ภูเก็ตเป็นเมือง 'ชิค CHIC'

ภูเก็ตเป็นเมือง 'ชิค CHIC'

หากคำว่าชิค (Chic) แปลว่า เก๋ไก๋ ภูเก็ตคงไร้ข้อกังขาหากได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองเก๋ๆ แต่นอกจากความเก๋ยังมีอะไรอีกมากมายให้ค้นหา

หากคำว่า ‘เกาะสวรรค์’ ดูคล้ายเป็นเรื่องเหนือจริง แต่ความมหัศจรรย์ของเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในไทยเกาะนี้น่าจะทำให้ ‘ภูเก็ต’ เข้าใกล้คำว่า ‘เกาะสวรรค์’ มากทีเดียว

            ความมหัศจรรย์ของเกาะภูเก็ตไม่ใช่สิ่งพิเศษเหนือธรรมชาติ แต่คือความหลากหลายที่ถูกรวบรวมไว้ในพื้นที่ 576 ตารางกิโลเมตรอย่างที่เรียกว่า “กำลังดี”

ภูเก็ตโด่งดังในฐานะเมืองท่องเที่ยวมานานมาก สำหรับผมก็ตั้งแต่จำความได้ ทำให้พอได้ยินชื่อจังหวัดภูเก็ตทีไรก็จะนึกถึงความคึกคักยามราตรี บางทีก็นึกถึงน้ำทะเลใสๆ หาดทรายขาวๆ มีฝรั่งในชุดบิกินีเดินเล่นท้าแดดท้าลม

            หลังจากนั้นภูเก็ตในการรับรู้ก็เปลี่ยนแปลงไปแบบขึ้นๆ ลงๆ ดีๆ ร้ายๆ คล้ายระดับน้ำทะเลอันดามัน เพราะมีหลากหลายเรื่องราวเกิดขึ้นโดยมีฉากหลังคือภูเก็ต แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับเกาะแห่งนี้ ภูเก็ตก็ยังเป็นเมืองชิคๆ สำหรับนักท่องเที่ยวเสมอ

“C” Culture

            แม้จะเป็นดินแดนทะเลใต้ แต่ภูเก็ตกลับมีกลิ่นอายเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนจังหวัดภาคใต้หลายๆ จังหวัด คือ เป็นผลลัพธ์ของสมการระหว่างไทย จีน มลายู และตะวันตก วัฒนธรรมที่เจืออยู่ในหลายอย่างจึงค่อนข้างหลากหลายและน่าสนใจ

            อิทธิพลจากชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาตั้งรกรากในภูเก็ตดูจะชัดเจนที่สุดแม้ในทุกวันนี้ เช่นเรื่องใกล้ปากท้องอย่างอาหารการกิน บะหมี่ฮกเกี้ยน คือคำตอบที่ถูกต้องทั้งชื่อและสรรพคุณ เหตุที่บะหมี่ฮกเกี้ยนเป็น Local food ขนานแท้แม้จะไม่ได้ต่อท้ายด้วยคำว่าภูเก็ต ก็เพราะเกาะแห่งนี้เป็นเส้นทางการเดินเรือมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ในชื่อ แหลมจังซีลอน ราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เกาะภูเก็ตมีการทำเหมืองเกือบครึ่งเกาะ ซึ่งการทำเหมืองต้องใช้แรงงานกุลีจีนจำนวนมาก จึงเกิดการอพยพของชาวจีนฮกเกี้ยนเข้ามายังภูเก็ต จนเกิดการผสมทางวัฒนธรรมเรียกว่า ‘ภูเก็ตฮกเกี้ยน’ ในที่สุด

            กลับมาที่เรื่องหมี่ฮกเกี้ยน ที่โด่งดังในแวดวงนักชิมต่างถิ่นก็ไม่พ้น ร้านหมี่ต้นโพธิ์, ร้านหมี่โกลา ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นหมี่เหลืองกลม มีขนาดใหญ่กว่าเส้นหมี่ธรรมดา ลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับเส้นโซบะของญี่ปุ่น หมี่ฮกเกี้ยนที่ขายกันมีทั้ง หมี่ฮกเกี้ยนน้ำและแห้ง แต่ที่นิยมกันมากก็คือ หมี่ฮกเกี้ยนผัด โดยผัดแบบมีน้ำขลุกขลิก พร้อมกับใส่เนื้อหมู ปลา ปลาหมึก และไข่ เวลารับประทานควรใส่หอมแดงและพริกป่นลงไปด้วย

