เด็กน้อยในโลกสีหม่น

อย่าถามว่า“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” ขอแค่มีชีวิต มีคนรัก มีคนเข้าใจในสิ่งที่เป็นก็ดีที่สุดแล้ว

“หนูอยากหาย เพื่อนจะได้เล่นกับหนู อยากให้เพื่อนอยู่ใกล้ ให้เพื่อนสนใจ” เสียงแผ่วเบาส่งผ่านความรู้สึกจากหัวใจของเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แบเบาะ หลังถูกถามว่าถ้ามีพรวิเศษจากนางฟ้าเธอจะขออะไร...

อาจตัวเล็กกว่าเด็กวัยเดียวกันไปบ้าง แต่ดูจากภายนอก ‘น้องขวัญ’(ชื่อสมมติ) ไม่ได้ต่างจากเด็กทั่วไป ผิดก็แต่เพียงแววตาที่ดูไม่แจ่มใส เพราะยิ่งเติบโต คำว่า ‘เอดส์’ ก็ยิ่งเหมือนหนามทิ่มแทง แม้...หมอ ครู และคนใกล้ชิดจะบอกว่า เธอไม่ได้เป็นเอดส์ แค่มีไวรัสเอชไอวีในร่างกาย แต่เพื่อนๆ ก็ยังล้อและปฏิเสธที่จะเล่นด้วย

“เพื่อนชอบว่า ว่าหนูเป็นโรคเอดส์ หนูบอกไม่ได้เป็น บางคนก็ไม่เชื่อ เขาไม่อยากเล่นกับหนู”

นี่คือความรุนแรงทางจิตใจที่เกิดกับเด็กผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อ บางทีมันอาจทำร้ายพวกเขาได้มากว่าเชื้อโรคที่แฝงตัวอยู่ในร่างกายเสียอีก

การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม การเลือกปฏิบัติ การขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ดูเหมือนจะยังเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ถูกเขี่ยไว้ใต้พรมทั้งที่ทุกวันนี้ “เอดส์...เป็นแล้วรักษาได้”

..............

หลายทศวรรษก่อน เอดส์ถือเป็นโรคร้ายที่จบลงด้วยความทุกข์ทรมานและความตายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง สังคมตราหน้าผู้ติดเชื้อเอชไอวีว่าเป็นพวกสำส่อนทางเพศ หรือไม่ก็มั่วยามั่วเข็ม แต่ระยะหลังเมื่อก้าวหน้าทางการแพทย์สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวมากขึ้น พร้อมๆ ไปกับให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคร้ายนี้ก็ทำให้ความตื่นกลัวเรื่องโรคเอดส์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่...ไวรัสเอชไอวีไม่ได้หายไปไหน ปัจจุบันในประเทศไทยมีประชากรราว 500,000 คนที่มีเชื้อนี้ในร่างกาย พ่วงด้วยข่าวร้ายที่ว่าจำนวนผู้ได้รับเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประสิทธิภาพในการรักษาหรือการเข้าถึงยาต้านไวรัส ทว่ากลับผูกปมอยู่กับมิติทางสังคมที่ทำให้เยาวชนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ ขณะที่เด็กจำนวนมากกว่าในครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อกลายเป็นผู้โชคร้ายที่สังคมหลงลืม

ข้อมูลจากเว็บไซต์ UNICEF Thailand ระบุว่ามีเด็กประมาณ 14,000 คนที่มีเชื้อเอชไอวี และมีเด็กมากถึง 300,000 คนในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีและเอดส์ ตัวเลขนี้รวมถึงเด็กที่มีเชื้อเอชไอวี เด็กที่ต้องเป็นกำพร้าจากเอชไอวี และเด็กที่ไม่มีเชื้อแต่มีพ่อหรือแม่ที่มีเชื้อ

เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ยากจน และเข้าไม่ถึงบริการที่จำเป็นทางสังคม เช่น บริการทางสุขภาพ โภชนาการและการศึกษา หลายคนถูกรังเกียจเพียงเพราะใกล้ชิดกับคนที่มีเชื้อเอชไอวี เด็กจำนวนมากต้องอยู่ในสถานรับเลี้ยงต่างๆ ที่ห่างไกลจากครอบครัวและญาติเพราะสถานะทางด้านเอชไอวีของตน

