'พลเมืองเสวนา' เทคะแนนไม่รับร่างรธน. 89.2%

'พลเมืองเสวนา' เทคะแนนไม่รับร่างรธน. 89.2%

"พลเมืองเสวนา" เทคะแนนไม่รับร่างรธน. 89.2% ไม่เอาส.ว.เลือกนายกฯ 92.6% ชำแหละเนื้อหาการศึกษาตามร่างรธน.ขาดการกระจายการศึกษาที่มีคุณภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “บ่องตง ประชามติ เทไม่เท” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายพลเมืองเสวนา เพื่อวิพากษ์ถึงรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติก่อนการตัดสินใจออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นปราบทุจริต, ประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ, ประเด็นสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค, ประเด็นการศึกษา, ประเด็นสิทธิและเสรีภาพ และคำถามประกอบการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีตัวแทนของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นร่วมเวที โดยในช่วงบ่าย มีหัวข้อเกี่ยวกับประเด็นการศึกษา, ประเด็นสิทธิและเสรีภาพและคำถามประกอบการลงประชามติ   

โดยนายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติขาดมุมมองที่ทำเพื่อลดระดับความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพการศึกษา เพราะในเนื้อหาของบทบัญญัติมองเพียงแค่การลงทุนจำนวนมาก แต่ได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตนมองว่าประเด็นดังกล่าวคือการเน้นการสงเคราะห์มากกว่าการกระจายคุณค่าการศึกษาหรือปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรม และทำให้ติดกับดักของการกดขี่ทางชนชั้นมากกว่าคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้ ทั้งนี้ในบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ปรับเปลี่ยนการเรียนฟรีจากระดับก่อนวัยเรียน หรืออนุบาล จนถึงระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 แทนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพราะเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งกรณีการขยายการเรียนฟรี แต่ตัดการศึกษาฟรีระดับมัธยมตอนปลาย หรือระดับอาชีวะออก ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของสังคมไทย ที่ต้องการการลงทุนเพื่อการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ใช่มองเฉพาะประเด็นว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากแต่ไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ตนมองว่าการมีประสิทธิภาพการศึกษาคือการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม สำหรับการดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลแทนการให้รัฐส่วนกลางแบกรับภาระไว้ผู้เดียว กรณีที่ผู้เกี่ยวข้องกังวลว่าการดูแลดังกล่าวจะไม่มีคุณภาพควรใช้วิธีประเมินผลหรือมีดัชนีชี้วัดจะเหมาะสมมากกว่า 

ด้านนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กล่าวประเด็นการศึกษาด้วยว่า บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการศึกษาถูกเขียนไว้อย่างเหมาะสม ยกเว้นประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียว คือ การเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับที่สูงกว่านั้นซึ่งกำหนดให้ผู้ต้องการต้องยื่นความประสงค์ทางกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งที่สิทธิการเรียนฟรีเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนไม่ใช่การร้องขอการสงเคราะห์จากรัฐ ซึ่งกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญวางบทบัญญัติดังกล่าวไว้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสถาบันการศึกษาจะมากขึ้น​

ส่วนนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวในประเด็นสิทธิและเสรีภาพว่าการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนตนเชื่อว่าจะนำรายละเอียดในบทเฉพาะกาลมาพิจารณา โดยส่วนตัวมองว่าการเขียนบทเฉพาะกาลให้ กรธ.อยู่ต่อ 8 เดือน เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ คือการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จะหมายถึงการให้ตีเช็คเปล่าให้กรธ.ไปเขียนรายละเอียดของกฎหมายตามต้องการได้ โดยประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ ขณะที่การเลือกตั้งส.ส.ครั้งแรกหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ เชื่อว่าเกิดขึ้นได้ปลายเดือนธันวาคม 2560 

ขณะที่นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัทบัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวในประเด็นคำถามประกอบการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า จากการถอดรหัสเนื้อหาของคำถามประกอบการออกเสียงประชามติ พบเนื้อความที่เข้าใจได้ง่ายว่า ในระยะ 5 ปีหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ ซึ่งกรณีที่คำถามประกอบการลงประชามติผ่านความเห็นชอบ ทำให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการสรรหาของคสช. มีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ ได้2รอบ ซึ่งรวมเวลาบริหารของรัฐบาลทั้งสิ้น 8 ปี โดยมีความเป็นไปได้ว่าบุคคลที่จะถูกเลือกจะเป็นผู้ที่มีอำนาจปัจจุบันต้องการ เพราะมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นบุคคลที่ทำให้การปฏิรูปมีความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่รัฐบาลคสช. ได้กำหนดไว้แล้ว ขณะที่การเผยแพร่เอกสารชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่ามีหลายประเด็นที่ไม่ได้บอกให้ประชาชนรับทราบ อาทิ ที่มาของส.ว. ชุดแรก ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือข้าราชการสามารถดำรงตำแหน่งได้ รวมถึงบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ประชาชนไม่สามารถเห็นรายชื่อก่อนตามที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญกำหนด เพราะเมื่อคำถามประกอบการออกเสียงที่ให้สิทธิ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ได้รับความเห็นชอบเงื่อนไขดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าจะบังคับใช้ได้หรือไม่    

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของเวทีเสวนา มีกิจกรรมจำลองการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และลงมติผ่านทางแอพพลิเคชั่นพีเพิล โพลล์ ไทยแลนด์ เป็นเวลา 3 นาที โดยประเด็นการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ผลปรากฎว่ามีผู้ร่วมลงมติ 68 คน ซึ่งลงมติเห็นชอบ 59 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4 คน, ไม่เห็นชอบ 89.2 เปอร์เซ็นต์ หรือ 60 คน และไม่ไปใช้สิทธิ 2.9เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 คน ขณะที่คำถามประกอบการออกเสียงประชามตินั้น ผลปรากฎว่า เห็นชอบ 4.4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3 คน, ไม่เห็นชอบ 92.6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 63 คน และไม่ไปใช้สิทธิ 1.5เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 คน