            พูดถึงเรื่องวัฒนธรรมการกินแล้ว ภูเก็ตขึ้นชื่อลือชาว่ามีเทศกาลกินเจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แม้ว่าระยะหลังๆ หลายพื้นที่กำลังตีตื้นขึ้นมาบ้างแล้ว ประเพณีถือศีลกินผัก (กินเจ) ที่ชาวบ้านและชาวจีนในภูเก็ตเรียกกันว่า ‘เจี๊ยะฉ่าย’ นั้นเป็นของลัทธิเต๋า ซึ่งนับถือบูชาเซียน เทพเจ้า วีรบุรุษ เป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน มีวันประกอบพิธีตรงกับวัน 1 ค่ำถึง 9 ค่ำ ตามปฏิทินจีน

            สำหรับศาลเจ้าต้นตำรับประเพณีกินเจจังหวัดภูเก็ตก็คือ ศาลเจ้ากระทู้ ศาลเจ้าแรกของเมืองภูเก็ต และมีประวัติความเชื่อเล่าสืบทอดต่อกันมาว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีคณะงิ้วจากเมืองจีนมาเปิดการแสดงงิ้วที่หมู่บ้านไล่ทู (ในทู) ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านกระทู้ อยู่นานแรมปี แล้วเกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจและสร้างศาลเจ้าเพื่อสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นโรคภัยที่เป็นอยู่ก็หายจนหมดสิ้น ชาวกระทู้จึงเกิดความเลื่อมใสปฏิบัติตาม

“H” History

            ในอดีตภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ อาณาจักรศรีวิชัย มาจนถึงสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราชเรียกเกาะภูเก็ตว่า เมืองตะกั่วถลาง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น พระเจ้าปดุง กษัตริย์ของประเทศพม่าได้ให้แม่ทัพยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เช่น ไชยา นครศรีธรรมราช และให้ยี่หวุ่นนำกำลังทัพเรือพล 3,000 นาย เข้าตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง ซึ่งขณะนั้นพญาพิมลอัยาขัน เจ้าเมืองถลาง เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงจัน ภรรยา และคุณมุก น้องสาว จึงรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่าจนชนะเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ‘ท้าวเทพกระษัตรี’ และคุณมุกเป็น ‘ท้าวศรีสุนทร’

            หลังจากนั้นในยุคชาติตะวันตกล่าอาณานิคม กลิ่นหอมเครื่องเทศและแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ของอุษาคเนย์ดึงดูดให้ชาติตะวันตกรุกราน หลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ยังหลงเหลือร่องรอยของยุคล่าอาณานิคม โดยเฉพาะเมืองเก่าภูเก็ตคือพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง

            ที่ภูเก็ตเมื่อหลายปีก่อน (กว่าร้อยปี) ชาวจีนจำนวนมากโล้สำเภาเข้ามาเทียบท่าดินแดนจังซีลอนแห่งนี้ บางคนคือพ่อค้าวาณิชย์ บางคนคือกรรมกรผู้ใช้แรงงาน และแน่นอนว่ามีอีกหลายคนที่เป็นนักการศึกษา มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาการศึกษา ณ แผ่นดินที่มาตั้งรกรากอาศัยอยู่

            ไม่กี่ครั้งนักที่ผมได้ไปเยือนภูเก็ต แต่แทบทุกครั้งผมไม่พลาดเดินตามตรอกออกตามซอย แวะดูนั่น แหงนมองนี่ เพราะสถาปัตยกรรมย่านเมืองเก่า ทั้งที่ถนนดีบุก ถนนถลาง ถนนเยาวราช ถนนพังงา ฯลฯ งดงามจนยากจะก้มหน้าไม่ชายตามอง

            บ่อยครั้งที่การเดินเท้าชมเมืองภูเก็ตดำเนินไปอย่าง ‘หลงๆ’ แต่นั่นก็เป็นผลดีที่ทำให้ได้แวะเวียนยังสถานที่ซึ่งไม่ได้อยู่ในหัวเลยแม้แต่น้อย พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว คือแห่งหนึ่ง

สำหรับลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีน (หรือไม่ใช่ก็ได้) ที่อยากรู้จักแก่นแท้ของ ‘ฮ่ายหลง’ (แปลว่ามังกรทะเล สมญานามของเกาะภูเก็ต) พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวรวบรวมไว้หมด โดยเน้นที่เรื่องราวการอพยพของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งจัดแสดงผ่านนิทรรศการ 14 ห้อง ภายในตึกเก่าสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน (คือผสมผสานความเป็นยุโรปมากกว่าแค่โปรตุเกส) อดีตโรงเรียนจีนเก่าแก่ที่อุดมด้วยประวัติศาสตร์ด้านการศึกษา โดยมีมูลนิธิล็อกเซี่ยนก๊กเป็นผู้ดูแลมาแต่ดั้งเดิม

