กมธ.ร่างรธน.นำความเห็นทุกภาคส่วนพิจารณาวันนี้

กมธ.ร่างรธน.นำความเห็นทุกภาคส่วนพิจารณาวันนี้

"นพ.ชูชัย"เผยกมธ.ร่างรธน.นัดประชุมวันนี้ นำความเห็นสปช.-ทุกภาคส่วนสังคมมาพิจารณา วอนภาคธุรกิจ อย่าตกใจในบทบัญญัติร่างรธน.

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่6กล่าวว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นัดประชุมวันที่ 26 พ.ค. เวลา09.00น. เพื่อพิจารณาข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ยื่นคำขอแก้ไข และความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ทำความเห็นมายังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ความเห็นของภาคส่วนต่างๆ รวมถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ทางกมธ.ยกร่างรัฐธรมนูญ ได้รับฟังความเห็นเมื่อวันที่25พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ยอมรับว่ามีประเด็นจำนวนมากที่ต้องนำไปปรับปรุง ขณะที่ความเห็นของภาคนักธุรกิจที่สะท้อนในประเด็นว่าจะเป็นปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการนั้นอย่าได้ตกใจหรือตื่นตระหนก เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังปรับแก้ไขได้ ขณะที่ความเห็นของผู้นำด้านอุตสาหกรรมทักท้วงว่าการเขียนร่างรัฐธรรมนูญเหมือนเป็นการแก้ปัญหาในอดีต และไม่ตอบโจทย์ของอนาคตนั้น ตนขอให้ไปพิจารณาในหมวดการปฏิรูป ที่สปช. ในสายธุรกิจ อุตสาหรรม ที่มีความเชี่ยวชาญร่วมเสนอความเห็นและถูกกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ

"การพิจารณาปรับปรุงเนื้อหา มีไม่น้อยที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ยกเว้นนักเลือกตั้งที่มุ่งแต่การเอาชนะเลือกตั้งต่อให้ปรับอย่างไรก็ไม่มีวันพอใจ ขณะที่นักการเมืองที่มุ่งทำงานเพื่อประโยชน์จะให้การยอมรับ" นพ.ชูชัย กล่าว

ด้านนายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าสำหรับเนื้อหาที่ภาคเอกชนท้วงติงในมาตรา 64 ว่าด้วยการกำหนดให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง โดยขอให้ตัดถ้อยคำที่ว่าด้วย โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงนั้น หากตัดส่วนดังกล่าวออกตนมองว่าจะเกิดความยุ่งยากในการดำเนินโครงการของภาคเอกชนอย่างมาก เพราะในกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมได้กำหนดมาตรฐานการดำเนินโครงการหรือการลงทุนที่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นในระดับที่แตกต่างกับโครงการทั่วไปที่ไม่ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน

ขณะเดียวกันหากพบว่าโครงการใดที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ร้ายแรง ในตรรกะไม่สามารถได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการได้อยู่แล้ว ขณะที่การกำหนดให้การศึกษาประเมินผลต่อกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนห้ามไม่ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นประเด็นที่ต้องกำหนดไว้ เพราะเดิมมีปัญหาคือผู้ที่ดำเนินการประเมินผลคุณภาพและผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นได้รับการว่าจ้างจากบริษัทที่จะดำเนินโครงการ และมีการประเมินผลกระทบที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจึงทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ และเกิดการรวมตัวประท้วงของชุมชนจนเกิดปัญหามาแล้ว