“บางวันก็ลืมกินยา ลืมบ่อยๆ มันจะมีตุ่มขึ้น ไม่สบาย” น้องขวัญ บอก

เช่นเดียวกับเด็กผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ที่มีผู้ดูแลเป็นผู้สูงอายุเนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิต น้องขวัญถูกแม่ทิ้งไปตั้งแต่อายุได้ 3 เดือน อาศัยอยู่กับปู่ย่า หลังจากย่าเสียชีวิต ในบ้านก็มีอุ๋ย(ปู่)เป็นคนดูแลเธอและเด็กๆ วัยไล่เลี่ยกันอีก 2 คน อุ๋ยต้องทำงานหนักเพื่อหารายได้เข้าบ้าน บางครั้งก็ลืมเตือนให้กินยาต้านไวรัสซึ่งต้องกินเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ส่วนเรื่องการให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง หรือคำปลอบโยนให้กำลังใจ อุ๋ยบอกว่า..ก็พูดบ้าง

“ทุกวันตื่นเช้ามาก็ต้องหุงข้าวหุงปลาให้เขา ให้กินยาต้าน ส่งไปโรงเรียนเสร็จอุ๋ยก็ไปทำงาน ก็เป็นห่วงทั้งสุขภาพและความเป็นอยู่ เพราะตอนนี้ย่าไม่อยู่แล้ว แต่อุ๋ยไม่ไปหารายได้เพิ่มก็อยู่ไม่รอดหรอก แต่ถ้าไปทำงานวันเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องปล่อยให้เด็กๆ อยู่กันเอง เป็นห่วงแต่ไม่รู้จะทำยังไง” อุ๋ยศรี เล่าถึงชีวิตประจำวัน ก่อนจะพูดด้วยสีหน้ากังวลว่าถ้าน้องโตเป็นสาว คิดจะมีแฟน อุ๋ยยังคิดไม่ออกว่าจะพูดยังไงดี

ชะตากรรมของน้องขวัญอาจเป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ ที่สะท้อนสภาพปัญหาที่ใหญ่กว่าของเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี และเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อ ซึ่งนอกจากสุขภาพร่างกายแล้ว เงื่อนปมทางสังคมที่ถูกผูกซ้ำลงไปส่งผลให้เด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความไม่มั่นคงทางจิตใจ ขาดการยอมรับนับถือในตนเอง งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าความรู้สึกมีตราบาปนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการป่วยและมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือการแสดงออกในเชิงต่อต้านสังคม

"สถานการณ์ในบ้านเราถ้าเทียบกับเมื่อก่อน เด็กสามารถอยู่ในสังคมได้ดีขึ้น แต่อาจจะมีบางกลุ่มที่เขาไม่เข้าใจในเรื่องการอยู่ร่วม บางพื้นที่ที่ขาดการรณรงค์สร้างความเข้าใจในเรื่องของการอยู่ร่วม ทำให้เกิดปัญหา สถานการณ์ที่เราเจอในเรื่องการเลือกปฏิบัติตอนนี้ก็คือ สถานประกอบการบางแห่งยังมีการบังคับตรวจเลือดเด็กที่เพิ่งจบเพื่อหาเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ซึ่งก็มีผลต่อความรู้สึกของเด็กส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อว่าโตขึ้นจะไปทำอะไรได้

หรือสถานศึกษาบางแห่งที่เคยเจอก็คือ มีโรงเรียนของคริสเตียนแห่งหนึ่ง ไม่ขอระบุชื่อ ที่ตรวจเลือดเด็ก พอรู้ว่าเด็กติดเชื้อแล้วไม่ให้เด็กเรียน อันนี้เราก็มีกลไกการทำงานระดับประเทศที่ไปช่วยแก้ไขปัญหา คือทำให้โรงเรียนเขาเข้าใจเรื่องของการอยู่ร่วม และทำให้เขาเปลี่ยนนโยบาย ยกเลิกการตรวจเลือดเด็กในสถานการศึกษา" รจนา ยี่บัว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลและว่า...ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่การตรวจเลือดหาเอชไอวีโดยไม่ได้รับการยินยอม ถือเป็นการละเมิดสิทธิ

