เจ้ากรมแสนล้าน เดินหน้าล้างภาพลักษณ์'อปท.'สีเทาสนองชาวบ้าน

เจ้ากรมแสนล้าน เดินหน้าล้างภาพลักษณ์'อปท.'สีเทาสนองชาวบ้าน

การถกร่วมกระทรวงมหาดไทย ผลของการหารือส่อแววให้มียกเลิก“อบจ.” เข้ากับเทศบาลเมือง ยกเป็น “เทศบาลจังหวัด”

ตั้งแต่ "คสช." เข้ามายึดอำนาจ เน้นการสร้างความปรองดองของคนในชาติ หนุนการปฎิรูปในหลายด้าน มีการออกคำสั่งอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยเฉพาะมาตรา 44 ที่ให้หัวหน้า คสช. หยิบมาประกาศใช้มีอยู่หลายด้าน อาทิ ด้านความมั่นคงของชาติ ด้านการจัดระเบียบสังคม ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และด้านการบริหารราชการ  

แม้แต่การประกาศต่ออายุให้กับสมาชิก “อปท.” มีการหารือกันร่วมหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นได้มีการถกร่วม “กระทรวงมหาดไทย”  ผลของการหารือส่อแววให้มียกเลิก “อบจ.”  เข้ากับเทศบาลเมือง ยกเป็น “เทศบาลจังหวัด”  แทน สมาชิกมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ให้มีสัดส่วนเท่ากัน แล้วยกเลิก “อบต.”  คงเหลือให้มีรูปแบบเดียวคือเป็น “เทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ เทศบาลตำบล”  

กระแสข่าวเป็นระยะจะมีการยุบรวมยกฐานะให้เป็นลักษณะ “เทศบาล” รูปแบบแบบเดียวเพื่อเน้นการระจายอำนาจให้สมบูรณ์แบบ ลดความเหลื่อมล้ำ สลายข้อครหาการเมืองท้องถิ่นเป็นมือไม้พวกเดียวกันกับนักการเมืองระดับชาติ ก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์การทุจริตประพฤติมิชอบและทุจริตคอรัปชั่น ภายหลังมีการก่อตั้ง “กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น” ได้มาเป็นระยะเวลา 8 ปี มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

นิยามทิศทางการแปรรูป “อปท.” เป็นอีกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่คลุกคลีกับการเมืองระดับท้องถิ่นมี “องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล” รวมเบ็ดเสร็จ 3 อปท.จำนวน 7,851 แห่งทั่วประเทศ ยกเว้น กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาที่มีลักษณะรูปแบบเป็นเขตปกครองพิเศษ  

“จรินทร์ จักกะพาก” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ( สถ.) ได้บอกเล่าสะท้อนกระแสการปรับโครงสร้างของ อปท. ในฐานะกรมที่ต้องทำหน้าที่ควบคุมดูแลเม็ดเงินงบประมาณจำนวนแสนล้านบาทในทุกปีงบประมาณที่รัฐต้องจัดสรรมาอุดหนุนให้มาว่า เรื่องนี้ต้องมองจากภายในองค์กรข้างในก่อน องค์กรส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นส่วนที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการทำงานของตัวเชื่อมระหว่างรัฐบาล เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจของรัฐลงไปยังท้องถิ่น ถือเป็นตัวกลางเอานโยบายของรัฐลงไปสู่การปฏิบัติ  

กรมการออกแนวระเบียบข้อปฏิบัติ ให้คำปรึกษากับท้องถิ่นให้เป็นองค์กรสามารถสร้างประชาธิปไตยการเมืองการปกครอง ขณะที่กรมต้องทำงานเป็นตัวกลางได้อย่างสมดุลด้วยเพื่อให้ “อปท.”สามารถสนองประโยชน์ของประชาชนตอบสนองปัญหาของชาวบ้าน ที่ผ่านมาบทบาทเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ ส่วนการกำกับดูแลเป็นของ “ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ” แล้วเราคอยเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาให้เขา  

“การกระจายอำนาจ ทำยังไงให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งนำไปสู่การตอบสนองความต้องการชาวบ้านได้ เราต้องดู บทบาทที่แท้จริงของเราต้องทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง เราไม่มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นตามอำนาจของใคร ไม่ใช่เป็นเรื่องของกรม ที่ผ่านมากรมมาทำงานหน้าที่ตรงนี้ มันไม่ใช่ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะนี้ภาพลักษณ์ที่สังคมมองมันเป็นสีเทาๆ ถามว่า สีเทาเยอะไหม ก็ไม่เยอะ สีขาวก็มาก แต่สีเทาคนมักจะไปพูดมาก มีนิดเดียวก็คุยกันไปนาน” อธิบดี เอ่ย  

