาชนทุกภาคส่วนได้อย่างปลอดภัย