เปิดศึกชิงตลาด “ขายประกันรถออนไลน์”

 เปิดศึกชิงตลาด  “ขายประกันรถออนไลน์”

ปัจจุบันพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย กำลังเปลี่ยนแปลงไป เริ่มมาช้อปสินค้า หรือบริการที่มีราคาสูง และมีความซับซ้อนผ่าน “ช่องทางดิจิทัล”

 มากขึ้น เพราะคนไทยนิยมใช้ช่องทางนี้เพื่อหาข้อมูล วิเคราะห์ และเปรียบเทียบราคา

ข้อมูลผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนผู้ใช้กว่า 38 ล้านคน คิดเป็น 56% ของประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ 68 ล้านคน และมีผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คมากถึง 41 ล้านคน คิดเป็น 60% ซึ่งโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดของไทย ได้แก่ เฟซบุ๊ค 92.1% ไลน์ 85.1% และ กลูเกิล 67% ซึ่งมียอดผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในไทยช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา มีอัตราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มีผู้ใช้ 20 ล้านเลขหมาย และใช้บริการเครือข่าย 4G ถึง 10.8 ล้านหมายเลข

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า กิจกรรมคนไทยนิยมใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงมากที่สุด เพื่อเข้าโซเชียลเน็ตเวิร์คสูงถึง 82.7% เพื่อค้นหาข้อมูล 56.7% และ อ่านข่าว 52.2% เป็นต้น หากแยกเป็นกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า กลุ่ม Gen Y ใช้มากสุดถึง 54.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ Gen X , Gen Z และ Baby Boomer ตามลำดับ 

แน่นอนว่า “ธุรกิจประกันภัย” จึงเข้ามารุกตลาดออนไลน์เช่นกัน โดยเฉพาะ “ประกันภัยรถยนต์” สำหรับเทรนด์ประกันภัยรถยนต์ระดับโลก อีกไม่กี่ปีข้างหน้า “ SSI global NPS surveys” คาดการณ์กว่า 79% ของผู้ซื้อมีแนวโน้มใช้ช่องทางดิจิทัล โดยเทียบกับเบี้ยประกันออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์เติบโตจาก 10% เพิ่มเป็น 23% ใน 3-5 ปีข้างหน้า

ส่วนประกันภัยรถยนต์ในไทย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายราย ที่หันมาเจาะกลุ่มลูกค้าผ่านโลกโซเชียลมากขึ้น ทั้ง “บริษัทประกันรถยนต์ดั้งเดิม อันดับ 1 ใน 10” เริ่มมีบริการออนไลน์ครบวงจร หรือ โบรกเกอร์ออนไลน์ เน้นขายผ่านโทรศัพท์ เริ่มใช้ออนไลน์มากขึ้น เช่น “ ซิลค์สเปน และทีคิวเอ็ม” หรือกลุ่มเว็บไซต์เปรียบเทียบเบี้ยประกันให้ลูกค้าชอปปิง เช่น “ โกแบร์ มาสิ” และอื่นๆ ส่วนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ขายประกันรถยนต์จากบริษัทประกันรถยนต์มีเพียงเจ้าเดียว ได้แก่ “ไดเร็คเอเชีย รู้ใจและแฟรงค์” เป็นต้น

สำหรับกลุ่มบริษัท “ไดเร็คเอเชีย ดอทคอม” ในฮ่องกงและสิงคโปร์ เป็นนายหน้าประกันภัย ที่ได้รับใบอนุญาตในไทย เข้ามาดำเนินธุรกิจประกันภัยรถยนต์ออนไลน์ในชื่อ www.DirectAsia.com ยาวนานที่สุด คนไทยเริ่มคุ้นชินเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีพัฒนาการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง 

อีดิป โอเคอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไดเร็คเอเชีย (ประเทศไทย) วางแผนงาน 5 ปีหลังจากนี้ (2559-2563) ตั้งเป้ายอดขาย 5,000 ล้านบาท และมีกรมธรรม์รวม 500,000 ฉบับ ภายใต้กลยุทธ์บริษัทไม่มีสาขาและตัวแทน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเสนอราคาได้ถูกกว่าตลาด เช่น กลุ่มผู้ขับขี่ปลอดภัยราคาถูกกว่า 15% 

