"ปมทะเลจีนใต้" ยังไร้ทางออก

"ปมทะเลจีนใต้" ยังไร้ทางออก

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าคำตัดสินนี้นอกจากไม่มีผลอะไรแล้ว ยังเป็นการใช้กฎหมายระหว่างประเทศผิดทิศทางและไม่เคารพประวัติศาสตร์ของจีนด้วย

หลังศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮกมีคำตัดสินให้จีนแพ้คดีอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่าจีนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป นอกเหนือจากเพิกเฉยต่อคำตัดสินนี้ ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญหลายคนกลับมองว่า คำตัดสินนี้นอกจากไม่มีผลอะไรแล้ว ยังเป็นการใช้กฎหมายระหว่างประเทศผิดทิศทางและไม่เคารพประวัติศาสตร์ของจีนด้วย

ประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย แม้ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ตัดสินล่าสุดว่าไม่มีหลักกฎหมายใดให้จีนอ้างสิทธิตั้งแต่ประวัติศาสตร์เหนือทรัพยากรในน่านน้ำทะเลจีนใต้ตามแผนที่ของตนได้ แต่จีนยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าคำตัดสินนี้ไม่มีผลตามกฎหมาย

ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านข้อพิพาททะเลจีนใต้มองว่า คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรอาจเป็นภัยคุกคามต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยนายอับราอัม โซแฟร์ นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันฮูเวอร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐ ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการไม่ได้อิงกฎหมายระหว่างประเทศ และแม้จะไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่ก็จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในเอเชียต้องหยุดชะงัก รวมถึงการเดินเรือระหว่างประเทศเหล่านี้กับจีนด้วย

นอกจากนี้ นายโซแฟร์ยังรู้สึกผิดหวังที่สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทดังกล่าว เนื่องจากสหรัฐไม่ได้เป็นสมาชิกตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล โดยเขาวิจารณ์สหรัฐว่าทำเหมือนรู้ถูกผิดมากกว่าจีน และทางออกสำหรับความขัดแย้งนี้ควรใช้วิธีทางการทูตมากกว่าใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว

ขณะที่นายหู เต๋อคุน คณบดีแห่งสถาบันพรมแดนและมหาสมุทรศึกษาของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นของจีน แสดงความเห็นว่า ศาลอนุญาโตตุลาการปฏิเสธสิทธิและประวัติศาสตร์ของจีนอย่างเลวร้าย เพราะประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เนื่องจากจีนสามารถขอให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเอกสาร บันทึก แหล่งประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่ภูเขาที่มีมาแต่โบราณได้

นายหู กล่าวอีกว่า การละเลยประวัติศาสตร์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมต่อจีนเป็นอย่างมาก และศาลอนุญาโตตุลาการยังตัดสินโดยขาดความเข้าใจในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลอย่างถ่องแท้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวของศาลครั้งใหญ่

คดีข้อพิพาททะเลจีนใต้ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังรัฐบาลฟิลิปปินส์สมัยของประธานาธิบดีเบนิโญ อาคีโน ยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการถาวรเมื่อปี 2556 เพื่อขอให้มีการพิจารณาและวินิจฉัยว่า “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” ที่รัฐบาลปักกิ่งใช้อ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้เป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล จนสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงแก่จีน

ด้านประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบันอย่างนายโรดริโก ดูเตอร์เต ประกาศพร้อมจะเจรจากับจีน หากทำความตกลงกันไม่ได้ภายในสองปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม นายดูเตอร์เตได้อ้างว่า บริเวณหมู่เกาะที่มีความขัดแย้งกันนั้นเป็นของฟิลิปปินส์ ไม่ใช่ของจีนแต่อย่างใด

การที่พื้นที่ทะเลจีนใต้มีหลายประเทศเข้าไปอ้างกรรมสิทธิ์ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเส้นทางที่มีเรือสินค้าจำนวนมากเดินทางผ่าน ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 175 ล้านล้านบาทต่อปี อีกทั้งเป็นแหล่งการประมงที่สำคัญ และเชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล

แม้คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรไม่มีอำนาจบังคับ แต่ถือเป็นชัยชนะของฟิลิปปินส์ และอาจกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ ที่อ้างสิทธิทับซ้อนในทะเลจีนใต้ยื่นเรื่องร้องเรียนในลักษณะเดียวกัน