“อินชัวร์เทค”ต้องเกิด! จ่ายเบี้ยคุ้มเสี่ยง

“อินชัวร์เทค”ต้องเกิด!   จ่ายเบี้ยคุ้มเสี่ยง

กระแส” อินชัวร์เทค"(Insuretech) หรือ เทคโนโลยีภาคการประกันภัย นับว่า เป็น ตลาดประกันภัยในยุคดิจิทัลที่จะมีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูง

ในอนาคต ด้วยแพลตฟอร์มอินชัวร์เทคที่พร้อมมาปฏิวัติอุตสาหกรรมประกันภัย

นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “อินชัวร์เทค” เป็นหนึ่งหมวดสำคัญในธุรกิจฟินเทค ซึ่งปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฯ มีหลายบริษัทที่เริ่มทำอินชัวร์เทค และร่วมมือใกล้ชิดกับบริษัทประกันให้บริการลูกค้า เห็นได้ชัดเจนอย่าง บริษัทเอนนี่แวร์ ทู โก ที่พัฒนาระบบบริการเคลมดิ (Claim Di) เป็นระบบประกันภัยดิจิทัล หรือแม้แต่ตอนนี้บริษัทประกันที่มีศักยภาพพัฒนาระบบเทคโนโลยี และมีความได้เปรียบทั้งแบรนด์เป็นที่รู้จักและฐานลูกค้าจำนวนมาก ก็เริ่มมีการก่อตั้งฟินเทคของตัวเองเหมือนกัน เพื่อพัฒนาระบบอินชัวร์เทค นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ดำเนินการใกล้ชิดกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ. )เพื่อผลักดันระบบอินชัวร์เทค ที่เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมต่อไป

“คนไทยมีความพร้อมที่จะทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัล โดยเฉพาะมือถือสูงมาก เป็นอันดับต้นๆของโลก ในขณะที่อินชัวร์เทคจะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการซื้อประกันเฉพาะแต่ละบุคคล เช่น ผู้ขับขี่ความเสี่ยงต่ำ ใช้รถขับรถเฉพาะวันหยุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ทำให้จ่ายเบี้ยประกันถูกกว่าปกติได้ หากในอนาคตหากเกิดขึ้นได้โดยสามารถเลือกซื้อประกันความเสี่ยงและตรงตามความต้องการ ช่วยประหยัดค่าเบี้ยได้ เชื่อว่าคนไทยมีความต้องการเช่นนี้อยู่แล้วและจะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมประกันเติบโตขึ้นด้วย”

นายอัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ระบุว่า ในยุคdata analytics การเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการพัฒนาไปสู่ “อินชัวร์เทค” คาดว่าจะเริ่มเห็นการขับเคลื่อนในธุรกิจประกันอย่างชัดเจนในปีหน้า ในส่วนของบริษัทอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลต่างๆ และพัฒนาระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้บริการลูกค้าสามารถซื้อประกันภัยได้ครบวงจร ได้ความคุ้มครองคุ้มค่าเบี้ยมากขึ้น ผ่านความร่วมกับประกันพันธมิตรกว่า60 ทั้งบริษัทประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าเกือบถึง2ล้านราย และปีนี้คาดว่ามีเบี้ยประกันเติบโตตามเป้า10,000ล้านบาท

ล่าสุด คปภ.ห่วงประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากซื้อขายผ่านออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก แอพฯ เว็บไซต์ ไลน์ เนื่องจากที่ผ่านมา คปภ.ยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลการซื้อขายประกันผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะประกาศเดิมที่ออกเมื่อปี 51 และ 52 กำกับดูแลเฉพาะธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิมที่อาศัยตัวบุคคลและการพิสูจน์ตัวเอกสารเท่านั้น ประกอบกับธุรกิจประกันภัยหันมาใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องจัดทำประกาศขึ้นมาควบคุม

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคปภ. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.59 ได้เห็นชอบหลักการการออกกติกากำกับดูแลวิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนของการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย ผ่านอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ แอพพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ โปรแกรมแชทออนไลน์

สำหรับร่างประกาศที่ คปภ.นำเสนอ จะกำกับดูแลครบวงจร ตั้งแต่การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การออกกรมธรรม์ประกันภัย จนถึงการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย โดยมีสาระสำคัญอาทิ การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากบริษัทเท่านั้นที่จะสามารถเสนอขายผ่านช่องทางนี้ได้ และแบบกรมธรรม์ประกันภัยต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. ส่วนการชำระเบี้ยประกันภัย หากทำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเข้าบัญชีบริษัทประกันภัยเท่านั้น และบริษัทต้องขอคำยืนยันการทำประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยภายใน 7 วันหลังจากออกกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งบริษัทต้องให้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยภายใน 15 วัน

นอกจากนี้ ในร่างประกาศฯ ยังได้ระบุมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ โดยกำหนดให้บริษัท นายหน้าประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธนาคาร ต้องมีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผู้ขอทำประกันภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

“การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางเดิมที่มีอยู่จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย หรือลดต้นทุนของบริษัทในระยะยาวซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการฯ คปภ. ได้ให้ข้อสังเกตเพื่อให้ คปภ.นำไปปรับปรุงและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานภายนอก เช่นธปท.  และก.ล.ต. แล้วเสนอให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯพิจารณากลั่นกรองก่อนเสนอต่อที่ประชุม คปภ.ในการประชุมครั้งต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการ เพื่อออกประกาศกำกับดูแลการประกันชีวิต-วินาศภัย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้โดยเร็ว ก่อนสิ้นปีนี้เพื่อมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่ 60 แก่ประชาชน”