อีกทั้งขยายฐานลูกค้าใหม่ทั่วประเทศ และให้ลูกค้าบอกต่อ และร่วมมือกับ บมจ.ฟอลคอนประกันภัย ออกแบบประกันรถยนต์เพื่อคนไทยโดยเฉพาะ ภายใต้แนวคิด “การมอบความสุขให้กับลูกค้าตั้งแต่เริ่มเช็คเบี้ยประกันไปจนถึงการเคลม”

ตามมาติดๆ อีกหนึ่งเว็บไซต์ “โกแบร์” www.GoBare.co.th ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ BCG Group เปิดตัวเว็บไซต์ครั้งแรกที่สิงคโปร์เมื่อต้นปี 2558 และประสบความสำเร็จ จึงรุกขยายตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ไทย” เป็นประเทศแรก ด้วยกลยุทธ์รุกตลาดใหม่ Financial Meta-Search หรือเว็บไซต์ผู้ช่วยค้นหาอัจฉริยะ ที่เน้นเฉพาะบริการด้านการเงินเป็นหลัก และปีนี้เตรียมเปิดในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ เพราะมีประชากรมาก และพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรวมถึงสมาร์ทโฟนที่แพร่หลายถึง 40%

ศีล นวมานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโกแบร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งเป้าผู้เข้าใช้บริการผ่านเว็บไซต์ไม่น้อยกว่า 1 ล้านรายสิ้นปีนี้ โดยเทียบผลิตภัณฑ์การเงิน ช่วยค้นหาข้อเสนอที่เหมาะสมกับตัวคุณ ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่ายที่สุด ช่วยประหยัดเงินและเวลา การเลือกกรมธรรม์ที่ตรงกับความต้องการ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดประกันภัยรถยนต์ออนไลน์ปีนี้ ล่าสุด เว็บไซต์ รู้ใจ ดอทคอม www.roojai.com เข้าชิงส่วนแบ่งการตลาดด้วย โดยตั้งเป้า 4 ปีข้างหน้า (2559-2563) จะชิงส่วนแบ่งตลาดประกันภัย 3% หรือเบี้ยประกัน 3,146 ล้านบาท และสร้างฐานลูกค้าประกันภัยออนไลน์ได้กว่า 250,000 ราย จากการขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยส่งเสริมการใช้งานประกันภัยรถยนต์แบบดิจิทัล ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จากสิ้นปีนี้คาดมีเบี้ยประกัน 78 ล้านบาท ซึ่งครึ่งปีแรกนี้มีเบี้ยประกันแล้วกว่า 13 ล้านบาท มีฐานลูกค้า 1,500 คน

ส่วนนิโคลัส ฟาร์เกต์ ประธานบริหาร บริษัท รู้ใจ จำกัด มองว่า เมื่อคนไทย เข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และพฤติกรรมการใช้กำลังเปลี่ยน โดยเริ่มหันมาชอปปิงสินค้า หรือใช้บริการที่มีราคาสูงและซับซ้อน พบว่า คนไทยนิยมใช้ช่องทางออนไลน์หาข้อมูล วิเคราะห์ เปรียบเทียบสินค้าประกันภัยรถยนต์มากขึ้นกว่า 600,000 ครั้งต่อเดือน จึงเป็นโอกาสเหมาะที่ผู้ประกอบการ จะเข้ามาให้บริการ

ทั้งนี้ “ประกันรถยนต์ออนไลน์” ที่ผู้บริโภคเลือกทั้งเบี้ยประกัน และบริการที่เหมาะสมตามความต้องการ บางรายพบว่า “เบี้ยถูกกว่าครึ่งจากที่เคยจ่าย” ทำให้ใครหลายคนอยากลองใช้ ไม่น้อย แต่ครั้งแรกคงแอบหวั่นใจกันบ้างว่า “น่าเชื่อถือแค่ไหน”

ดังนั้น “ผู้บริโภค” ต้องศึกษาและทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจใช้บริการทุกครั้ง ขณะที่ผู้ให้บริการต้อง “ตรงไปตรงมา” สร้างประสบการณ์ที่ดีเมื่อใช้ครั้งแรกแล้ว “สบายใจ” และ “ไม่เกิดปัญหา” ในครั้งต่อๆ มา รับรองว่าถ้า “ติดใจ” แล้วคงตามมากันอีกเพียงแบบไม่ทันรู้ตัว