เมียนมาร์ยอมรับช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมล่าช้า

เมียนมาร์ยอมรับช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมล่าช้า

เมียนมาร์รับช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมล่าช้า ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 47 ราย แต่สื่อท้องถิ่นรายงานว่าอยู่ที่อย่างน้อย 63 ราย

นายเย ทุต โฆษกรัฐบาลเมียนมาร์ ออกแถลงการณ์ยอมรับว่ารัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคตะวันตกของประเทศล่าช้า จนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกระบวนการอพยพและมอบความช่วยเหลือให้แก่ประชาชน แต่รัฐบาล ได้เร่งการดำเนินงานในส่วนนี้ และติดต่อประสานงานกับนานาประเทศและองค์กรด้านมุนษยธรรมอีกหลายแห่ง เพื่อขอรับความช่วยเหลือแล้ว

ทั้งนี้ พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ในเมียนมาร์ เป็นอิทธิพลของพายุไซโคลนโกเมน ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 47 ราย และทำให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนอีกไม่ต่ำกว่า 215,000 คน ขณะที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 4 รัฐ ได้แก่รัฐยะไข่ รัฐชิน เขตสะกาย และเขตมาเกว

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและกระแสลมกระโชกแรง สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ศูนย์พักพิงผู้อพยพชาวโรฮีนจาราว 140,000 คน ในเมืองซิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีรายงานการประเมินความเสียของพื้นที่ประสบภัยพิบัติในภาคตะวันตกออกมาอย่างเป็นทางการ แต่กระทรวงสวัสดิการสังคมของเมียนมาร์ คาดการณ์ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุกภัยครั้งนี้ อาจเพิ่มขึ้นอีก

ด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยการเกิดน้ำท่วมในแถบที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศแล้ว

พายุมรสุมที่สร้างความเสียหายให้กับเมียนมาร์รุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ คือพายุไซโคลน นาร์กิส ในช่วงปลายเดือนเม.ย.-พ.ค. 2551 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 140,000 คน และสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของเมียนมาร์มากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 350,000 ล้านบาท

วันเดียวกันนี้ มีรายงานข่าวว่า ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเซาเดโลร์ เตรียมถล่มหลายประเทศทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน หลังจากสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ประเทศหมู่เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก