น้ำท่วมภาคใต้กินพื้นที่สวนยางเสียหาย 75%

น้ำท่วมภาคใต้กินพื้นที่สวนยางเสียหาย 75%

"แบงก์ชาติ" เผยน้ำท่วมภาคใต้กินพื้นที่สวนยางเสียหาย 75% คาดระยะสั้นฉุดปริมาณยางเดือน ม.ค.ลด 20% ส่วนท่องเที่ยวโดนผลกระทบเล็กน้อย

สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคใต้ ส่งผลเสียหายกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้สรุปและประเมินผลกระทบต่อทรัพย์สินและครัวเรือนจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ช่วงวันที่ 1-10 ม.ค. 2560 ทำให้มี 11 จังหวัดได้รับผลกระทบเบื้องต้น ส่งผลต่อทรัพย์สินและครัวเรือนในวงกว้าง โดย ธปท. จะติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและความเดือดร้อนของประชาชนอย่างใกล้ชิด

สวนยางเสียหาย 75% ฉุดปริมาณวูบ 20%

สำหรับผลกระทบระยะสั้น ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบในภาคเกษตร โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากชาวสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ ทั้งพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ที่ฝนตกหนัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของพื้นที่สวนยางภาคใต้ทั้งหมด คาดว่าผลผลิตยางในเดือนม.ค.จะลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ส่วนปาล์มน้ำมัน ไม่สามารถเก็บผลผลิตปาล์มได้ และผลผลิตที่เก็บได้ก็มีอัตราการให้น้ำมันลดลง ด้านผลผลิตกุ้งได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากเกษตรกรชะลอการลงลูกกุ้งตั้งแต่ปลายปี 2559 เพราะเป็นช่วงมรสุม

ท่องเที่ยวกระทบไม่มาก

นางสุรีรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบไม่มาก โดยเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีนักท่องเที่ยวยกเลิก booking ในช่วงนี้บ้าง ขณะที่การท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันซึ่งได้รับผลกระทบบ้างจากน้ำท่วมที่ จ.กระบี่ ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยภาครัฐและผู้ประกอบการได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวรับทราบสถานการณ์

สำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงานน้อยลง เช่น โรงงานน้ำยางข้น โรงงานปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม โรงงานแปรรูปยางบางแห่งยังมีวัตถุดิบอยู่ในสต็อกจึงยังสามารถทำการผลิตได้ แต่ก็อาจประสบปัญหาการเดินทางของแรงงานบ้าง

เอสเอ็มอีในทุ่งสง-ชะอวดเสียหายหนัก

ส่วนภาคการค้า กระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ใน อ.ทุ่งสง และ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมหนักอยู่ในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม รายได้บางส่วนจะถูกชดเชยด้วยการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคบริจาคผู้ประสบภัยน้ำท่วม และการเร่งใช้จ่ายหลังน้ำลดเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน ประกอบกับจะมีเงินช่วยเหลือภาครัฐ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลังน้ำท่วม

ขณะที่ในส่วนสถาบันการเงินที่ปิดดำเนินการในช่วงก่อน เริ่มกลับมาให้บริการตามปกติ เหลือเพียง 4 สาขาที่ยังปิดบริการ สำหรับความเสียหายในภาพรวมคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

คลังสั่งแบงก์รัฐทำซอฟท์โลน0%

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคลังอยู่ระหว่างทำมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยเมื่อเร็วๆนี้ สศค.ได้หารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เบื้องต้นก็มีหลายธนาคาร ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าไปบ้างแล้วหลักๆคือการพักชำระหนี้ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม อยากให้แบงก์รัฐออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่นปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วมลงอีก โดยเฉพาะสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลนดอกเบี้ยในระดับ 0%เป็นเวลา 1-2ปี เป็นต้น ซึ่งแบงก์รัฐจะกลับไปคิดมาตรการมาว่าจะเป็นแบบใด รัฐต้องชดเชยหรือขอเป็นโครงการพีเอสเอ (PSA)เพื่อนำไปคำนวณกลับเป็นผลการดำเนินงานหรือไม่ คาดว่าจะสรุปภายในสัปดาห์นี้ หากรัฐไม่ต้องชดเชยก็ดำเนินการได้เลย แต่หากขอเป็นโครงการพีเอสเอ ต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติ

“ซอฟท์โลนคงมี แต่เป็นเงินของแต่ละแบงก์เองและดูว่าดอกเบี้ยจะต่ำแค่ไหน ใจเราอยากให้มี0%แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแบงก์จะเสนอมาอย่างไร ส่วนซอฟท์โลนของ ธปท.นั้น ธปท.ทำไม่ได้แล้ว ยกเว้นจะให้ธนาคารออมสินทำ เหมือนกับซอฟท์โลนเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ ซึ่งขอประเมินผลกระทบก่อนว่าจะมีหรือไม่ ”

สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั้น อยู่ระหว่างประเมิน เบื้องต้นพื้นที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและภาคเกษตร ไม่ได้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเหมือนน้ำท่วมในปี 2554

2 แบงก์ใหญ่เร่งช่วยลูกค้าทุกกลุ่ม

ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้า ได้แก่ ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อเคหะ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อธุรกิจรายย่อย โดยพักชำระหนี้เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน , ลดดอกเบี้ย 50-100 % แล้วแต่ประเภทของสินเชื่อ และขยายเวลาผ่อนชำระตั้งแต่ 2 เดือน ถึง 5 ปี แล้วแต่ประเภทสินชื่อ และลงทะเบียนภายในเดือนมิ.ย.2560

สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน ,พักชำระเงินต้นพร้อมขยายเวลาผ่อนสูงสุด 24 เดือน ,ยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระ สูงสุด 30 วัน , เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราวเสริมสภาพคล่องสูงสุด 10 ล้านบาท โดยขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มี.ค.2560

ส่วนลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่จะพิจารณาตามความเหมาะสมทางธุรกิจแต่ละราย ซึ่งอาจเพิ่มวงเงินพิเศษ ,ยืดเวลาหรือปรับจำนวนเงินการชำระหนี้ในช่วงนี้ให้เหมาะสม

กสิกรไทยชี้มีลูกค้าเอสเอ็มอี 1.4หมื่นราย

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการการช่วยเหลือลูกค้า ประกอบด้วย ลดยอดผ่อนชำระหรือพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 12 เดือน รวมถึงการขยายเทอมตั๋วสัญญาใช้เงินและวงเงินการค้าต่างประเทศ รวมถึงวงเงินเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการ เครื่องจักร ชดเชยสต็อกสินค้าที่เสียหาย จะพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 6 เดือน และไม่ต้องประเมินราคาหลักประกันใหม่ โดยต้องขอวงเงินภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้

เขากล่าวว่า มีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร 14,395 ราย ที่อยู่ใน 12 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป ธนาคารกำลังลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหายใกล้ชิด

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าโดย ขยายระยะเวลาต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินได้สูงสุดถึง 360 วัน ลดดอกเบี้ยสินเชื่อหมุนเวียนและเงินกู้ 6 เดือน และส่วนเงินกู้ระยะสั้น-ยาว พักชำระหนี้เงินต้นได้สูงสุด 1 ปี เช่นเดียวกับไอแบงก์ ที่ให้ลูกค้าพักชำระหนี้เงินต้น ไม่เกิน 24 เดือน

ช่วยเพิ่มสวนยางใต้รวม6,000บาท

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด) ในสิ้นเดือน ม.ค. นี้ พิจารณาใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนายางพาราประมาณ 398 ล้านบาทช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม 7 หมื่นกว่าครัวเรือน เป็นการช่วยเหลือในส่วนเงินสวัสดิการชาวสวนยาง 3,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อเป็นการเยียวยาค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียโอกาสในการกรีดยางในช่วงที่น้ำท่วม ต้นยางได้รับความเสียหาย

ในเบื้องต้นอยู่ระหว่างการสำรวจ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือน แต่ผู้ที่จะได้ได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว ต้องเป็นชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.เท่านั้น เบื้องต้นมีจำนวนทั้งหมด 1.4 ล้านราย

ที่ผ่านมาได้หารือใน บอร์ด กยท.ไปแล้ว เบื้องต้นจะจ่ายเงินเพื่อเยียวยาให้ชาวสวน ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นเงินสวัสดิการช่วยเหลือตามกองทุนสวัสดิการเข้าบอร์ด เป็นการจ่ายให้แบบเพิ่มจากวงเงินเดิมที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงเกษตรช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2560งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงินงบประมาณ 2,259.72 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ ในอัตรา 3,000บาท ต่อครัวเรือน

“สำหรับน้ำท่วมภาคใต้ในรอบนี้ชาวสวนยาง จะได้รับเงินช่วยเหลือประมาณ 6,000 บาทต่อครัวเรือน คือได้รับเงินเยียวยาเป็นพิเศษจาก กยท.จำนวน 3,000 บาทต่อครัวเรือน จากกระทรวงเกษตรฯจำนวน 3,000 บาท ซึ่งเป็นการใช้เงินตามพ.ร.บ.การยาง ที่สามารถทำได้ ไม่น่ามีปัญหา เพราะบอร์ดกยท.ได้อนุมัติ หลักการในรอบแรกไปแล้ว เหลือเพียงสำรวจความเสียหาย และนำสรุปยอดการช่วยเหลือเข้าที่ประชุมบอร์ดกยท.