‘ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์’ นวัตกรชุบชีวิตสิ่งทอ

‘ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์’ นวัตกรชุบชีวิตสิ่งทอ

ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์ ทายาทสาวธุรกิจสิ่งทอที่เก่าแก่ย่านบางปูพลิกโรงทอผ้าจากซันเซ็ทกลายเป็นซันไรส์ด้วยนวัตกรรม เดิมพันด้วยแบรนด์ สปันซิลค์

ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์ ทายาทสาวธุรกิจสิ่งทอที่เก่าแก่ย่านบางปูพลิกโรงทอผ้าจากซันเซ็ทกลายเป็นซันไรส์ด้วยนวัตกรรม โดยอาศัยพื้นฐานความรู้จากการเรียนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์จากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้กับสปันซิลค์


แม้จะเกิดมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจสิ่งทอมากว่า 30ปีแต่ ปาจรีย์ ก็ไม่เคยคิดว่าจะสานต่อธุรกิจนี้เพราะความฝันของเธอคือการเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ดังนั้นเธอจึงเลือกที่จะเรียนปริญญาตรี ภาควิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากไปเรียนไฮสคูลที่อังกฤษ จากนั้นก็ได้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่อังกฤษ


หลังจากเรียนจบเธอได้รับทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีทรานส์เฟอร์ที่ลิงค์ระหว่างสถาบันวิจัยกับอุตสาหกรรม เป็นนักวิจัยทำงานกับกลุ่มไฮเนเก้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีของเสียคือกากแอปเปิ้ล จึงต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากการทำปุ๋ย จึงคิดกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกากแอปเปิ้ล ด้วยการสกัดสารที่มีคุณค่าจาก กากแอปเปิ้ลเพื่อนำไปใช้ ในอุตสาหกรรมได้หลากหลายเนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในอุตสาหกรรมยา อาหารรวมทั้งเครื่องสำอางก็ได้ โดยใช้กระบวนการสกัดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ในระหว่างที่ทำงานวิจัยที่อังกฤษ พี่ชายกับน้องชายปาจรีย์ ได้ก่อตั้ง 'สปันซิลค์' ซึ่งเป็นบริษัทที่3 ของครอบครัวคิวเจริญวงษ์ ช่วงที่เธอกลับมาเมืองไทยเข้ามาช่วยงานด้านการตลาด เพราะเห็นแนวโน้มตลาดและความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศ จึงนำเอาประสบการณ์ ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาธุรกิจครอบครัว หลังจากทำ วิจัยจบก็ตัดสินใจกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัวเต็มตัว เนื่องจากเริ่มหลงรักไหม จึงรู้สึกสนุกกับการคิดค้นและพัฒนาในทุกกระบวนการผลิตไหม ที่สามารถคิดต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะมีพื้นฐานการเป็นนักวิจัย


เริ่มจากการสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับของเหลือจากกระบวนการผลิตไหม ว่าสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง จากนั้นเข้าร่วมโครงการโมเดิร์นไทย ซิลก์ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นด้ายที่เกิดจาการผสมใยสีตามเทรนด์สี มีจุดเด่นคือมีสีเหลือบหลากสีในเส้นด้ายหนึ่งเส้นจะมีสีผสมกันถึง 5 เฉดสี ทำให้ผ้าทอออกมาต่างจากสีผ้าไหมทั่วไป นอกจากนี้ก็ ยังศึกษาเรื่องปรับเกลียวของเส้นไหมให้เป็น High Twist มีความเบาบาง แต่มีโวลุ่มทั้งผืนผ้า รวมทั้งการพัฒนาเส้นใยออร์แกนิคส์จากไหมอีรี่ ที่ตอบโจทย์ ตลาดโลกกำลังให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้นวัตกรรมการผลิตเข้ามาช่วย


หน้าที่ของ ปาจรีย์ คือ ทำการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ทุกๆปีเธอจะเดินทางไปต่างประเทศ 3 เดือนในช่วงต้นปีกับปลายปีเพื่อดูงาน
แน่นอนว่าด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะทายาทรุ่นที่สามของครัวครัว ย่อมทำให้เธอเกิดความเครียดจากการทำงาน เพราะบางครั้งงานไม่ได้ดังใจ ทั้งเรื่องคน วัตถุดิบการผลิต หรือเวลาที่ไปดิวกับลูกค้ามีปัญหาเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ เธอเลือกที่จะวิ่งชนกับปัญหาแทนที่จะหนีปัญหา ซึ่งจะทำให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลาย


*คัดย่อจากบทสัมภาษณ์‘ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์’ เผยแพร่ใน กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) ฉบับวันเสาร์ที่ 7 มกราคม ปี 2560