"วีฟ” ธุรกิจของสตรีพลัดถิ่น

"วีฟ” ธุรกิจของสตรีพลัดถิ่น

ผลิตภัณฑ์งานฝีมือดีไซน์ในแบบชนเผ่าพื้นเมืองผสานความทันสมัย คือผลงานของสตรีพลัดถิ่นในแคมป์ผู้ลี้ภัย “ศักดิ์ศรี” ของคนทำแฝงอยู่ในผลงานทุกชิ้น

ตุ๊กตาน่ารักน่าชัง สวมชุดประจำชนเผ่า ยิ้มทักทายผู้คนที่แวะชมผลิตภัณฑ์ของ “วีฟ” (WEAVE) ทั้งระหว่างออกร้านตามงานต่างๆ หน้าร้าน “แฟร์เทรด ช็อป” ที่แม่สอด จ.ตาก “โชว์รูมวีฟ” และ “ศูนย์หัตถกรรมชาวเขา” ที่ จ.เชียงใหม่ กระทั่งหน้าร้านออนไลน์ (www.weave-women.org) หลากหลายช่องทางให้ได้เยี่ยมชมสินค้าของพวกเขา

คนขายบอกเราว่า ใครซื้อตุ๊กตา 2 ตัว อีก 1 ตัว จะถูกส่งให้กับเด็กๆ ในแคมป์ผู้ลี้ภัย ในช่วงคริสต์มาส เพื่อมอบเป็นของขวัญให้เด็กน้อยด้อยโอกาส ในเทศกาลแห่งความสุขของคนทั่วโลก

ตุ๊กตาตัวน้อยในคอนเซ็ปต์เก๋ๆ ชักนำให้เราได้รู้จักกับ “วีฟ” องค์กรพัฒนาสตรีเพื่อส่งเสริมการศึกษาและสาธารณสุข (Women’s Education for Advancement and Empowerment : WEAVE) ที่ทำงานกับกลุ่มผู้หญิงในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่า มาตั้งแต่ปี 2533 หนึ่งในเป้าหมายของการทำงาน คือให้โอกาสในการจ้างงานที่ปลอดภัยและยั่งยืน สำหรับสตรีชนกลุ่มน้อย ภายใต้กฎการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) โดยวีฟ เป็นหนึ่งในสมาชิกของ องค์กรแฟร์เทรดโลก (WFTO) ซึ่งมีภาระกิจหลักในการสนับสนุนให้ผู้ผลิตได้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองและชุมชนผ่านระบบการค้าที่เป็นธรรม

“ในอดีตการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมักจะทำแบบให้เปล่า”

คำบอกเล่าของ “หม่อง-อุมาพร โพจร” เจ้าหน้าที่มูลนิธิวีฟ ที่แบ่งปันให้กับกรุงเทพธุรกิจ Bizweek ระหว่างร่วมงาน “VolksKraft Art & Craft Market” ณ อารีย์การ์เด้น เมื่อวันก่อน

สะท้อนภาพผู้พลัดถิ่น ที่ต้องดำรงชีพโดยรับความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศลต่างๆ ขณะการจะลุกมาหางานทำ โดยเฉพาะนอกศูนย์พักพิงนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและถูกทำร้าย

นั่นคือที่มาของวีฟ ที่มุ่งให้โอกาสในการจ้างงานที่ปลอดภัยและยั่งยืนแก่สตรีผู้ลี้ภัย โดยพวกเขาไม่เชื่อในเรื่องการให้เปล่า แต่เชื่อใน “การมีส่วนร่วม” และ “ความยั่งยืน” จึงเริ่มจากลงไปในพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการของสตรีผู้ลี้ภัย ก่อนประมวลความต้องการนั้นออกมาเป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือ

“การที่จะให้แต่ปลาไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง แต่ต้องสอนเขาหาปลา” เธอบอกวิธีคิด

วิชาหาปลาที่ว่า ก็คือลงไปอบรมให้ความรู้ โดยต่อยอดจากพื้นฐานศักยภาพของผู้ลี้ภัย ที่มีความสามารถในเรื่อง “งานทอ” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากนั้นมาช่วยเติมเต็มความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลงานของพวกเขา สามารถตอบสนองตลาดในวงกว้างได้ ที่สำคัญไม่ใช่แค่ให้วิชาแล้วจบ แต่ยังนำผลงานเหล่านั้นมาช่วยทำตลาดให้ด้วย โดยผ่านการออกงานแสดงสินค้า ขายผ่านหน้าร้าน และผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ

ปัจจุบันมีช่างฝีมือที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 1 พันคน สนับสนุนผู้ผลิตได้กว่า 500 คน มีผลิตภัณฑ์กว่า 150 ชนิด อาทิ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าซิ่น กระเป๋า และหมอนอิง ฯลฯ ซึ่งต่างมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือ ยังคงเอกลักษณ์ ใช้การทอผ้าแบบชนเผ่าพื้นเมือง เช่น การนั่งทอ ตกแต่งและเย็บปักในแบบกะเหรี่ยง เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขา

