ธรรมดี ปีใหม่

การ “ทำดี” ต้องมี “ธรรมดี” ในใจด้วย หากบรรลุข้อนี้ เราก็สามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องรอคอยวาระโอกาสที่จะทำ

ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ในบรรดาหมื่นแสนถ้อยคำรำพันแสดงความอาลัย รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งแผ่นป้าย เสียงเพลง เสื้อยืด คำพูด บทกวี บทสัมภาษณ์ สังคมออนไลน์ ตลอดจนสติกเกอร์ ลายสัก และเครื่องประดับต่างๆ วลียอดนิยมเห็นจะได้แก่ “เกิดในรัชกาลที่ 9” “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” และ “ทำดีเพื่อพ่อ”

เหล่านี้คือการแสดงออกผ่านถ้อยคำสั้นๆ เพื่อส่งผ่านความรู้สึกว่า “คนไทยรักในหลวง รัชกาลที่ 9” เพียงใด ง่ายๆ ก็คือแค่นั้น…และหวังว่า ต่อไปคงไม่มีการตีความลากเข้าหาวิวาทะการเมือง หรือนำไปประดิดประดอยจนเกินงามอย่างที่เคยปรากฏในอดีต จำได้ว่า ประมาณสิบกว่าปีก่อน มีป้ายคำขวัญ “รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ต้านยาเสพย์ติด” ของกระทรวงอะไรสักอย่างที่ทำให้รู้สึกขัดใจว่าเรื่องแบบนี้ไม่ต้องถึง”ในหลวง”ก็ได้ (แค่เน้นโทษมหันต์ของยาเสพติดกับการดูแลเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพอย่างตรงไปตรงมา ก็น่าจะพอเพียงสำหรับการรณรงค์ทำนองนั้น)

ในความเข้าใจของข้าพเจ้า การ “ทำดี” ต้องมี “ธรรมดี” ในใจด้วย หากบรรลุข้อนี้ เราก็สามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องรอคอยวาระโอกาสที่จะทำ ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่ “ในหลวง” ทรงสอนเราด้วยพระราชจริยวัตรตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ท่าน และไม่ต้องคอยขวางหูขวางตาคนที่ประกาศตนเป็น “คนดี” หรือสร้างกิจกรรมทำดีออกสื่อ โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้ทำดีอะไรนอกจากตามจับผิดผู้อื่น

ในระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมา น่าเสียใจที่คำว่า “คนดี-ความดี” ถูกนำไปใช้กับสังคมการเมือง รวมทั้งผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะตน จนแทบจะสูญเสียนิยามความหมายดั้งเดิมไปแล้ว...กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง เป็นการขีดเส้นแบ่งตีตราอย่างตื้นเขินว่า ใครที่คิดต่างจากตนนั้นไม่ใช่ “คนดี” อีกด้านหนึ่งก็ลากมาใช้เป็น “คำเลว” สำหรับเหวี่ยงแหกระแนะกระแหนผู้อื่นพวกอื่น ทำนองเดียวกับคำว่า “โลกสวย” โดยไม่พิจารณากลั่นกรองสาระที่แท้จริงของถ้อยคำ

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ จึงขอร่วมบูรณะฟื้นฟูความหมายของคำว่า “ทำดี” ด้วยแบบอย่างของการกระทำสุดประทับใจแห่งปีสักเรื่อง...คงจำกันได้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหาดเลนหน้าเมืองกระบี่เมื่อกลางปีที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสองสามีภรรยาเดินดูนก แล้วก้าวถลำติดหล่มโคลนลึก ไม่สามารถพาตัวเองขึ้นมาได้ จนกระทั่งมีชายชาวเรือผู้หนึ่งตรงเข้าไปช่วยฉุด แต่แถวนั้นไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ให้ใช้พาดเหนี่ยวเกี่ยวดึง เขาจึงทอดร่างนอนคว่ำลงเป็นสะพานให้ชายต่างชาติร่างใหญ่ยักษ์ค่อยๆ ยกเท้าก้าวเหยียบแผ่นหลังจนขึ้นจากหล่มได้ในที่สุด แล้วฮีโร่ผู้นั้นก็เดินลิ่วกลับไปลงเรือโดยไม่รีรอขอรับผลตอบแทนใดๆ

