แล้งลามหนักโคราช ลำตะคองเหลือน้ำใช้ไม่ถึง3เดือน

แล้งลามหนักโคราช ลำตะคองเหลือน้ำใช้ไม่ถึง3เดือน

ประชุมเครียดภัยแล้งโคราช ลุกลามหนัก อ่างลำตะคอง เหลือน้ำใช้ไม่ถึง 3 เดือน กรมอุตุฯ แจงมีโอกาสเกิดภัยแล้งซ้ำซาก

ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 8 (ชป.8) นครราชสีมา นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการ สนง.ชป.8 พร้อมผู้อำนวยการโครงการแหล่งน้ำดิบในพื้นที่รับผิดชอบ ได้ร่วมประชุมประจำเดือนมิถุนายน โดยมีวาระแจ้งสถิติปริมาณน้ำดิบในแหล่งน้ำ และเสนอปัญหาอุปสรรค เพื่อวางแผน เตรียมรับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งได้เชิญ นายสงัด สายใหม่ ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดนครราชสีมา และนายวิทยา อัปมาโถ นักวิทยาศาสตร์ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาร่วมให้ข้อมูลเชิงสถิติตามการคาดการณ์สภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญ ของลุ่มน้ำมูล อยู่ในขั้นวิกฤต ล่าสุด มีปริมาณน้ำไม่รวมน้ำต้นทุน 65 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่เก็บกัก 314 ล้าน ลบ.เมตร การบริหารจัดการ ต้องส่งน้ำให้ประชาชนกว่า 6 แสนคน ในพื้นที่ 5 อำเภอ เพื่อใช้อุปโภค บริโภค เดือนละ 21 ล้าน ลบ.เมตร หากฝนไม่ตกลงมา จะเหลือน้ำใช้ไม่เกิน 3 เดือน

ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง บอกว่า สภาพอากาศในขณะนี้ อาจมีความเหมาะสมสามารถขึ้นปฏิบัติการทำฝนเทียมได้ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ เช่น ทิศทางลม การก่อตัวและขนาดของกลุ่มเมฆ ความชื้นของอากาศ รวมทั้งอุณหภูมิความร้อนจากผิวดิน อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการ ฯ ได้เตรียมเครื่องบิน AU-23 จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน BT-67 จำนวน 1 ลำ ขึ้นปฏิบัติการโจมตีกลุ่มเมฆ ตามกำหนดถึงกลางเดือนตุลาคม รวม 244 วัน

ขณะที่การคาดการณ์สภาพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. ฝนจะเริ่มทิ้งช่วง จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ช่วงนี้แม้จะมีฝนตก แต่ปริมาณอาจใกล้เคียง หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด หวังให้มีร่องมรสุมหรือพายุดีเปรสชั่นพัดเคลื่อนผ่านในพื้นที่ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในอ่าง ฯ ได้พอสมควร จากการติดตามและพยากรณ์ทิศทางการเคลื่อนตัวของกระแสลมตะวันออกเฉียงใต้ อาจเกิดปรากฏขึ้นค่อนข้างยาก

นายชิตชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวว่า หลายพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก ฝนตกไม่ตามเป้าหมาย มีสาเหตุจากพื้นดินแห้งไม่ชุ่มน้ำ ตนได้มอบหมายให้หัวหน้าโครงการ ฯ ลงพื้นที่สำรวจปริมาณพื้นที่ และตำแหน่งพิกัดการเพาะปลูก เพื่อรวบรวมร้องขอปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจ ประหยัดน้ำ เนื่องจากอนาคตมีโอกาสสูง ที่จะเป็นไปตามการคาดการณ์