กาแฟของในหลวง

กาแฟของในหลวง

ใครจะรู้บ้างว่ากาแฟโครงการหลวงที่ให้ผลผลิตในรูปเมล็ดกาแฟดิบปีละ 250 – 300 ตันในวันนี้ จะเริ่มต้นมาจากต้นกาแฟเพียง 2 – 3 ต้น

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เล่าเรื่องโครงการหลวงมีความตอนหนึ่งว่า “เมื่อทรงตั้งโครงการหลวงแล้วไม่นาน เวลาเสด็จประพาสต้นบนดอยก็ประกอบด้วยการปีนป่ายเขามาก ในเรื่องนี้ผมถูกพวกในวังที่ต้องเดินตามเสด็จฯ นินทามากมายว่านำเสด็จฯ ด้วยพระบาทไปเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2 – 3 ต้น ซึ่งก็จริงอยู่ แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จฯ ไปนั้นทำให้ชาวเขาเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้กาแฟบนดอยมีมากมาย และก็เริ่มต้นจาก 2 – 3 ต้นนั่นเอง”

กาแฟ 2 – 3 ต้นที่ว่านั้น มีเรื่องราวย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2517 ลุงพะโย ตาโร อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองล่ม สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าตอนนั้นเขายังเป็นคนหนุ่มที่พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมึกะคี จึงได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านให้คอยรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทำให้ลุงพะโยมีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด

ลุงพะโยกล่าวว่า เมื่อมีรับสั่งถามถึงต้นกาแฟ จึงได้นำทางไปทอดพระเนตร ทรงมีรับสั่งสอนให้มีการใส่ปุ๋ย และนำหญ้ามาใส่โคนต้น เมื่อลุงพะโยนำเมล็ดกาแฟถวาย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทอดพระเนตรเห็นว่าเมล็ดกาแฟมีความสมบูรณ์ดี และปลูกในพื้นที่ได้จึงมีรับสั่งให้ส่งเสริมการปลูกกาแฟโดยใช้เมล็ดที่นายพะโยนำมาถวาย กลับคืนให้ชาวบ้านนำไปปลูกต่อ ต่อมาโครงการหลวงจึงได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟ และนำวิธีการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
ทุกวันนี้สวนกาแฟของลุงพะโยกลายเป็นสวนตัวอย่าง นอกจากมีกาแฟเต็มสวนแล้ว ยังมีข้าวเต็มยุ้ง ถนนหนทางสะดวก มีไฟฟ้าใช้ สิ่งที่หายไปคือไร่ฝิ่น ที่เป็นเช่นนี้ลุงพะโยให้เหตุผลว่า “เป็นเพราะลุงปลูกกาแฟของในหลวง แล้วส่งขายให้กับโครงการหลวง”

นายจะหมอ ขอบด้ง ชาวเขาเผ่ามูเซอหมู่บ้านขอบด้ง สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าเสริมไว้ใน “เล่าเรื่องโครงการหลวง” โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ความว่า
      “พระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาตอนนั้นพวกเราปลูกฝิ่นอยู่ พระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปที่ไร่ฝิ่น ถ่ายรูปแล้วบอกให้พวกเราเลิกปลูกฝิ่น หลังจากนั้นหม่อมเจ้า (ภีศเดช รัชนี) ก็ให้ปลูกท้อ บ๊วย สาลี่ กาแฟ”

      วันนี้กาแฟของในหลวงที่ทรงพระราชทานกลับให้เกษตรกรในหมู่บ้านหนองล่ม ไม่ได้เป็นเพียงต้นกาแฟที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นกำเนิดของกาแฟอาราบิก้าโครงการหลวง และ อาราบิก้าในประเทศไทยอีกนับพัน หมื่น แสนต้นในวันนี้
      ปัจจุบันโครงการหลวงผลิตกาแฟ โดยการรับซื้อกาแฟอาราบิก้าจากเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของมูลนิธิโครงการหลวง 20 แห่ง ได้แก่ อินทนนท์ อ่างขาง ป่าเมี่ยง ตีนตก ห้วยโป่ง ม่อนเงาะ ห้วยน้ำขุ่น เป็นต้น โดยรับซื้อจากเกษตรกรรายย่อยกว่า 2,000 ราย ในรูปแบบกาแฟกะลา (กาแฟที่ปอกเปลือกสีแดงออกเหลือแต่เมล็ดและเปลือกหุ้มเมล็ด) ปีละ 250 – 300 ตัน โดยจำหน่ายในรูปกาแฟเมล็ด (กาแฟดิบ) ให้แก่อุตสาหกรรมแปรรูปกาแฟ และ จำหน่ายในรูปกาแฟคั่วภายใต้ชื่อ กาแฟดอยคำ
เรื่องกาแฟของในหลวง

      ก่อนหน้านี้เราไม่รู้เลยว่าจะเริ่มต้นจากกาแฟเพียง 2 – 3 ต้น ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธที่ทำให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นได้อย่างแยบยล จนกลายมาเป็นกาแฟดอยคำที่ให้รสชาติชวนลุ่มหลงและกลิ่นหอมกรุ่นที่ดื่มแล้วรู้สึกภาคภูมิใจเหลือเกินที่ได้เกิดในแผ่นดินใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร