'มหากาพย์ทุจริตคลองด่าน' .. ยังไม่จบ

'มหากาพย์ทุจริตคลองด่าน' .. ยังไม่จบ

รายงาน "มหากาพย์ทุจริตคลองด่าน" .. ยังไม่จบ

เป็น“ประเด็นร้อน” ขึ้นมาอีกครั้ง กับ “มหากาพย์คลองด่าน”...เมื่อ "คณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. " ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ในการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากโครงการออกแบบร่วมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ(คดีคลองด่าน) ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ ตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องจ่ายให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าNVPSKG จำนวน2งวดรวมเป็นเงิน 4,761,872,349.06บาทและอีก32,576,783.10เหรียญสหรัฐฯ

โดยแบ่งเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินงวดที่2เป็นเงิน2,380,936,174.53บาทและอีก16,288,391.55เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจ่ายในวันที่21พ.ค.นี้ และสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินงวดที่3เป็นเงินจำนวน2,380,936,174.53บาทและอีก16,288,391.55เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจ่ายในวันที่21พ.ย.นี้ ซึ่งเป็น “ค่าโง่” จำนวนมหาศาลที่รัฐต้องเอาภาษีของประชาชนมาจ่ายให้กับเอกชน

นอกจากนี้ ปปง. ยังมีหนังสือให้กิจการร่วมค้าฯเข้าชี้แจงแสดงหลักฐานภายใน30วัน เพื่อแสดงความสุจริตในการเข้าเป็นคู่สัญญาก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน รวมทั้งจะทำหนังสือไปถึงกรมควบคุมมลพิษให้ระงับการจ่ายเงินค่าโง่งวดที่2และ3

คราวนี้มา “ย้อนรอย” โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน กันหน่อย ..โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ดำเนินการโดยกรมควบคุมมลพิษโดยนายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้จ้างบริษัทกิจการร่วมค้า NVPSKG ดำเนินโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 75/2540 ลงวันที่ 20 ส.ค.2540 มูลค่าโครงการ 2.2 หมื่นล้านบาท

ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการเมื่อปี 2546 และคณะกรรมการได้มีการตรวจสอบและสรุปรายงานว่า ขณะทำสัญญา ไม่มีบริษัทNWWI เป็นส่วนหนึ่งของกิจการร่วมค้า เพราะถอนตัวออกไปก่อนหน้านั้นแล้วและทางราชการสำคัญผิดว่าคู่สัญญามีบริษัทผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านร่วมอยู่ด้วยจึงได้ยกเลิกสัญญากับบริษัทดังกล่าว

วันที่ 28 ก.พ. 2546 นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือยกเลิกโครงการอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ ทำให้ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ชนะคดี โดยให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินกว่า 9 พันล้านบาทให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และต่อมาทางกลุ่มกิจการร่วมค้าได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

21 พฤศจิกายน ปี 2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ชำระเงินค่าจ้างและค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 9,058,906,853.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรวม 6 บริษัท ที่ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ในคดีโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ หรือโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อ 12 มกราคม 2554 ที่ให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงิน ค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยให้กับ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG 6 บริษัท เป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท

ต่อมา 17 พฤศจิกายน ปี 2558 คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติอนุมัติงบกลางตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อชำระเงินให้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ที่ิพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ย ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ

ทั้งนี้ ครม.ให้มีการเจรจาและแบ่งชำระเป็น 3 งวด ประกอบด้วย งวดที่ 1 จำนวน 40% ภายใน 21 พ.ย. 58 เป็นเงินบาทจำนวน 3,174,581,566 บาท เป็นเงินเหรียญสหรัฐ 21, 717,855 เหรียญ ,งวดที่ 2. ชำระ 30% ภายใน 21 พ.ค. 59 เป็นเงินบาท 2,380,936,174 บาท เป็นเงินเหรียญสหรัฐ16,288,391 เหรียญ ,งวดที่ 3 จำนวน 30% ภายใน 21 พ.ย. 59 เป็นเงินบาท 2,380,936,174 บาท เป็นเงินเหรียญสหรัฐจำนวน 16,288,391 เหรียญ ทั้งนี้เงินเหรียญสหรัฐให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย 7 วัน ก่อนวันที่ทำการชำระ

แต่เมื่อวานนี้ (11 พ.ค) ปปง. ได้มีมติให้อายัดเงินที่รัฐยังไม่ได้จ่ายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG จำนวน 2 งวด โดยอ้างถึงคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.58 ที่ ศาลได้อ่านคำพิพากษา คดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

โดยคดีดังกล่าวเป็นคดีที่ี่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ฟ้องนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ,นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อายุ 64 ปี อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการคัดเลือก ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดซื้อ ทำ จัดการรักษาทรัพย์ใดๆ, ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ซึ่งศาลพิเคราะห์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสาม ที่เลือกดำเนินการเกี่ยวกับโครงการไปในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นถึงการวางแผนและดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์นับแต่ให้ที่ดินของบริษัท คลองด่านฯ ได้รับคัดเลือกนำมาใช้ในโครงการ ร่วมกันปกปิด และบิดเบือนสร้างราคาที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีผลเกี่ยวเนื่องให้กิจการร่วมค้าNVPSKG เข้ามาเป็นคู่สัญญาก่อสร้างโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ แสดงให้เห็นว่าชัดแจ้งว่า กลุ่มเอกชนร่วมกันบิดเบือน และปกปิดข้อเท็จจริงการเสนอแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต แล้วเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีจำเลยทั้งสามรวมอยู่ด้วยกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าร่วมมือกัน เป็นการกระทำโดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือกัน ทำให้โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กับกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสาม ทำให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 20 ปี

ประเด็นอยู่ที่ว่า การที่ ปปง.อ้างถึงคำพิพากษาของศาลอาญาดังกล่าว ที่ว่า จากข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าสัญญาโครงการคลองด่านเกิดขึ้นจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐสมคบกับกิจการร่วมค้าฯสัญญาที่เกิดขึ้นจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและต้องตกเป็นโมฆะ จึงไม่ต้องจ่ายเงินงวดที่ค้างชำระที่เหลือ 2 งวด รวมทั้งเงินงวดแรกที่รัฐจ่ายให้กับบริษัทเอกชน ไปแล้ว ต้องรอจนคดีถึงที่สุด จึงค่อยเรียกคืนนั้น ปปง. มีอำนาจแค่ไหน และขัดกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯหรือไม่

เรื่องนี้ “แหล่งข่าว”ระบุว่า ปปง.มีอำนาจสั่งอายัดเงินที่เหลืออีก 2 งวด ได้ เนื่องจากศาลอาญาได้พิพากษาว่าสัญญาโครงการคลองด่านเกิดขึ้นจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐสมคบกับกิจการร่วมค้าฯ ซึ่งข้อหาทุจริต เป็นหนึ่งในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งอยู่ในอำนาจ ของ ปปง. แต่สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ก็อาจโต้แย้งว่าเป็นคนละเรื่องกัน และยื่นเรื่องให้ศาลปกครองสูงสุด บังคับตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ถึงที่สุดไปแล้วต่อไป

“ ทางแก้ หน่วยงานรัฐต้องรีบร้องต่อศาลปกครองโดยนำคำพิพากษาของศาลอาญา ที่พบพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตระหว่างบริษัทเอกชนกับเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการทุจริตโครงการคลองด่าน เพื่อให้มีการรื้อคดีกันใหม่”

งานนี้ จึงต้องรอดูหนังยาว..กันต่อ