“กำไร+สังคม” ผลตอบแทน 'คูณ 2' ลงทุนใน SE

 “กำไร+สังคม” ผลตอบแทน 'คูณ 2' ลงทุนใน SE

นักลงทุนยุคใหม่มีทางเลือกมากมายให้ลงทุนหนึ่งทางเลือกที่สร้างสรรค์คือลงทุนในกิจการเพื่อสังคม ที่ให้ผลตอบแทน 2 เด้ง ทั้ง "กำไร" และ "สังคม"

เหล่ากิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) หลากสาขา ทั้งด้านการท่องเที่ยว อาหาร สุขภาพ ตลาดออนไลน์ สินค้าและบริการคูลๆ ที่อวดโฉมรวมอยู่ในพื้นที่พิเศษของงาน Money Expo 2015 ที่ผ่านมา สะกิดสายตานักลงทุน ให้เผื่อความสนใจมายัง “ทางเลือกใหม่” อย่างพวกเขา

ในยุคที่ นักลงทุน มีหนทางให้บริหารเงิน โดยสามารถเลือกสร้างความยั่งยืน ด้วยการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ SRI (Socially Responsible Investment) และ “กิจการเพื่อสังคม” ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ว่านั้น

“กิจการเพื่อสังคม คือ กิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่มีกำไร สำหรับนักลงทุนแล้ว นี่เป็นการลงทุนตามปกติ ที่มีผลตอบแทนทางการเงิน แต่เป็นการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะลงทุนในกิจการที่ทำประโยชน์ต่อสังคม”

“ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ชี้ความสนใจของนักลงทุน มายังกิจการน้ำดีที่ชื่อ “SE” ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ได้รวบรวม เชื่อมต่อ และนำเสนอต่อผู้ลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง

เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุน ขยับมาเป็น “นักลงทุนเพื่อสังคม” ที่เลือกลงทุนในกิจการที่ดี และรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมให้บริษัทจัดการการลงทุน จัดสรรเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนในกิจการเพื่อสังคม ให้เพิ่มขึ้น

“เราส่งเสริมทั้งนักลงทุน บริษัทจดทะเบียน และบริษัทจัดการการลงทุน ให้ลงทุนในกิจการเพื่อสังคม เพื่อช่วยให้กิจการเหล่านี้ มีเงินทุนที่จะเติบโตต่อไปได้ เพราะถ้ากิจการเพื่อสังคมเกิดขึ้นมามากๆ ก็จะทำประโยชน์ต่อสังคมได้มากหนึ่งบริษัท ก็เกิดประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ถ้าเกิดขึ้นสักร้อยบริษัท ก็เกิดประโยชน์เป็นร้อยเท่า ช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของเราดีขึ้น ขณะเดียวกันสังคมก็ดีด้วย” เขาบอก 

หลังจากเทรนด์การลงทุนเพื่อสังคม ถูกจุดประกายขึ้น เลยได้เห็น กองทุนหลายกองทุนที่เลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่รับผิดชอบต่อสังคม และเริ่มมีการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม ขณะที่บางบริษัท ก็เลือกตั้งกิจการเพื่อสังคมของตัวเองขึ้นมา เพื่อคืนกำไรให้กับสังคมอย่างยั่งยืน

ประธานตลาดหลักทรัพย์ยกตัวอย่าง “บมจ.บางจากปิโตรเลียม” ที่กำลังดำเนินการจัดตั้งกิจการเพื่อสังคมของตนเอง หลังก่อนหน้านี้ได้ทำโครงการรับซื้อข้าวปลอดสารจากชาวบ้าน มาส่งเสริมธุรกิจในเครือบางจาก เริ่มจากส่งเสริมการขายให้กับผู้ที่มาเติมน้ำมันในปั้มบางจาก แทนการแจกน้ำเปล่า เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ไปพร้อมกันด้วย

“วิธีนี้ได้ทั้งส่งเสริมผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้บริโภคก็ได้บริโภคข้าวที่ปลอดภัย ขณะบริษัทก็ได้ด้วย ซึ่งการคืนกำไรให้สังคมลักษณะนี้จะยั่งยืน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของบริษัท ไม่ใช่เป็นการให้แล้วหมดไป” เขาบอก

ดร.สถิตย์ ชี้ให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เหล่าองค์กรมหาชน เริ่มปรับเปลี่ยนความคิด จากการคืนกำไรสู่สังคมในรูปแบบเดิมอย่างการทำ CSR มาสู่การเป็น SE มากขึ้น หลังมองเห็นถึงการให้ที่ยั่งยืนกว่า เพราะกิจการเพื่อสังคมลงทุนไปแล้วได้ผลตอบแทนกลับมา สามารถนำไปลงทุนเพื่อสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องหาทุนมาเติมกันทุกปี

“ผมเชื่อว่า การทำ CSR ยุคเก่า จะเปลี่ยนมาทำในรูป SE เพิ่มมากขึ้น” เขาคาดการณ์เช่นนั้น

ระหว่างการทำงานของบริษัทใหญ่ ที่พร้อมทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์ ในการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม เหล่า SE ตัวเล็กๆ ก็กำลังขับเคลื่อนฝันของพวกเขาอยู่เช่นกัน และพร้อมแสดงศักยภาพให้นักลงทุนได้เห็น