“อธิบดี” ย้ำว่า ยกกระบวนการปรับภาพลักษณ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของกรมเองถ้าพูดถึงเรื่องท้องถิ่นคืออะไร ความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านที่อยู่ในสามัญสำนึกท้องถิ่นคืออะไร ไม่มี มีแต่คิดว่าที่นั้นโดนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบผู้บริหาร ร้องเรียนทะเลาะกันเอง ปัญหาสภากับนายกฯไม่ถูกกัน มีปัญหาคอรัปชั่นอะไรอย่างนี้ ภาพลักษณ์เหล่านี้ต้องล้างออกไปให้หมด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,800 กว่าแห่งมีไม่กี่เปอร์เซ็น แต่ทำให้ส่วนดีๆ เสียหาย ต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่คือ ให้คนมองว่า ถ้าพูดถึงท้องถิ่นคนจะต้องรู้ว่า การตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน แต่ถามว่า เป็นรูปธรรมแล้วหรือยังมันก็ยังไม่เป็นรูปธรรมได้ ดังนั้นต้องต้องแสวงหารูปธรรม  

“ผมเคยคุยกับ 3 สมาคม “อบจ. เทศบาล อบต.” ในการทำสิ่งที่เอาบทบาทภาระหน้าที่ของตัวเราที่กฎหมายกำหนดตอบสนองปัญหาของพี่น้องประชาชนทำให้เป็นรูปธรรม เพราะมีกำหนดอยู่แล้วเราต้องทำประชาคมทำแผนชุมชน ทำไปถึงแผนพัฒนาท้องถิ่นเอาปัญหาของพี่น้องประชาชนออกมาเป็นแผนพัฒนาท้องถิ่น“  

ประเด็นปัญหาที่มีการถกเกียงจะยุบหรือไม่ยุบ “อธิบดีกรมส่งเสริมฯ”  เน้นย้ำชัดเจนว่า ผมเห็นว่า” จะยุบหรือไม่ยุบ มันอยู่ที่ตัวคน กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ถ้าคุณตอบปัญหาชาวบ้านได้ ใครจะไปยุบ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวล ถ้าคุณได้ทำหน้าที่ของคุณอย่างเต็มที่แล้วสามารถสนองความต้องการของชาวบ้านได้แล้วใครจะมายุบ ถ้ายุบชาวบ้านก็ออกมาเป็นกำแพงให้เอง แต่ถ้าเขาเลือกคุณมาแล้วตอบสนองทำหน้าที่ไม่ได้ก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง”  

สำหรับแนวคิดให้เป็นเทศบาลอย่างเดียวเพื่อลดปัญหาดังกล่าว ในส่วนนี้ต้องมาดูว่า มันทับซ้อนอะไรยังไง ถ้าทำแล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร ตรงนั้นคือคำตอบมากกว่า ไม่ใช่ปรับแล้วจะเป็นรูปแบบยังไงไม่ได้ ในความเห็นผมมองว่า ทำอะไรก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญที่สุด ทุกฝ่ายได้อะไร มันจะสอดคล้องหลักการกระจายอำนาจหรือเปล่า เป็นการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มาจากชาวบ้านจริงๆ เพราะหลักการกระจายอำนาจที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของ ที่เขามอบสิทธิหน้าที่ให้ผู้แทน มาตอบสนองความต้องการของเขา ผมจึงบอกว่า จะอะไรก็แล้วแต่ ปรับยังไงก็ได้รูปแบบไหนก็ได้ ถ้าสนองความต้องการชาวบ้านได้คือ “สิ่งสำคัญที่สุด”  

“อธิบดี สถ” กล่าวทิ้งท้ายอย่างมีนัยยะสำคัญให้ชวนคิดตามว่า ในที่สุดการปรับจะมีผลอะไรกับการเมืองระดับชาติไหม ตอนนี้ยังไม่มีการเลือกตั้งการออกแบบรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เสร็จ ส่วนกลางมี กระทรวง ทบวง กรม การกระจายอำนาจส่วนหนึ่งให้ระบบราชการเป็นตัวกลางรับนโยบายส่วนกลางจากรัฐสภา ผ่านคณะรัฐมนตรีมายังกระทรวง ทบวง กรม จนมาถึงข้าราชการนำลงไปสู่การปฏิบัติ แล้วระบบราชการก็ยังเป็นตัวกลางอยู่เหมือนเดิมที่คอยประสานงานภาพรวมให้เดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดเป็นมุมมองของเจ้ากรมแสนล้านที่เสนอออกมาให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ในสิ่งที่เห็นและควรจะเป็นไปในอนาคต