“มาม๊า นาตา” ธุรกิจเปลี่ยนโลก ของวัยรุ่นพันธุ์ใหม่

“มาม๊า นาตา” ธุรกิจเปลี่ยนโลก ของวัยรุ่นพันธุ์ใหม่

ย้อนกลับไปสมัยเรียนมัธยม พวกเรากำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน หลายคนอาจยังค้นหาความฝัน แต่กับเด็กสาวคนหนึ่ง เธอได้เริ่มธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองขึ้นแล้ว!

สาวน้อยหน้าหวาน พูดจาฉะฉาน นำเสนอผลิตภัณฑ์ หมอนอเนกประสงค์จากยางพารา แบรนด์ ‘mama nata’ (มาม๊า นาตา) อยู่ในบูธเล็กๆ ใต้ตึกสำนักงาน เอสเอ็มอีแบงก์

เธอคือหนึ่งในธุรกิจใหม่จาก โครงการปั้นธุรกิจพิชิตเงินแสน ที่จัดโดย เอสเอ็มอีแบงก์ ร่วมกับ บมจ.เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) สามารถคว้าทุนสนับสนุน 2 หมื่นบาท พร้อมคำปรึกษาในเชิงธุรกิจและการตลาด มาสานฝันเล็กๆ ของเธอในวันนี้

สิ่งที่แตกต่างไปจากผู้ร่วมงานคนอื่น คือเด็กสาวยังอยู่ในชุดนักเรียนมัธยมปลาย เธอกำลังจะขึ้น ม.6 ที่โรงเรียน บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และกำลังเรียน Pre-degree ควบคู่กันไป ที่ คณะรัฐศาสตร์ บริหารรัฐกิจ ม.รามคำแหง มีอายุในวันที่คนอื่นเรียก “ผู้ประกอบการ” เพียงแค่ 18 ปี เท่านั้น!

“หนูได้เห็น สัมผัส และซึมซับธุรกิจของครอบครัวมาตั้งแต่เด็กๆ เลยเป็น Passion ตั้งแต่แรกว่า อยากจะมาสานต่อธุรกิจของพ่อแม่”

คำของ “โอ๋-โยษิตา เฉิน” ที่บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการคิดต่อยอดธุรกิจของครอบครัวในฐานะทายาทเพียงคนเดียวของครอบครัวที่ประกอบธุรกิจส่งออกโฟมลาเท็กซ์ธรรมชาติ จากน้ำยางพารา 100% เพื่อทำเป็น “ทอปเปอร์” (TOPPER) หรือแผ่นที่นอน ส่งออกไปไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งขั้นตอนการผลิตนั้นจะมีเศษยางพาราเหลือทิ้งอยู่มาก เธอจึงคิดนำมาก่อประโยชน์ โดยมีโจทย์คือ ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของพ่อแม่ และสามารถขยายจากตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว มาสร้างแบรนด์และขายในประเทศได้ด้วย

นั่นคือที่มาของการนำเศษเหลือของยางพารามาทำเป็น หมอนยางพาราอเนกประสงค์ ที่มีคุณสมบัติ นุ่ม รองรับน้ำหนักได้ดี ช่วยลดอาการกดทับ หมอนจะโค้งเว้าไปตามรูปศีรษะ หรือสรีระของผู้ใช้ จึงช่วยพยุงต้นคอ และช่วยเรื่องโครงสร้างของกระดูกได้ โดยพัฒนาออกมาเป็นทั้ง หมอนหนุนนอน หมอนรองคอ และเบาะรองนั่ง ฯลฯ มีราคาตั้งแต่หลักร้อย ไปจนหลักพันต้นๆ จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง Facebook : mama nata brand, ID Line:mananatabrand และ IG: @mananatabrand  ภายใต้ชื่อแบรนด์น่ารักน่าชังว่า “มาม๊า นาตา”

“หนูเรียกแม่ว่า ‘มาม๊า’ ส่วนคุณแม่ชื่อ ‘นาตา’ เลยตั้งเป็นชื่อแบรนด์ มาม๊า นาตา เพราะคุณแม่ท่านเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ และเป็นต้นแบบของหนู” ผู้ประกอบการหน้าใสบอกที่มาของชื่อเก๋

คิดทำธุรกิจตั้งแต่ยังละอ่อน แล้วจะไปเอาความรู้ที่ยากๆ มาจากไหน เด็กสาวบอกเราว่า มีคุณพ่อคุณแม่เป็นเหมือน “โค้ช” ช่วยแนะนำการทำธุรกิจ และเรื่องออกแบบดีไซน์ให้ ส่วนการนำตัวเองเข้าประกวดในเวทีต่างๆ ก็เพื่อหาองค์ความรู้จากเหล่าผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ มาช่วยก่อประกอบความฝันให้เป็นรูปร่างรวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเขียนแผนธุรกิจ หรือการตลาด เธอก็หาคำตอบได้จากประสบการณ์ของผู้รู้เหล่านี้

ในวันที่คนอื่น คิดแต่เรื่องธุรกิจ ทำอย่างไรถึงจะคืนทุนได้ไว วิธีไหนถึงจะได้กำไรสูงสุด แต่กับน้องโอ๋ เธอมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจควบคู่ไปกับการทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วย