ยกตัวอย่าง “Local Alike” ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ใช้วิถีชุมชนและธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ลดการย้ายถิ่นฐาน สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน “กิจการเพื่อสังคม ๑4๑” เฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ถูกออกแบบให้มีชิ้นส่วนที่สามารถทำเป็นของเล่นสร้างสรรค์สำหรับเด็กๆ เมื่อลูกค้าซื้อของเล่น 1 ชิ้น พวกเขาจะผลิตของเล่นอีกชิ้น ส่งให้เด็กด้อยโอกาส

“Akha Ama Coffee” ธุรกิจกาแฟที่มุ่งแก้ปัญหาเกษตรกรให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม นำภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาชุมชน มีกระบวนการผลิตที่เอื้อต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “Fisherfolk คนจับปลา” ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผลิตขึ้นโดยชาวประมงพื้นบ้าน ใช้เครื่องมือที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี กำไรที่ได้นำไปฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล “ฟาร์มสุขไอศกรีม” ไอศกรีมเพื่อสุขภาพ ที่สอนวิธีทำไอศกรีมให้กับเด็กด้อยโอกาสเพื่อนำไปจำหน่าย รายได้ส่วนหนึ่งมอบให้กับเด็กด้อยโอกาส

“BikeXenger” บริการรับส่งเอกสารในพื้นที่กรุงเทพโดยใช้จักรยาน ช่วยลดมลภาวะ ขณะรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย นำเงินไปซื้อจักรยานให้แก่เยาวชนในพื้นที่ห่างไกล “Social Health Enterprise” หรือ SHE วิสาหกิจสุขภาพชุมชน ที่ให้บริการด้านงานป้องกันโรคของแรงงานและพนักงาน “Green Growth” ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับความเป็นธรรมทางการค้า ปิดท้ายกับ “Socialgiver” พื้นที่ออนไลน์ที่จะทำให้เรื่อง ‘ช็อป’ และ ‘ช่วย’ กลายเป็นเรื่องเดียวกัน โดยนำเสนอสินค้า และบริการจากกิจการชั้นนำ รายได้แบ่งไปสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมและมูลนิธิต่างๆ ซึ่งผู้ซื้อสามารถเลือกเองได้

แม้เป็นกิจการเพื่อสังคม ที่คนทำส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชี่ยวเรื่องธุรกิจนัก แต่กิจการเหล่านี้ ก็กำลังเติบโตและมีอนาคต เช่นเดียวกับ “คนจับปลา” ที่ “เสาวลักษณ์ ประทุมทอง” หนึ่งในตัวแทนบอกเราว่า อาหารทะเล และอาหารปลอดภัย ยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เป็นตลาดที่มีโอกาส เพราะคนสนใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น จึงเชื่อว่ายังเป็นธุรกิจที่ยังทำกำไรได้

อย่างไรก็ตามเธอย้ำว่า อยากให้นักลงทุน ที่สนใจลงทุนในกิจการเพื่อสังคม ได้เข้าใจในมิติเรื่องสังคมด้วย ไม่ใช่แค่มาลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้เปิดใจเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาทำไปพร้อมกันด้วย

“เราพยายามขายเรื่องราว ขายที่มาของอาหารที่มีคุณค่า ฉะนั้นคนที่จะมาร่วมกับเรา ควรได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ไปด้วย อยากให้ลองเปิดใจ และเรียนรู้คุณค่าในสิ่งที่พวกเราทำ แล้วคุณจะไม่ได้แค่การลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ คุณค่า จากการที่รู้สึกว่า ได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคมด้วย” เธอบอก

เช่นเดียวกับ “ธีรภัทร เทพพันธ์” ผู้ก่อตั้ง “Green Growth” ที่บอกเราว่า เทรนด์เรื่องสุขภาพกำลังมา ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จึงได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่อย่างไรย้ำว่า ไม่อยากให้นักลงทุนเห็นว่า นี่เป็นธุรกิจที่ทำกำไร แล้วรีบเข้ามาลงทุน เพราะเป้าหมายสูงสุดของพวกเขา ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คือ การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

“สำหรับนักลงทุน อยากได้คนที่เข้าใจมุมมองเรื่องสังคมด้วย เพราะกิจการเพื่อสังคม เราเน้นการแก้ปัญหามากกว่า แต่ที่ต้องมองเรื่องธุรกิจ ก็เพื่อความอยู่รอด จึงอยากให้นักลงทุนเข้าใจตรงจุดนี้ ซึ่งหากมีความเข้าใจที่ตรงกัน ผมเชื่อว่า กิจการของเรายังขยายไปได้อีกไกล และช่วยสังคมได้อีกมาก”

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ ฝากข้อแนะนำให้กับนักลงทุนว่า ไม่อยากให้ช่วยแต่เรื่องเงินทุน แต่อยากให้ช่วย SE ในเรื่องทักษะในการบริหารธุรกิจด้วย เพราะยังเป็นจุดอ่อนของพวกเขา ซึ่งหากไม่มีความรู้ทางธุรกิจ ก็ไม่มีทางที่จะมีผลกำไร และไม่มีทางที่จะคืนผลตอบแทนสู่ผู้ลงทุนได้

ละนี่คืออีกทางเลือกใหม่ของการลงทุน ที่ให้ผลตอบแทน 2 เด้ง คือทั้ง “กำไร” และ “สังคม”