มูลนิธิล็อกเซี่ยนก๊กเป็นมูลนิธิที่สนับสนุนการศึกษาภาษาจีนมากว่า 100 ปี ปัจจุบันบริหารโรงเรียนภูเก็ตไทยหัว พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว และโรงเรียนหัวเฉียวภูเก็ตไทยหัวอินเตอร์ สำหรับโรงเรียนภูเก็ตไทยหัว เป็นมรดกทางการศึกษาภาษาจีนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างพื้นฐานไว้ให้คนรุ่นหลังได้บ่มเพาะเป็นคนคุณภาพ ภายในพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวจึงมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบุคคลสำคัญแห่งล็อกเซี่ยนก๊กให้ได้ศึกษาถึงความมานะพยายามส่งเสริมการศึกษาให้แก่ลูกหลานพันธุ์มังกรที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาลงหลักปักฐานบนแผ่นดินนี้

“I” Identity

            “เสน่ห์ของภูเก็ตคือความหลากหลาย ทั้งธรรมชาติที่สวยงาม ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ที่เราค่อนข้างมีเอกลักษณ์ น่าสนใจ” เป็นคำกล่าวของ อโนมา วงษ์ใหญ่ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานภูเก็ต ชี้ชัดว่าภูเก็ตเป็นศูนย์กลางความหลากหลายที่ผสมกลมกลืนจนกลายเป็นเสน่ห์แบบภูเก็ตๆ

            บ้าบ๋า-ย่าหยา (หรือชาวเปอรานากัน) คือตัวอย่างของความหลากหลายที่มาบรรจบกันพอดี เพราะกลุ่มคนที่เรียกว่า บ้าบ๋า-ย่าหยา คือลูกครึ่งชาวมลายู-จีน ที่ดึงข้อดีของสองวัฒนธรรมมาทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่

            บ้าบ๋า (Baba) เป็นภาษามลายูที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เซีย ใช้เรียกชายชาวเปอรานากัน ส่วน ย่าหยา (Nyonya) เป็นภาษาชวาที่ยืมมาจากภาษาดัตช์ คำว่า Dona หมายถึง ผู้หญิงต่างชาติที่แต่งงานแล้ว คำว่าย่าหยาจึงใช้เรียกหญิงชาวเปอรานากัน ซึ่งบรรพบุรุษของคนกลุ่มนี้อพยพมาจากปีนังและมะละกา ประเทศมาเลเซีย

            แม้การอพยพจะผ่านมาเนิ่นนาน และเชื้อสายของบ้าบ๋า-ย่าหยา ในปัจจุบันเจือจางจนแทบจะเหลือแค่ความเป็นจีน แต่เรายังเห็นอัตลักษณ์ของภูเก็ตแบบนี้ได้จากหลายอย่าง เช่น การแต่งกาย (ที่เห็นแน่นอนคือพนักงานโรงแรมที่มีความบูทีค) หรือสถาปัตยกรรมบ้านเรือน อย่างในย่านเมืองเก่า หากสังเกตจะเห็นว่าอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่เรียกกันว่า ‘เตี้ยมฉู่’ แปลว่าตึกแถว ด้านหน้าของแต่ละคูหามี ‘หง่อคาขี่’ ลักษณะเป็นช่องทางเดินผ่านหน้าบ้านให้คนเดินเท้าได้ใช้เป็นที่กันแดดกันฝน แสดงถึงน้ำใจของคนสมัยก่อน แล้วยังสะท้อนถึงตัวตนของชาวภูเก็ตอีกด้วย

            เรื่องอัตลักษณ์ของภูเก็ตไม่ได้มีแค่มุมที่เป็นคนหรือเชื้อชาติ แต่ ผอ.ททท.ยังบอกด้วยว่าที่รอบๆ ชายขอบเกาะภูเก็ตมีชุมชนมากมายน่าสนใจ และพร้อมรับนักท่องเที่ยว ที่นั่นมีทั้งวิถีชุมชนชาวประมง ชุมชนชาวมุสลิมที่มีประเพณีเป็นเอกลักษณ์ มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น เพ้นท์ผ้าบาติก ดูชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชัง เรียนรู้การปลูกป่าโกงกาง ออกเรือหาปลา มีฟาร์มนมแพะ มีสับปะรดภูเก็ตที่เป็นของดีของเด็ดคู่ภูเก็ตมาอย่างยาวนาน

“C” Colorful

            ภูเก็ตเป็นเมืองแสงสีที่ศิวิไลซ์ก่อนใครเพื่อนในละแวกเดียวกัน ตั้งแต่รู้ความ แสงระยิบระยับก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายถึงจังหวัดนี้ไปโดยไม่รู้ตัว แต่หลังจากได้สัมผัสภูเก็ตอย่างถ่องแท้ แสงสีที่ว่ากลับไม่ใช่แสงไฟจากผับบาร์ ทว่าเป็นแสงและสีของสถาปัตยกรรมที่ทอประกายทั้งกลางวันกลางคืน โดยไม่ได้อวดโฉมแค่ความงามภายนอก แต่สอดแทรกวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี ที่สืบทอดกันมา