โลกคงไม่ได้รับรู้การทำดีด้วยวิธีแก้ปัญหาอันเยี่ยมยอดของ นายชัด อุบลจินดา และเจ้าตัวก็คงกลับไปใช้ชีวิตออกเรือหาปลาตามปรกติโดยไม่คิดอะไรเลย แต่บังเอิญมีช่างภาพที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามจุดเกิดเหตุ บันทึกภาพเหตุการณ์ทั้งหมดมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ จน “พี่ชัด” กลายเป็นฮีโร่ขวัญใจชาวไทยทั้งประเทศ และได้รับผลตอบแทนที่เขาเองก็ไม่เคยคาดหวัง นอกจากโล่ห์รางวัลเกียรติคุณต่างๆ แล้ว หน่วยงานกรมกองต่างๆ ก็แห่กันเข้าไปช่วยซ่อมบ้าน มอบเรือ ปรับปรุงถนน เดินสายไฟเข้าบ้าน ให้พี่ชัดและครอบครัวใหญ่อีกเกือบยี่สิบชีวิต ซึ่งดำรงชีพอย่างขัดสนสมถะตลอดมา

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ชาวกระบี่จัดพิธีชุมนุมถวายความอาลัยที่หน้าศาลากลางจังหวัด เราไปร่วมงานจึงมีโอกาสได้เจอ “พี่ชัด” ตัวเป็นๆ ด้วยความประทับใจในวีรกรรมและบุคลิกพูดน้อยทำใหญ่ของฮีโร่ผู้นี้ จึงได้ขอตามไปเยี่ยมบ้านซึ่งอยู่ในซอยลึกท่ามกลางดงจากริมคลองปกาสัย

จะไม่ขอสาธยายรายละเอียดเรื่องชีวิตติดดินน้ำของครอบครัวอุบลจินดา เนื่องจากข้อมูลจากปาก “พี่ชัด” ที่อยากถ่ายทอดให้รับทราบโดยทั่วกันก็คือ การตัดสินใจเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมในครั้งนั้นไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เดิมที “พี่ชัด” เคยบวชเป็นสามเณรและภิกษุอยู่พักใหญ่ จึงซับซึ้งกระจ่างใจในรสพระธรรม เคยทำอะไรหลายอย่างที่คิดว่า “ดี” แต่ “จำไม่ได้ เล่าไม่ถูก” และหลังจาก “ดัง” แล้วก็ยังรับหน้าที่เป็นจิตอาสาไปช่วยบรรยายธรรม น้อมนำให้คิดดีทำดี โดยไม่โปรโมทหรือมีเรตค่าตัว(ประเภท “นักพูดเพื่อพ่อ” ที่ตกเป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้) เพราะว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่ของพี่ชัดคือ “คนในคุก”

เราบุกถึงห้องนอนในบ้านอิฐบล็อกอันแสนสมถะ มองเห็นพระบรมฉายาลักษณ์แขวนเด่นเป็นสง่า กับโล่ประกาศเกียรติคุณต่างๆ ติดเรียงราย ใน “พื้นที่ส่วนตัว” เช่นนี้ คำตอบเบาๆ ด้วยสีหน้าเรียบนิ่งของผู้ชายชื่อ ชัด อุบลจินดา ดังก้องเต็มสองหู ซึมลึกเข้าถึงหัวใจ เมื่อเราเอ่ยถามขึ้นว่า “ความดี ในทัศนะของคุณชัดคืออะไร?”

เป็นคำพูดประโยคเดียว ชัดยิ่งกว่าชัด ไม่ต้องซักถามอะไรอีกแล้ว

“ความดี คือ การกระทำ”