ทุกวันนี้ แม้ดูผิวเผินคนในสังคมจะมีความรู้เรื่องเอชไอวี/เอดส์มากขึ้น ประสิทธิภาพในการรักษาจะดีขึ้นมาก แต่ภาพสะท้อนในละครหลายเรื่องก็ยังตอกย้ำความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับผู้ป่วยเอดส์ ความไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ ที่สำคัญตัวผู้ติดเชื้อเองยังต้องเผชิญกับอคติ การแสดงความรังเกียจ หรือสถานเบาก็คือ ความเหินห่าง

โดยเฉพาะกับเด็กๆ การปฏิเสธไม่ให้เข้ากลุ่ม ล้อเลียนด่าว่า คือการลงโทษทางสังคมที่เลวร้ายที่สุด

สำหรับพวกเขาการได้รับยาต้านไวรัสจากระบบประกันสุขภาพจึงไม่ใช่ปัจจัยอย่างเดียวสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การเยียวยาทางจิตใจต่างหากที่จะประคับประคองให้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต

พิชชาพา เดชา ผู้ประสานงาน โครงการ Hope & Action อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เล่าว่าจากประสบการณ์เป็นอาสาสมัครดูแลผู้ติดเชื้อมาหลายปี เด็กๆ ในครอบครัวเหล่านี้ทั้งที่ได้รับเชื้อและไม่ได้รับเชื้อจำเป็นต้องได้รับความรักและกำลังใจ แต่ปัจจุบันสามารถดูแลเด็กๆ ในพื้้นที่เชียงดาว่ได้เพียง 25 คน 18 ครอบครัว รวมกับพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในโครงการก็เป็นจำนวนแค่หลักร้อย

"เราอยากให้เด็กอยู่ในครอบครัวอย่างอบอุ่น ไม่ต้องเอาเด็กมาอยู่กินนอน หรืออยู่สถานที่เฉพาะ เราเน้นให้อยู่กับครอบครัว ถึงแม้ครอบครัวจะยากจน หรือครอบครัวเราพ่อแม่เสียหมดแล้ว แต่อยู่กับปู่กับย่า เด็กก็จะมีความสุข

ในด้านการศึกษา โครงการจะดูแลเท่าที่เขายังเรียนหนังสืออยู่ คือเราจะมีทุนให้ทุกเดือนเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็จะมีค่าอาหารเสริมพิเศษสำหรับเด็กบางคนที่เขาติดเชื้อ แล้วก็ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนที่โรงเรียนไม่ซัพพอร์ท ก็เอาบิลมาเบิกที่เรา ส่วนผู้ปกครองที่ไม่มีเงินไปหาหมอ แบบขั้นโคม่าแล้ว ไม่มีใครมาช่วย เราก็จะช่วยพาไปหาหมอ"

ถึงอย่างนั้นการช่วยเหลือนี้ก็ยังเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ในพื้นที่เล็กๆ ที่เริ่มตั้งหลักท่ามกลางความซับซ้อนของปัญหา

“ปัญหาลึกๆ ของเขาเลยก็คือการยอมรับ บางครอบครัวที่น้องเขาไม่ได้ติด แต่พ่อแม่เขาติดก็ไม่กล้ายอมรับ ไม่กล้าบอกเพื่อน ตอนนี้่เริ่มดีขึ้นละ เหมือนมีการยอมรับมากขึ้น แต่มันก็พูดยากนะ คำว่ายอมรับ คือระยะหลังกลุุ่มผู้ติดเชื้อต้องไปยอมรับ ไปแจ้งกับส่วนท้องถิ่น เพื่อไปรับยาต้านที่โรงพยาบาล เขาก็ต้องเปิดตัว เขายอมรับกับเจ้าหน้าที่ แต่อาจไม่ยอมรับกับสังคมชุมชนก็ได้ หรือบางคนผู้ติดเชื้อยอมรับกับคนอื่นได้ แต่คนในชุมชนอาจไม่ยอมรับเขา”

สิริพร หนึ่งในเด็กสาวที่ได้รับเชื้อเอชไอวีจากแม่ เธอถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำตั้งแต่เด็ก “ตอนนั้นรู้สึกน้อยใจที่เราเป็นอย่างนี้ แต่หลังๆ มาก็คิดได้ว่า เราไม่ใช่ติดมาจากคนอื่น เราติดมาจากพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ของเรายังก็ไม่รู้เรื่องตอนนั้นมันยังไม่ยาป้องกัน ก็เลยเอาไปฝากโรงเรียน กินยาตั้งแต่อยู่โรงเรียนจนถึงปัจจุบัน”

