'คนกันเอง'ชำแหละร่างรธน. ไร้หลักประกันแก้ปัญหาชาติได้

'คนกันเอง'ชำแหละร่างรธน. ไร้หลักประกันแก้ปัญหาชาติได้

เช็คกระแสวิจารณ์ร่างรธน. เหตุใด "คนกันเอง"รุมชำแหละ พบเนื้อหาร่างรธน. ทำแบบชุ่ย ไร้หลักประกันแก้ปัญหาชาติได้

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเบื้องต้น เพื่อรับฟังความเห็น ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน  ที่เสียงโดยมากออกมาในทางไม่ให้การตอบรับและวิจารณ์ว่าเนื้อหาแย่กว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน 

ทั้งนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มที่ออกมาโจมตีหรือวิจารณ์เนื้อหานั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิด หรือเคยทำงานร่วมกับรัฐบาล โดยนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. ตอบในประเด็นดังกล่าวว่า ในส่วนของนักวิชาการหรือกลุ่มภาคประชาชนที่ดูเหมือนเป็นคนกันเองและลุกมาวิจารณ์เนื้อหานั้น ตนมองว่าในแง่ของทฤษฎีและหลักการ ของ กรธ. และกลุ่มต่างๆ นั้นไม่มีสิ่งใดที่ขัดแย้งกัน เช่น การให้สิทธิและเสรีภาพประชาชนอย่างเต็มที่ เป็นต้น แต่สิ่งที่เป็นข้อเห็นต่างนั้น คือ เรื่องเทคนิคของการเขียนเนื้อหา ซึ่งกรธ.ตั้งใจว่าจะให้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีความสั้น และกระชับ ทั้งนี้การแสดงความเห็นของกลุ่มดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งหรือการเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน ซึ่งสิ่งที่ให้ความเห็นมานั้น กรธ. จะพิจารณานำไปทบทวน หากประเด็นใดคือสิ่งที่จำเป็นแท้จริงก็จะไม่ผูกมัดกับประเด็นการเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้นและกระชับ 

นายอุดม กล่าวด้วยว่า ส่วนกระแสวิจารณ์ที่เกิดขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถแยกแยะได้เป็น3ประเภท คือ1.จากนักวิชาการ,2.จากฝ่ายการเมือง ทั้งพรรคการเมือง, นักการเมือง และผู้ที่มีบทบาทในทางการเมือง และ3.ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีประสบการณ์ในการทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยอมรับว่าในความเห็นของนักวิชาการหรือผู้ที่เคยทำร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นส่วนที่น่าฟัง เนื่องจากได้วิจารณ์โดยชี้ให้เห็นจุดอ่อน พร้อมแสดงเหตุผลประกอบเพื่อให้เติมเต็มในส่วนที่บกพร่องเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเกิดความสมบูรณ์ ขณะที่เสียงวิจารณ์ของฝ่ายการเมือง หรือในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดโครงสร้างทางการเมืองในรัฐธรรมนูญตามที่แสดงความเห็นนั้นยอมรับว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งถือว่าขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของ กรธ. ที่เขียนเนื้อหาโดยยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก ดังนั้นสิ่งที่นักการเมืองระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญทำให้ฝ่ายการเมืองทำงานยาก จึงต้องการให้ปรับเพื่อให้ทำงานง่าย แต่การเสนอให้ปรับลดดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ของการยึดประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ

"อย่างระบบเลือกตั้งที่ฝ่ายการเมืองต้องการให้ใช้ระบบคู่ขนาน แทนระบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่ระบบคู่ขนานนั้นที่ผ่านมาพบว่าไม่ตอบโจทย์ของการเคารพเสียงทุกเสียงของประชาชน ดังนั้นกรธ. ได้คิดระบบใหม่เพื่อให้คะแนนเสียงทุกเสียงมีความหมาย แม้เสียงเหล่านั้นเสมือนเป็นผู้แพ้ ดังนั้นระบบนี้คือหลักการประชาธิปไตยที่ให้นิยามได้ว่าประชาชนทุกคน ดังนั้นสิ่งนี้คือหลักประกันว่าประชาชนทุกคนจะได้รับความสำคัญเท่ากันหมด ไม่ใช่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะไม่เลือกผู้สมัครของพรรคใด" นายอุดม กล่าว 