สตรีพลัดถิ่น สามารถบริหารงานของพวกเธอได้ด้วยตัวเอง โดยการจัดสรรเวลาการทำงาน ให้สามารถทำงานที่บ้านได้ เพื่อดูแลครอบครัวไปด้วย ทั้งยังได้รับการอบรมและพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ได้โอกาสในการทำธุรกิจขนาดเล็กของตัวเอง และยังมีรายได้จากผลิตภัณฑ์อย่างเป็นธรรม

อนาคตหญิงเหล่านี้อาจไม่ได้อยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัยตลอดไป แต่พวกเขาหวังเพียงว่า ทักษะที่มีติดตัวนี้ จะทำให้พวกเธอไม่ต้องกังวลว่า จะหาเลี้ยงชีพหรือมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไรหลังจากนี้

“กิจการของเราอาจไม่ได้เติบโตหรือทำกำไรมากมายเหมือนบริษัททั่วไป แต่การที่เขามีความรู้ มีทักษะติดตัว นั่นเท่ากับ ‘กำไร’ ของเราแล้ว” เธอบอก

สิ่งที่มากไปกว่าอาชีพ และทักษะที่ติดตัว ก็คือการเรียกคืน “ศักดิ์ศรี” ให้กับสตรีผู้ลี้ภัย

“เราเชื่อว่า ทุกคนมีศักดิ์ศรี และผลงานทุกชิ้น มีศักดิ์ศรีของเขาอยู่ในนั้น”

ศักดิ์ศรีของสตรีพลัดถิ่นที่ซ่อนอยู่หลังผลิตภัณฑ์ ให้คุณค่ามากกว่าสินค้าทั่วๆ ไป

เธอยกตัวอย่าง ครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกอยู่ถึง 7 คน และคนเป็นแม่ก็คือผู้หญิงคนเดียวของบ้าน วันนี้รายได้จากการทำงานของแม่ สามารถเลี้ยงดูสมาชิกทั้งหมดของครอบครัวได้

“ผู้หญิงคนนี้ก็เกิดความภาคภูมิใจที่เธอสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ และยังช่วยลดความรุนแรงในครอบครัวลงได้ด้วย เพราะสามีจะเริ่มรู้สึกเกรงใจ เนื่องจากภรรยาหาเลี้ยงครอบครัว และเวลาภรรยาทำงาน สามีก็จะมาช่วยดูแลลูกๆ ให้ บทบาทของสามีในการช่วยดูแครอบครัวก็มีเพิ่มขึ้น ครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น และลดปัญหาหลายอย่างลงได้”

เธอบอกบทบาทใหม่ของสตรีผู้ลี้ภัย ที่กลับมาเป็นกำลังหลักของครอบครัวในวันนี้อย่างเต็มภาคภูมิ

ปัจจุบันองค์กรวีฟไม่ได้ทำงานกับสตรีในค่ายผู้อพยพเท่านั้น ทว่ายังขยายบทบาทมาทำงานกับหมู่บ้านคนไทยบริเวณรอบนอกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์จากผู้ลี้ภัย และหมู่บ้านไทยนั้นก็มีความแตกต่างกัน พวกเขาตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น ก็เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับฝีมือสตรีในแต่ละพื้นที่นั่นเอง

อุมาพร มาร่วมงานกับวีฟได้ประมาณ 9 ปี ในอดีตเธอเคยทำงานอยู่บริษัทผ้าที่เชียงใหม่ ซึ่งการตัดสินใจเปลี่ยนจากงานภาคเอกชน มาอยู่ในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้น ไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากเลยสำหรับเธอ

หนึ่งเหตุผลเพราะเธอคือลูกหลานชนเผ่ากะเหรี่ยง เกิดที่ อ.สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อีกเหตุผลเธอว่า ไม่อยากทำงานเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่อยากทำเพื่อคนอื่นด้วย

“เราทำงาน แต่ไม่ได้อยากทำงานเพื่อตัวเราเอง มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้นที่เราสามารถทำได้ ถึงแม้ว่าโอเคทุกคนต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าการทำงานของเรานั้น สามารถเลี้ยงชีพตัวเราเอง เลี้ยงดูครอบครัว และยังสามารถเลี้ยงดูคนอื่นที่เขาไม่มีโอกาสได้ด้วย” เธอบอกเหตุผลของการเลือกเส้นทางนี้

ถามถึงเป้าหมายต่อไป ตัวแทนวีฟบอกเราว่า ยังคงมุ่งพัฒนาฝีมือสตรีที่พวกเขาลงไปทำงานด้วย เพื่อให้มี “ชั่วโมงบิน” ที่มากขึ้น สามารถพัฒนาผลงานที่ดี มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ เพื่อกระจายรายได้กลับสู่คนทำได้มากขึ้น

ส่วนเป้าหมายสูงสุดของการทำงาน ไม่ได้หวังยอดขาย หรือผลกำไรมหาศาล ทว่า...

“เราอยากให้ทุกคนยืนหยัดด้วยตัวเองได้”

เธอทิ้งท้ายไว้แค่นั้น