“อยากให้ธุรกิจเป็นแบบผสมผสาน คือ ในส่วนของตัวธุรกิจก็ควรเป็นธุรกิจที่มีกำไร ประกอบการให้ประสบความสำเร็จ แต่ว่าส่วนไหนที่พอจะช่วยสังคมได้ ก็อยากจะช่วยด้วย”

นั่นคือที่มาของการไม่เลือกจ้างโรงงานผลิตช่วยทำปลอกหมอน แต่เลือกกระจายงานให้กับชุมชนรอบข้าง โดยว่าจ้างกลุ่มแม่บ้านในย่านชุมชนสะพานสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มาช่วยตัดเย็บให้ ส่วนผ้าที่นำมาทำปลอกหมอน และผ้าหุ้มเบาะ ก็เน้น “ผ้าไทย” เพื่อสนับสนุนวัตถุดิบในประเทศ โดยปัจจุบันรับผ้ามาจาก จ.ราชบุรี เป็นหลัก

“เรากระจายงานให้กับชุมชนรอบๆ เพราะเห็นว่า เขามีจักรเย็บผ้า และเย็บผ้าเป็นกันอยู่แล้ว เขาได้งาน เราก็ได้งาน วิน-วิน ทั้งคู่ เขาได้รายได้ ส่วนเราก็ช่วยกระจายความเสี่ยงด้วย เพราะถ้าสมมติไปจ้างโรงงาน หรือลงทุนทำโรงงานเอง ที่ใหญ่เกินตัวเรา แบบนั้นความเสี่ยงจะสูง แต่แบบนี้ ไม่เสี่ยง แถมยังได้เกื้อกูลสังคมโดยอ้อมด้วย”

เธอสะท้อนความคิด ที่ทำให้ใครหลายคนมองข้ามช่วงวัยไปได้ และยังย้ำว่า ถ้าสังคมอยู่ได้ ธุรกิจก็อยู่ได้ เพราะสุดท้ายคนในสังคมก็กลับมาเป็นลูกค้า ไม่ก็กลับมาเป็นปัจจัยในการผลิตของเราอยู่ดี เพราะฉะนั้นธุรกิจและสังคมต้อง “เกื้อกูลกัน” อะไรที่พอช่วยกันได้ ก็ควรช่วย ทำเท่าที่ทำได้ โดยสามารถเริ่มจากจุดเล็กๆ เหมือนที่เธอเลือกทำในวันนี้

ระหว่างทางของการทำธุรกิจ เด็กสาวยังทำกิจกรรมอะไรหลายๆ อย่าง ไม่รวมว่า เธอยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ที่เรียนมหาวิทยาลัยไปได้แล้ว 64 หน่วยกิจ เรียนได้เกรดเฉลี่ยไม่เคยต่ำกว่า 3.5 เพราะสัญญากับคนเป็นแม่เอาไว้แล้วว่าไม่ว่าจะทำอะไร ผลการเรียนก็ต้องไม่ตก เวลาเดียวกันเธอยังเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง เป็นเยาวชนดีเด่น ที่ได้รับรางวัลมานับไม่ถ้วน

การเลือกทำอะไรหลายๆ อย่าง ไปมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน เธอให้เหตุผลว่า เพราะต้องการเป็นคนที่ ‘รู้รอบ และรอบรู้’ มีความรู้ที่นอกเหนือไปจากตำราเรียน เป็นความรู้ที่ได้เจอจากชีวิตจริง และประสบการณ์จริงๆ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เกิดจากการแสวงหามาทั้งนั้น

ส่วนที่ไม่รอทำธุรกิจเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยเสียก่อน เพราะมองว่า ต้องการเร่งเวลาให้เร็วขึ้น และเชื่อว่า อายุหรือช่วงวัย ไม่ใช่ปัจจัยแห่งความสำเร็จ แต่หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ คือสิ่งที่เรียกว่า “ความมุ่งมั่น” และ “ตั้งใจ” โดยขอให้เริ่มจากความมุ่งมั่น แล้วลองผิดลองถูก จนหาแนวทางของตัวเองได้เจอ มุ่งพัฒนาสินค้าที่ดีๆ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เวลาเดียวกันก็ต้อง ทำของดี และเกื้อกูลต่อสังคม เท่านี้ก็เชื่อว่าธุรกิจจะดำรงอยู่ต่อไปได้

“มองว่า โอกาสบางครั้งก็เข้ามาหาเรา แต่บางครั้งเราก็ต้องเข้าหาโอกาสด้วย เพราะถ้าโอกาสเข้ามา แต่เราไม่คว้าเอาไว้ หรือไม่ทำให้ดีที่สุด วันหนึ่งเราอาจมานั่งเสียดาย ที่สำคัญเวลามันผ่านไปไวมาก ฉะนั้นถ้ามีไอเดีย อย่ารอให้ไฟหมดเสียก่อน ถ้าทำได้ ให้รีบทำ” เธอบอก

หนึ่งตัวอย่างเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีความฝันและความมุ่งมั่นอยู่เต็มล้น เธอมีเป้าหมายที่ชัดเจน และอยากเดินไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เลยเริ่มออกเดินตามความฝัน  

เพื่อสร้างแบรนด์หมอนสุขภาพ “มาม๊า นาตา” ให้เป็นที่ยอมรับ และทุกคนมีโอกาสได้ใช้ ซึ่งนั่นก็เท่ากับตอบเป้าหมายสูงสุดของธุรกิจเธอได้แล้ว