ทางด้านนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษา กรธ. ในฐานะอดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน มองเสียงวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า1.เป็นธรรมชาติของคน เพราะหากจำได้ช่วงที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอเนื้อหามีผู้ที่วิจารณ์จำนวนมากว่าเนื้อหาไม่ดี และเมื่อเห็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ของกรธ. ได้นำมาเปรียบเทียบกันและมองว่าร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญนั้นดีกว่ามาก ดังนั้นตนมองว่าเป็นธรรมชาติ,2.เป็นไปไม่ได้ว่าจะทำให้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญได้ถูกใจทุกคน และ3.ยอมรับว่ามีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไขเนื้อหา เมื่อนำมาเทียบกับรัฐธรรมนูญไทย ทั้งฉบับ2540และฉบับ2550มีเนื้อหาที่ดีกว่า ส่วนกรณีที่พบว่ากลุ่มบุคคลที่สนับสนุนการทำงานใดๆ ของกระบวนการกลับวิจารณ์และเลือกอยู่ฝ่ายตรงข้ามทันทีเมื่อเห็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ของกรธ. ตนมองว่าเป็นเพราะทำเนื้อหาไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ดังนั้นในกระบวนการทำงานของ กรธ. ตนมองว่าควรพิจารณาฟังเหตุและผลเพื่อประโยชน์ประชาชน ดีกว่านำเสียงวิจารณ์ต่างๆ มาปรับแก้เพื่อหวังให้ลดกระแสต่อต้าน 

ขณะที่นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ ของกรธ. ไม่เห็นที่ยอมรับ คือ1.กระบวนการทำร่างรัฐธรรมนูญขาดการมีส่วนร่วมและมีปัญหาเรื่องการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะทั้งหมด2.กรธ.ไม่ยึดหลักปฏิบัติของการทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่เนื้อหาต้องไม่ด้อยหรือลดทอนไปกว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา เช่น สิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทย ที่กรธ.ปรับรูปแบบการเขียนทำให้การมีสิทธิ เสรีภาพปวงชนชาวไทยถอยหลังไปสู่ยุค200ปี ที่ขาดหลักประกันเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รวมถึงการตรวจสอบ แม้กรธ.จะอ้างว่าเนื้อหาที่เขียนเป็นฉบับปราบโกง แต่เป็นเพียงการสร้างวาทะกรรมลอยๆ เนื่องจากไม่มีรูปธรรม ทั้งนี้ในเนื้อหาดังกล่าวมีความบกพร่อง ดูได้จากมาตรา232ที่กำหนด ให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเหนือการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เพราะมีสิทธิเข้าชื่อให้ตรวจสอบการกระทำได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจทำให้องค์กรตรวจสอบถูกขู่แบบรายวันและส่งผลให้กระบวนการปราบโกงที่กรธ.ประเมินนั้นเป็นไปไม่ได้

นายคมสัน กล่าวด้วยว่า ในประเด็นสถาบันการเมือง นักวิชาการมองว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสมนั้นทำลายพรรคเล็ก และพรรคทางเลือก และส่งเสริมให้เกิดพรรคการเมืองของระบบทุนมากกว่าเดิม ขณะที่ระบบการเลือกส.ว. ที่มีลักษณะคล้ายกับการเลือกสมัชชาปฏิรูป ช่วงของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550โดยต้องยอมรับว่าระบบดังกล่าวก่อให้เกิดการทุจริตซื้อเสียงได้ เพราะในช่วงดังกล่าวนั้นพบว่ามีบุคคลที่ยอมทุ่มเงินเพื่อให้ตนเองเข้าไปเป็นสมาชิก นอกจากนั้นแล้วเนื้อหาของกรธ. ยังมีความสับสน ก่อให้เกิดการตีความในหลายแง่มุม เช่น มาตรา265ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทำมาตรฐานทางจริยธรรมให้แล้วเสร็จภายใน1ปี หากไม่เสร็จให้พ้นไป แต่เมื่อถึงวรรคสอง กลับเขียนให้นับเวลา1ปี คือช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเข้ารับหน้าที่หลังสุด เป็นต้นดังนั้นหลายประเด็นที่กรธ.ควรทบทวน ทั้ง หลักประกันของการแก้ปัญหาในอดีตให้สำเร็จ เช่น ระบบทุนที่ครอบงำการเมืองไทยในระบบรัฐสภา ,การจัดความสมดุลระหว่างส.ส. และ ส.ว. เพื่อให้เกิดการยอมรับ ขณะที่องค์กรศาลควรยกระดับให้เกิดการปฏิรูประบบ เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาปราบโกงของประเทศที่ล้มเหลวส่วนหนึ่งเกิดจากระบบศาลที่มี่ศักยภาพ 

"ร่างของกรธ. พบความชุ่ยอยู่หลายประเด็น แม้กรธ.จะพยายามบอกว่ามาตราหรือกลไกใหม่ๆ จะเขียนรายละเอียดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนสูญ แต่จะมีหลักประกันอะไรว่าสิ่งที่เขียนนั้นเป็นไปตามบอกเล่าของกรธ.จริง ซึ่งผมมองว่านายมีชัยทำเนื้อหาออกมาแย่ และเขียนร่างรัฐธรรมนูญแบบให้เป็นไปตามยถากรรม" นายคมสัน กล่าว