ศาลฎีกาฯสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง5ปี 'ลีน่า จัง'

ศาลฎีกาฯสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง5ปี 'ลีน่า จัง'

ศาลฎีกาเลือกตั้ง สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี "ลีนา จังจรรจา"โฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ส.ว. ปี 57 ฝ่าฝืนพ.ร.บ.เลือกตั้งฯ

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ถ.แจ้งวัฒนะ อ่านคำสั่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นางลีนา จังจรรจา อดีตผู้สมัครเลือกตั้งส.ว. เนื่องจากกระทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งฝ่าฝืนพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 111 , 122 และ 123

โดย กกต.ผู้ร้อง ระบุว่า เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ว.เป็นการทั่วไป ซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 30 มี.ค.57 แล้ว ประธาน กกต.ได้ประกาศรับสมัครเลือกตั้ง ส.ว. ซึ่งนางลีน่าจัง ผู้คัดค้าน ได้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.กทม. แต่ในการหาเสียงผู้คัดค้านได้กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ โดยจัดทำป้ายโฆษณาหาเสียงในพื้นที่ กทม. มีข้อความว่า “ ทวงคืนป.ต.ท.ให้เป็นของคนไทย ใช้น้ำมันเบนซินลิตรละ 20 บาท ลีนา จังจรรจา (ลีน่าจัง) เบอร์ 3 ส.ว.กทม.”

"ยกเลิกกองทุนน้ำมัน คนไทยใช้น้ำมันเบนซินลิตรละ 20 บาท ลีนา จังจรรจา (ลีน่าจัง) เบอร์ 3 ส.ว.กทม.” และ “ทวงป.ต.ท.มาเป็นของคนไทยทั้งประเทศ ใช้น้ำมันเบนซิน ลิตรละ 20 บาท ลีนา จังจรรจา (ลีน่าจัง) เบอร์ 3 ส.ว.กทม.” ซึ่งข้อความดังกล่าวไมได้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. เมื่อ กกต.ผู้ร้อง สืบสวนสอบสวนตามระเบียบแล้ว กรณีหลักฐานอันควรเชื่อว่า นางลีนา ผู้คัดค้าน ได้โฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของส.ว.เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งกับนางลีนา ผู้คัดค้าน จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 123 เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต มีผลให้การเลือกตั้ง ส.ว.ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้าน เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม กกต.ผู้ร้อง จึงขอให้ศาลวินิจฉัยเพื่อเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งนางลีนา ผู้คัดค้าน เป็นเวลา 5 ปี

ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อความโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งนั้น ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่เป็นการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของส.ว. การที่นางลีนา ผู้คัดค้าน นำป้ายโฆษณาหาเสียงไปติดตั้งในพื้นที่กทม. จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ มาตรา 123 วรรคหนึ่ง

เนื่องจากข้อความดังกล่าวเป็นการจูงใจให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส่วนที่นางลีนา ผู้คัดค้านอ้างว่าข้อความในป้ายโฆษณาไม่มีคำว่า “จะเสนอร่างกฎหมาย” ซึ่งเป็นข้อความที่ตรงกับความต้องการเพื่อหาเสียงนั้น ศาลเห็นว่าเป็นข้อต่อสู้ที่ผู้คัดค้านเพิ่งยกมาต่อสู้ในชั้นศาล ขณะที่ขัดกับคำให้การในชั้นกกต. ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น คดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีกรณีเกิดขึ้นตามคำร้องของกกต. เมื่อการกระทำของนางลีนา ผู้คัดค้าน เป็นการฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ ของผู้สมัครเลือกตั้งส.ส.มาตรา 111 ประกอบมาตรา 122 วรรคท้าย ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26-31 มี.ค.57 ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 และได้มีคำสั่งคสช.ฉบับที่ 11/2557 ให้รัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 สิ้นสุดลงแล้ว

แต่ต่อมาได้มีประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 7 มิ.ย.57 ให้พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ มีผลบังคับใช้ต่อไป ดังนั้น การกระทำของนางลีนา ผู้คัดค้าน จึงฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาฯ จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของนางลีนา จังจรรจา ผู้คัดค้าน มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันนี้ที่ศาลมีคำสั่ง   

โดยวันนี้นางลีนา ผู้คัดค้านไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งศาล มีเพียงผู้แทนกกต. ผู้ร้องมาศาลเท่านั้น ศาลจึงอ่านคำสั่ง และให้ปิดประกาศคำสั่งดังกล่าวไว้ที่หน้าศาลฎีกา