            และไม่นานมานี้สีสันของภูเก็ตก็ยิ่งจัดจ้านไปกันใหญ่ ด้วยผลงานศิลปะริมถนนที่ไปปรากฏอยู่ตามมุมต่างๆ ในเมืองภูเก็ต ผลงานศิลปะริมถนน หรือ Street Art เหล่านี้เป็นผลงานของศิลปินชั้นนำของประเทศไทย ภายใต้โครงการ F.A.T Phuket (Food Art Old Town) 12 ผนัง 12 ภาพ 12 วิถีชาวภูเก็ต ในเขตเมืองเก่า

            โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของกลุ่ม So Phuket ซึ่งเป็นการรวมตัวของลูกหลานชาวภูเก็ตและศิลปินสตรีทอาร์ทชั้นนำของเมืองไทย เพื่อสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ที่ภูเก็ตได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจาก UNESCO ได้รับคัดเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร ภาพทั้ง12 ภาพ จึงสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อสะท้อนวิถีคนภูเก็ตที่ผูกพันกับอาหารในเทศกาลต่างๆ หรือโอกาสต่างๆ และภาพเด็กน้อยสามตา ที่ตึกธนาคารชาร์เตอร์ถือเป็นผลงานชิ้นแรกของโครงการนี้

            สำหรับผลงานชิ้นแรกเป็นผลงาน Alex Face หรือ พัชรพล แตงรื่น เป็นรูปน้องมาร์ดี เด็กน้อยสามตา หน้าบึ้ง 2 ตัว ที่ผนังตึกธนาคารชาร์เตอร์ สะท้อนวิถีชีวิตชาวภูเก็ต บอกเล่าเรื่องราวการคลอดบุตรแบบภูเก็ต ซึ่งบ้านที่มีลูกชายครบหนึ่งเดือน จะถือเสี่ยหนา (ปิ่นโต) ที่มีอิ่วปึ่ง ไข่ต้มย้อมสีแดง และขนมอั่งกู้สีแดงสด นำไปแจกจ่ายตามบ้านเรือนของญาติๆ ส่วนตาสามสีบ่งบอกถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ของคนภูเก็ตที่อยู่ร่วมกันได้ และมีเข็มกลัดปิ่นตั้ง ซึ่งเป็นเข็มกลัดโบราณที่ชาวภูเก็ตใช้ตกแต่งเสื้อผ้าเวลาออกงาน

            แต่ถ้าใครไปตอนนี้แล้วไม่เจอเด็กน้อยสามตาทั้งสองตัวบนผนังธนาคารชาร์เตอร์แล้ว ไม่ต้องตกใจ เพราะถูกสั่งให้ลบทิ้งไปแล้วอย่างน่าเสียดาย โดยที่ Alex Face ขอลงมือทาสีทับด้วยมือตัวเอง

            แต่ก็ยังมีผลงานอีกหลายภาพให้ได้ชมกัน อย่างเช่นผลงานชิ้นที่สอง ฝีมือ Alex Face เช่นกัน เป็นรูปน้องมาร์ดีในเต่าสีแดง ตรงผนังปากซอยรมณีย์ (ขนมเต่าแดง” หรือ “อั่งกู้” เป็นสัญลักษณ์ของงาน “ผ้อต่อ”) แสดงเป็นเครื่องหมายแห่งการมีอายุยืน และสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาล

            “สตรีทอาร์ทเป็นเส้นทางที่เชิญชวนให้คนมาเที่ยวเมืองเก่า คนรุ่นใหม่ชอบถ่ายภาพ เราจึงกระจายสตรีทอาร์ทไปตามจุดต่างๆ ซึ่งควรจะเดินชมมากกว่าขับรถ พอคนเดิน เขาก็คงไม่มุ่งไปแค่แต่ละที่ แต่เขาจะได้เดินผ่านเห็นชาวบ้าน เห็นชุมชน เห็นร้านค้า จะเกิดการกระจายรายได้มากขึ้น คนที่อยู่ในย่านนี้ก็มีรายได้มากขึ้น” อโนมา วงษ์ใหญ่ ได้บอกไว้

          หากคำว่าชิค (Chic) แปลว่า เก๋ไก๋ ภูเก็ตคงไร้ข้อกังขาหากได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองเก๋ๆ แต่ที่ยิ่งกว่าความเก๋ คือ ภูเก็ตมีทุกอย่างที่เมืองอื่นมีและไม่มี เป็นเมืองที่รวมความหลากหลายแตกต่างได้อย่างลงตัว