ตอนนี้เธออายุ 21 ปี อยู่กินกับ สมชาย สามีผู้ซึ่งได้รับเชื้อเอชไอวีจากภรรยาเก่า มีลูกชายวัยกำลังซนด้วยกันหนึ่งคน เด็กไม่ได้รับเชื้อจากพ่อแม่ แต่ก็ยากเหลือเกินที่จะทำให้คนในชุมชนเชื่อ เธอว่าเคยจะเอาใบรับรองที่โรงพยาบาลมาให้ดู เขาก็ยังไม่เชื่อ ความกังวลของทั้งคู่จึงรออยู่ข้างหน้า ในวันที่ต้องบอกความจริงกับลูกชาย

“ถ้าโตมาก็จะบอกว่าพ่อแม่เป็นอย่างนี้ กลัวเขารับไม่ได้เหมือนกัน”

นอกจากความกังวลว่าลูกจะรับไม่ได้ หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงป่วยบ่อยก็ทำให้เธอเป็นห่วงอนาคตของลูกมาก เธอว่าอยากฝากไปถึงผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ ให้ป้องกันเวลามีเพศสัมพันธ์ เพราะทุกวันนี้หลายคนดูจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้้น้อยลง

พิชชาพา อาสาสมัครโครงการ Hope & Action ก็แสดงความเป็นห่วงในข้อนี้ “จริงๆ ถ้าเรามองดูสถานการณ์มันเหมือนนิ่ง แต่ถ้าเข้าไปสำรวจจริงๆ มันไม่ได้นิ่ง มันเพิ่มสูงขึ้น แล้วอายุของคนติดเชื้อมันลดลง เด็กขึ้นๆซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาติดจากผู้ปกครอง แต่มันติดมาจากที่เขาไปรับมาเอง”

เธอตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือปรากฎการณ์ด้านกลับของความไม่กลัว “สำหรับกลุ่มวัยรุ่นเท่าที่สัมผัสมา เขาเริ่มมีข้อมูลมากขึ้น รู้ว่ามียาต้าน รู้ว่าเอดส์มันไม่ได้ตายง่ายๆ ทำให้เขาแบบ..ไม่กลัว ไม่ค่อยเห็นคุณค่าตัวเอง แล้วค่านิยมสมัยนี้อยู่กันก่อนแต่งด้วยหรือเปล่าที่ทำให้มันแพร่ออกไป”

ไม่ว่าจะมาจากความไม่รู้ ไม่กลัว หรือไม่แคร์ ทั้งหมดจบลงที่การไม่ป้องกัน และนั่นไม่เพียงส่งผลให้จำนวนผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น การตั้งครรภ์โดยไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์สำหรับคนกลุ่มนี้คือการเพิ่มจำนวนทารกที่ได้รับเชื้อเอชไอวี

สถานการณ์ในลักษณะนี้คือข้อท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านในชุมชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ปริมาณของปัญหาจึงมากเท่าๆ กับตัวเลขของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลการศึกษาเรื่อง“การดูแลเด็กวัยเรียนที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่บ้านโดยผู้ดูแล” ของ ปุณณภา ศรีเมือง และ จินตนา ตั้งวรพงศ์ชัย ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า การติดเชื้อเอชไอวีเป็นประสบการณ์ในด้านลบที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กมากกว่าโรคเรื้อรังอื่น ทั้งด้านร่างกายที่ทำให้เด็กเจ็บป่วยและเสียชีวิต มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการช้า ด้านจิตสังคมและจิตวิญญาณ มีความเครียดวิตกกังวล เด็กเป็นกำพร้า ขาดผู้ดูแล สังคมรังเกียจ ขาดที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ซึมเศร้าและกลัวการเสียชีวิต

“น้องที่ติดเชื้อหลายคนไม่มีความหวัง เหมือนกับฉันจะไปทำอะไรได้ เรียนไปก็เท่านั้น ก็ฉันเป็น ต้องกินยาตลอดก็เบื่อ เรารู้สึกเป็นห่วงตรงนี้มาก” พิชชาพา เล่าสิ่งที่เธอสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ก่อนจะชวนมองทางออกว่า ความรักในครอบครัวและความเข้าใจจากคนรอบข้างคือพลังสำคัญที่จะดึงพวกเขาขึ้นมาจากขอบเหว และก้าวเดินไปตามเส้นทางแห่งความฝันเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป

“ทุกเดือนเราจะชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยให้กำลังใจ อยากให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง อยากให้เห็นว่าเขาเกิดมามีชีวิตหนึ่ง เขามีคุณค่า ก็ให้ชีวิตให้คุ้มค่า ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ ฉันจะอย่างโน้นฉันจะอย่างนี้ เราอยากแบ่งปันความหวังตรงนี้ให้น้องๆ อยากให้เขามีความหวังว่าแม้เขาเป็นผู้ติดเชื้อเขาก็สามารถทำงานได้ ให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง รักษาชีวิตตัวเอง ให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป”

ทว่า มือเล็กๆ เพียงไม่กี่มือคงไม่เพียงพอที่จะโอบอุ้มเด็กนับแสนที่กำลังเผชิญหน้ากับอคติและความสิ้นหวัง ความร่วมมือจากครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และองค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน คือเครื่องมือสำคัญที่จะต้องใช้เพื่อเยียวยาทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม

ไม่ใช่แค่ยาต้านไวรัส แต่ต้องเข้าถึงหัวใจของพวกเขา พร้อมๆ ไปกับการให้ความรู้ผู้ติดเชื้อ ต้องให้ความรู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม สุดท้ายต้องไม่ลืมเติมความรัก กำลังใจ และความหวังลงไปด้วย

 

***

รู้จักเข้าใจ HIV/AIDS

HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus หมายถึง เชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งสามารถแบ่งตัวในเซลล์ของคน เช่น เม็ดเลือดขาว เซลล์สมอง เมื่อติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อต้านเชื้อไวรัสแต่ไม่สามารถกำจัดได้หมด เชื้อยังคงอยู่ในเม็ดเลือดและแพร่ต่อไปได้และจะทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานลดลง

AIDS หรือ Acquired Immune Deficiency Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว เป็นผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำกว่าปกติ ทำให้ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่างๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ

เอชไอวีไม่ใช่โรค แต่เป็นเชื้อไวรัส ผู้มีเชื้อเอชไอวีจะไม่ใช่ผู้ป่วย เพราะยังไม่มีอาการแสดงใด ๆ ที่สัมพันธ์กับเอดส์ ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์หลังรับเชื้อ ร่างกายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เจ็บคอ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต จากนั้นจะหายไปเอง ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ นี่คือระยะที่ 1 หรือ ระยะไม่มีอาการ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้ เรียกว่า ผู้มีเชื้อเอชไอวี หรือ ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี

หากผู้มีเชื้อไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง ประกอบกับ อาจมีตัวกระตุ้นอื่น ๆ ร่วมเข้ามา เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ พักผ่อนน้อย รับเชื้อเพิ่ม ฯลฯ ระดับภูมิคุ้มกันหรือปริมาณซีดี 4 ก็จะลดลงเรื่อย ๆ และปริมาณเชื้อไวรัสอาจเพิ่มขึ้นจนเข้าสู่ ระยะที่ 2 หรือ ระยะมีอาการ ซึ่งจะเริ่มด้วยอาการสัมพันธ์กับเอดส์ เช่น เป็นไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรังไม่รู้สาเหตุ เชื้อราในปาก งูสวัด เป็นต้น ในระยะนี้ แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ไม่ว่าซีดี 4 จะอยู่ในระดับใดก็ตาม

และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสและรักษาโรคฉวยโอกาสอย่างเนิ่น ๆ ก็อาจเข้าสู่ระยะที่เป็นโรคเอดส์เต็มขั้นได้ ซึ่งภูมิคุ้มกันหรือปริมาณซีดี 4 จะลดลงต่ำมาก และเกิดโรคฉวยโอกาส เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส (Pneumocystis carinii pneumonia : PCP) วัณโรค (Tubercolosis) เชื้อไวรัสขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยเอดส์ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเอดส์สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยและควบคุมเชื้อไวรัสไม่ให้ทำลายระบบภูมิคุ้มกันได้ด้วยการกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ

(ข้อมูลจาก buddystation.org)