ฟุตบอลไทยยุค 4.0 ทำได้จริงหรือขายฝัน? 

ฟุตบอลไทยยุค 4.0 ทำได้จริงหรือขายฝัน? 

หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “ประเทศไทย 4.0” กันบ้างแล้ว สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญ

เพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เน้นในเรื่องการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ผ่านกลไก ประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การพัฒนาทุกภาคส่วน

กีฬา ในฐานะที่เกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจและสังคม ก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์นี้เช่นกัน โดยเฉพาะวงการฟุตบอลที่มีเม็ดเงินไหลเวียนมากที่สุด ก็ถูกคาดหวังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าทิศทางของ ฟุตบอลไทยในยุค 4.0” จะเป็นอย่างไร 

ฟุตบอลไทย 1.0-3.0

ตามที่ภาครัฐอรรถาธิบาย “1.0” คือยุคเริ่มต้นพัฒนาภาคเกษตรกรรม “2.0” เป็นการลงทุนอุตสาหกรรมเบาที่มุ่งเน้นแรงงานราคาต่ำ “3.0” มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม จนมาถึงยุทธศาสตร์ “4.0” ที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วย นวัตกรรม

ส่วนยุค “1.0” ของฟุตบอลไทย เป็นรูปธรรมในช่วงปี “1950-1970” ที่สังคมยังมีวิถีชีวิตเรียบง่าย เน้นหนักที่ ฟุตบอลนักเรียน และ ฟุตบอลชุมชน ระบบการคัดเลือกยังใช้ส่วนสูง อุปกรณ์อย่าง สตั๊ด” เป็นสินค้าราคาแพงและหายาก นักกีฬาส่วนใหญ่ยังใส่รองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ หรือกระทั่งลงแข่งขันเท้าเปล่า

ยุค “2.0” เปลี่ยนผ่านจากเรื่องสันทนาการในชุมชน หรือการแข่งขันระดับสถาบันศึกษา เข้าสู่ภาคประชาชนมากขึ้น มีทีมฟุตบอลจากทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้มากมาย อาทิ “ธนาคารกรุงเทพ”,”การท่าเรือ”,”ทหารอากาศหรือ ราชประชา เป็นต้น และยังเป็นยุคที่กำเนิดนักฟุตไทยระดับตำนานอีกมากมาย 

ในยุคนี้ ยังเป็นช่วงที่เกิดฟุตบอลรายการอื่น ตั้งแต่ ไทยแลนด์ซอคเกอร์ลีก” พ.ศ. 2527 “ฟุตบอล เซมิ โปรลีก” พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นการนำร่อง ไปสู่ฟุตบอลลีกสูงสุดครั้งแรกของประเทศ “จอห์นนี วอล์กเกอร์ ไทยแลนด์ ซอคเกอร์ลีก พ.ศ. 2539 

จากนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการรวมลีกฟุตบอลลีกอาชีพที่ดำเนินการโดยสมาคมฟุตบอล กับฟุตบอลโปรวินเชียลลีก การแข่งระดับภูมิภาค ที่จัดขึ้นโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ใน พ.ศ. 2550 ซึ่งมี ชลบุรี เอฟซี” เป็นทีมระดับจังหวัดทีมแรกที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุด จุดกระแสท้องถิ่นนิยม ที่นำไปสู่รูปแบบฟุตบอลลีกยุคใหม่ในปัจจุบัน

อีกหนึ่งจุดหักเห คือในปี 2552 สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ออกระเบียบข้อบังคับให้สโมสรฟุตบอลต้องดำเนินการแบบมืออาชีพ  ทำให้ทีมฟุตบอลชั้นนำในอดีต โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารไม่ผ่านคุณสมบัติ ต้องยุบทีมไปหลายทีม นำไปสู่ ยุค 3.0” ที่ทีมอย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด” “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” “แบงค็อก ยูไนเต็ด” “เชียงราย ยูไนเต็ดฯลฯ  เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าวงการไปโดยสิ้นเชิง

เม็ดเงินจากทั้งการลงทุนของสโมสร ค่าสปอนเซอร์ ลิขสิทธิ์การแข่งขัน ทำให้มูลค่ารวมในอุตสาหกรรมยุคนี้ ทะลุเกิน “5 พันล้านบาท เทียบกับ “จอห์นนี วอล์กเกอร์ ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก” ที่มีเงินหมุนเวียนประมาณ 15 ล้านบาท ถือว่ามูลค่าของฟุตบอลไทยใน 21 ปีต่อมา เพิ่มขึ้นถึง 333 เท่า  

ล้อตามยุทธศาสตร์

ขณะที่ยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” จะเริ่มดำเนินการในปี 2560 คำถามที่ตามมาคือ วงการฟุตบอลไทยในยุค “4.0” จะมีอะไรล้อไปตามยุทธศาสตร์ของภาครัฐบ้าง?

