'มีชัย'ลั่นร่างรธน. ทำงานรับใช้คนดี

'มีชัย'ลั่นร่างรธน. ทำงานรับใช้คนดี

"มีชัย"ถ่ายทอดสู่เจตนารมณ์"ร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับไม่ครอบคลุมโจทย์ทุกข้อของคสช. ลั่นทำงานรับใช้คนดี

สัมภาษณ์พิเศษ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้น ของ“คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)” เผยแพร่สู่สาธารณะ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื้อหา และบางฝ่ายถึงขั้นเตรียมการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นนั้นเสียให้ได้

"มีชัย"ให้สัมภาษณ์ ถึงประเด็นที่ถูกท้วงติงว่า สิ่งที่ถูกทักท้วงนั้น เมื่อมีเหตุผลพอรับฟังได้หรือเป็นประเด็นที่ทำให้“ภาคประชาชน” อุ่นใจ จะยอมปรับปรุงเนื้อหา โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่แม้ กรธ. จะปรับรูปแบบการเขียนให้เป็นภาษากฎหมาย ที่มีความสั้น แต่ครอบคลุมในเนื้อหา และยกหลักว่าด้วยสิทธิที่ประชาชนควรต้องได้รับ ให้เป็นหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นบทบังคับให้รัฐต้องทำ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อไร้ตัวอักษรในร่างรัฐธรรมนูญเหมือนที่เคยมี ทำให้ผู้ที่เคยต่อสู้ เรียกร้องด้านสิทธิเสรีภาพ ขาดความไว้วางใจกับร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นเครื่องมือที่ไว้ดูแลปวงชนชาวไทยได้

หากวิเคราะห์จากความชั้นนี้...เหมือนกับว่า “กรธ.” พยายามจูนความคิดเพื่อเข้าหา ภาคประชาชน ที่เหมือนเป็นกลไกสำคัญต่อกระบวนการออกเสียงประชามติ

แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายประเด็นที่ “อ.มีชัย” ยกตัวอย่างที่จะปรับแก้ไข ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นเหตุเป็นผล ส่วนหลายๆ มาตรการหรือกลไกใหม่ที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ระบบเลือกตั้งส.ส. ด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือ ให้พรรคการเมืองเปิดรายชื่อผู้ที่สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อสาธารณะนั้น เบื้องต้นยังยืนยันในหลักการเดิม เพราะด้วยความตั้งใจของการปรับระบบเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคะแนนเสียงของประชาชน และเกิดภาวะที่เรียกว่าพออยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสร้างความปรองดองที่ “กรธ.” ร่วมเจียระไนใส่ไว้ในเนื้อหา ขณะเดียวกันยังซ่อนเงื่อนปิดทางนายกฯคนนอก รวมถึงสกัดไม่ให้อำนาจนอกระบบสืบทอดอำนาจตนเอง

“เราให้ประกาศรายชื่อนายกฯ ล่วงหน้า สื่อให้เห็นว่าการสืบทอดอำนาจไม่มีทางแอบเข้ามาได้ เพราะการเสนอชื่อใคร ต้องทำโดยกระบวนการประชุมของพรรคการเมืองที่ผู้ถูกเสนอต้องยินยอม จากนั้นต้องประกาศให้ประชาชนทราบ ดังนั้นระยะเวลาของการประกาศไปจนถึงการตั้งรัฐบาลใช้เวลาหลายเดือน ทำให้ทุกคนรู้หมด เช่น พรรคเสนอชื่อ นายกอ หากคนเขาไม่ชอบนายกอจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่ หรืออาจเกิดกรณีที่ว่าเมื่อรู้ชื่อคนอาจแห่ต่อต้าน ไม่ให้เข้ามา ไม่เลือก ซึ่งการเปิดชื่อนายกฯ นั้น ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องรู้ เมื่อถึงเวลาเลือกจะได้คิดหนักๆ แต่มีคนถามมากว่าทำไมไม่เขียนว่านายกฯ ต้องเป็นส.ส. ก็ในเมื่อตอนที่ให้ประกาศนั้นยังไม่รู้ว่าใครจะได้ส.ส.หรือไม่ หากคนที่พรรคให้เป็นเขาไม่เป็นส.ส. หละ พรรคอาจหงายหลังตูมเลย ดังนั้นประเด็นนี้ไม่ใช่ตั้งใจสกัดพรรคใด”ประธาน กรธ.ย้ำในเจตนารมณ์ของเนื้อหา

ขณะที่ประเด็นที่ถูกมอง อำนาจของ “คปป.” (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ) มาอยู่ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นั้น “หัวเรือใหญ่ของการทำร่างรัฐธรรมนูญ”ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง พร้อมให้เหตุผลว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่การถอดแบบคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป.ตามที่เคยเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ เพราะ คปป. นั้นมีอำนาจระงับยับยั้งใครได้ทั้งหมด แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจแต่เฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้เป็นองค์กรอยู่เฉยๆ ไม่มีสิทธิลงไปล้วงหรือหยิบเรื่องใดๆ มาดำเนินการเอง หากไม่มีผู้ร้องขอ ส่วนที่ยกบทบัญญัติที่ว่าเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญใช้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เคยเขียนไว้ในมาตรา7ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ2550มาใส่ไว้ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญนั้น เพื่อให้ไม่เป็นบทบัญญัติลอยๆ และเขียนไว้ในที่ที่ควรจะอยู่

“การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติมาตรา7นั้น ไม่ใช่เป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะหากเอาเข้าจริงคนที่จะวินิจฉัยการกระทำที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อย้ายที่แล้ว เราได้เขียนกรอบไว้ให้เพื่อไม่ให้ใช้อำนาจเลยเถิด คือ.ต้องดูตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้2.หากลายลักษณ์อักษรไม่ได้เขียนไว้ต้องดูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ3.หากไม่มีตัวหนังสือ หรือเจตนารมณ์ก็หาไม่ได้ จึงให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง ดังนั้นหากเกิดกรณีอย่างสถานการณ์วิกฤตก่อนปี2557บทบัญญัตินี้จะถูกใช้เพื่อผ่าทางตันและลดวิกฤตได้” อ.มีชัย ระบุ

ส่วนคำถามเรื่องการเป็นที่ยอมรับของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรผ่าทางตัน ตามเจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะบทบาทศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ด้านหนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นเหตุเพิ่มความขัดแย้ง ตามคำอธิบายของ “ประธาน กรธ.” นั้น ระบุว่า บุคคลที่จะเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรธ. ตั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้สูงขึ้น และมีความชำนาญมากขึ้น ไม่ใช่เป็นผู้พิพากษาเพียงวันเดียวแล้วมานั่งในตำแหน่ง รวมถึงได้สร้างกระบวนการคัดเลือกที่ป้องกันไม่ให้กลไกทางการเมืองเข้าไปมีอำนาจแทรกแซง จึงมองว่าแนวทางนี้เป็นความหวังที่จะลดความแคลงใจผู้ที่กังวลได้

ดังนั้นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ “กรธ.” ได้วางกลไกต่างๆ ไว้ นาทีนี้ “อ.มีชัย” ยิ้มรับให้กับเนื้อหาที่ค่อนข้างพอใจและคิดว่าเหมาะสมกับโจทย์ความเป็นไทยแล้ว พร้อมกับสร้างกลไกที่เกิดสิทธิที่สมบูรณ์ของประชาชน ทั้งเสียงข้างน้อยที่ถูกรับฟัง, เปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่สนใจการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม ตามช่องทางของสมาชิกวุฒิสภา 

แต่ความพอใจที่ว่านั้น ยังไม่ทำให้เจ้าตัว เอ่ยได้เต็มปากว่าร่างรัฐธรรมนูญจะฝ่าด่านประชามติไปได้หรือไม่ จึงออกมาในท่าทีที่ว่าด้วยความเข้าใจหัวอกของสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ไม่ว่าจะ บอกความคาดหวังไปทางไหน มักถูกมองแบบเสียหายทั้งขึ้นและล่อง

จะว่าไปในกระบวนการชี้แจงหรือรับฟังความเห็นต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่ามีอุปสรรคใหญ่ ที่ “อ.มีชัย” ถึงขั้นออกปากว่าทำให้การทำรัฐธรรมนูญรอบนี้ที่ว่ายาก ยิ่งยากและเหนื่อยมากขึ้นไปอีก เพราะความไม่ตรงไปตรงมาของกระบวนการทางการเมือง ที่พยายามบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญด้วยการนำความเท็จมาผสมกับความจริงอย่างละครึ่ง เพื่อปิดบังความในใจที่ไม่อยากให้มีบทห้ามคนทุจริตหรือบทโหดที่รุนแรงกับฝ่ายการเมืองไว้ในเนื้อหา

"ผมมาเจอว่าเขาใช้วิธีแบบเอาความจริงส่วนหนึ่ง ผสมผเสกับความเท็จส่วนหนึ่ง เพื่อหลอกลวงประชาชน เดิมเราไม่คิดว่าจะมีแบบนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นเราต้องรับมือด้วยการพยายามบอกความจริง แต่เป็นเรื่องที่มาคิดแล้วยิ่งเสียใจนะ เพราะไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญครอบคลุมการกระทำประเภทนี้ได้"

“มีชัย” ยอมรับว่าร่างรัฐธรรมนูญธรรมนูญได้ไม่ครอบคลุมโจทย์ทุกข้อของ คสช.

“ยังขาดเรื่องทำความปรองดองในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งคิดไม่ออก ผมนำไปบอกท่านนายกฯ แล้วว่าทำได้แต่เพียงเขียนเรื่องแนวทางที่จะทำให้คนปรองดองในรัฐธรรมนูญเป็นการถาวร แต่ความขัดแย้ง ณ ปัจจุบันนั้นยังห้ามไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม "อ.มีชัย" บอกว่า คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นทางออกให้กับบ้านเมืองได้ เพราะเขียนให้ครอบคลุมไปจนถึงอนาคตที่ไม่อาจรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง โดยเขียนเปิดกว้างในช่องทางที่จะนำไปสู่การตัดสินและชี้ทางออกแห่งปัญหา โดยองค์กรที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ขออย่างเดียวทุกฝ่ายต้องไว้ใจในองค์กรนั้นด้วย

ส่วนคำถามในประเด็นที่สอบทานความรู้สึก ที่ถูกสังคมค่อนแคะว่าทำงานรับใช้ทหารนั้น “ประธาน กรธ.” บอกด้วยรอยยิ้มว่า“ไม่เป็นไร เพราะผมทำงานรับใช้คนดี โดยการทำงานรอบนี้ ไม่ใช่เรื่องสนุกหรือทำ เพราะได้ดี แต่ทำเพื่อชาติ เมื่อจำเป็นต้องทำ”

พร้อมยืนยันในตัวตนของคนกฎหมายชั้นเซียนด้วยว่า “ผมไม่มุ่งหวังหรืออยากได้ใคร่ดีทางการเมือง ดังนั้นต่อให้ห้ามไปเป็นอะไรตลอด2ปีก็ไม่มีความหมายอะไร จะห้าม10ปีก็ได้ เพราะไม่อยากเป็นอะไรแล้ว