ในการประชุมสภาปฏิรูป เพื่อวางแผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติครั้งล่าสุด สมาคมฟุตบอลฯ ก็ประกาศแผนแม่บทระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ในระยะเวลาเท่ากับแผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐในระดับมหภาคพอดี โดยมีแนวคิดหลักว่า "Come Together”  

นายพาทิศ ศุภะพงษ์ โฆษกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย กล่าวถึง Road map ของยุทธศาสตร์นี้ ไว้คล้ายกับของรัฐบาล โดยแบ่งออกเป็นสี่ส่วนภายใต้คำจำกัดความ มั่งคั่ง มั่นคง สู่เวทีโลก ยั่งยืน

มั่งคั่งและมั่นคง

มั่งคั่ง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ทรัพยากร (Resource)” โดยเฉพาะบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องที่วงการฟุตบอลไทยยังขาดแคลน ทั้งคุณภาพโดยรวมของผู้เล่น ผู้ฝึกสอน โดยเฉพาะอย่างหลังที่สมาคมเพิ่งเปิดอบรมโค้ชโปรไลเซนส์โดย เอเอฟซี เพื่อนำความรู้ไปใช้พัฒนาผู้เล่นต่อไป

เมื่อเกิดความมั่งคั่งของทรัพยากรภายในแล้ว จึงนำไปสู่ความมั่งคั่งจากรายได้ แม้ปัจจุบัน สมาคมฯจะยังมีหนี้สินคงค้าง แต่ก็มีการปรับปรุงให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ด้วยการแต่งตั้งบริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) เข้ามาดูแลสิทธิประโยชน์ให้สมาคมเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งจะการันตีรายได้รวมให้สมาคม 3,240 ล้านบาท ยังไม่นับค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอีกปีละกว่า 1,000 ล้านบาท 

เสริมด้วยสัญญาสนับสนุนจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน จำกัด มูลค่า 700 ล้านบาท 

ส่วนความ มั่นคง เป็นเรื่องการจัดการภายใน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีแนวโน้มในเชิงบวก เพราะทีมในระดับไทยลีกผ่านเกณฑ์มาตรฐานได้คลับไลเซนซิ่งเกือบทั้งหมดแล้ว ส่วนทีมชาติ ยังคงต้องการแผนงานทั้งระยะสั้น กลาง และยาว รวมไปถึงการลำดับความสำคัญ (Milestone) ให้ชัดเจน 

สู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน

สู่เวทีโลก เมื่อเติบโตผ่านยุค 3.0 ตลาดในประเทศอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องออกไปหาน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) เพื่อต่อยอดมูลค่าให้เติบโตขึ้น การตลาด(Marketing) และการสร้างแบรนด์ (Branding) จึงต้องถูกนำมาใช้เพื่อโอกาสใหม่ๆ เป็นที่มาของการแต่งตั้งบริษัท ไทยลีก จำกัด และเปลี่ยนชื่อลีกแต่ละระดับให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน เน้นความเรียบง่าย และร่วมสมัย รวมถึงการเพิ่มโควตาผู้เล่นอาเซียน ในระดับ ไทยลีก 2 เป็นการนำร่องก่อนขยายตลาดสู่อาเซียนอย่างจริงจังในอนาคต

และสิ่งที่ยากที่สุดตามแผนแม่บทที่กล่าวมาทั้งหมด คือขั้นตอนสุดท้าย คือการสร้าง ความยั่งยืน "แผนแม่บท 20 ปีของสมาคมฯ จึงพยายามนำผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) วงการฟุตบอลไทย ทั้งสโมสร แฟนฟุตบอล สปอนเซอร์ สมาคมฯ หน่วยงานต่างๆ เข้ามาเป็นสภาปฏิรูปเพื่อเขียนแผนแม่บทนี้ ซึ่งจะมีการรีวิวในทุกๆ 5 ปีเพื่อประเมินผลงาน นายพาทิศ กล่าว

ก้าวถัดไปเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปตามแผนแม่บท คือการเซ็นสัญญากับ เอ็คโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส” (Ekkono Method Soccer Services) บริษัทจัดการบริหาร และพัฒนาฟุตบอลจากสเปน เข้ามาบริหารจัดการทีมชาติไทยทุกชุด ให้มีรูปแบบและสไตล์การเล่นเป็นแบบเดียวกันเพื่อความยั่งยืนในอนาคต และตั้งเป้าผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลก ในปี 2026 ซึ่ง ฟีฟ่า” เพิ่มจำนวนทีมในรอบสุดท้ายเป็น 48 ทีม 

ยุทธศาสตร์ 4.0 ของสมาคมฯ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะกุญแจสำคัญอย่างเรื่องทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องพัฒนาเป็นอันดับแรกไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ

เพราะแม้แผนแม่บทจะสวยงามชวนฝันขนาดไหน แต่ขั้นตอนการนำไปปฏิบัติต่างหาก คือตัวชี้วัดว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และคงเป็นหน้าที่ของสมาคมฟุตบอลฯ ที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าไม่ใช่เพียงแค่เรื่องขายฝัน