สิงคโปร์ สู้ สู้

สิงคโปร์ สู้ สู้

สิงคโปร์เป็นเพื่อนบ้านของไทยและเป็น 1 ใน 10 ของสมาชิกอาเซียนด้วย

สิงคโปร์มีพื้นที่ประมาณ 662 ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่ากรุงเทพฯ 2.5 เท่า แต่ขนาดของประเทศดูจะตรงกันข้ามกับความสำคัญทางเศรษฐกิจเพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางหลักแห่งหนึ่งทางด้านเศรษฐกิจของเอเชียและของโลก แต่ผลที่ตามมาคือค่าครองชีพและค่าที่อยู่อาศัยต่างๆ สูงลิ่วติดอันดับโลกเลยทีเดียว ค่าครองชีพของประเทศเกาะแห่งนี้ทะยานขึ้นอันดับ 1 เมื่อปีที่แล้วโดยเบียดญี่ปุ่นที่ครองอันดับอยู่มานานอย่างขาดลอย


ส่วนใหญ่ผู้คนที่เดินทางไปสิงคโปร์มักไปเพราะเหตุผลทางธุรกิจ เช่น ประชุม สัมมนาหรือเจรจาทางการค้า ถ้าใครจะไปเที่ยวสิงคโปร์ก็มักจะใช้เวลาไม่กี่วันโดยมีเป้าหมายหลัก เช่นจะไปยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ, เซ็นโตซ่า, ไนท์ ซาฟารี หรือสวนนกจูร่ง และเมอร์ไลอ้อน แพ็คเกจทัวร์ไปสิงคโปร์มักจะใช้เวลาแค่ 3 วัน 2 คืน เพราะถ้ามากกว่านั้นก็ไม่รู้จะไปไหน เสน่ห์อีกอย่างของประเทศนี้ก็คือ การชอปปิง แต่นักช้อปทั้งหลายมักมาช้อปที่นี่ในช่วงเทศกาลลดราคาเท่านั้น


ในปี 2556 สิงคโปร์มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 15.6 ล้านคน แต่ในปี 2557 จำนวนลดลงเหลือ 15.1 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเป็นการตกครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552 สำหรับในปี 2558 นี้ จำนวนในช่วง 2 เดือนแรกก็น้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปัญหานี้กระทบธุรกิจท่องเที่ยวโดยรวมทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเล็กๆ สมาคมท่องเที่ยวสิงคโปร์ซึ่งมีสมาชิก 70 คน กล่าวว่า สมาชิกประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่มีธุรกิจขนาดเล็กและค่อนข้างเก่าแก่ประสบปัญหาธุรกิจซบเซาโดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปีที่ผ่านมา


เควิน ชวง ประธานสมาคมฯ กล่าวว่า ปัญหานี้รุนแรงขึ้นเพราะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนมากกว่าและแผนการตลาดที่ทันสมัยกว่าแย่งลูกค้าจากธุรกิจขนาดเล็กไปหมด เขายกตัวอย่างช่น Gardens by the Bay สวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ซึ่งเปิดเมื่อปี 2555 จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปสวนแห่งนี้เมื่อปี 2557 เพิ่มขึ้น 36 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า


ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอสิงคโปร์ก็สามารถทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมาที่สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 5.2 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์มาดามทุซโซ, พิพิธภัณฑ์ Trick Eye และ Alive ต่างพากันเปิดบริการและดึงลูกค้าไปจากธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก


ชวงกล่าวว่า “นี่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในอดีตสิงคโปร์มีสถานที่ท่องเที่ยวไม่กี่แห่ง แต่ตอนนี้การแข่งขันสูงมาก สมาชิกส่วนใหญ่ของสมาคมฯ ก็เริ่มตระหนักว่า พวกเขาต้องปรับตัว ก่อนหน้านี้สถานที่ท่องเที่ยวจะทำการปรับปรุงใหญ่ทุกๆ 5 หรือ 7 ปี แต่ตอนนี้พวกเขาต้องทำทุกๆ ปี”


ในการสัมมนาของบอร์ดการท่องเที่ยวสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ ลีโอเนล เยียว ประธานบริหารขอให้ธุรกิจท่องเที่ยวของสิงคโปร์คิดว่า ทำอย่างไรจะทำให้ธุรกิจตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว


ส่วน มิเชล เชียม อาจารย์ด้านท่องเที่ยวของงีแอน โพลีเทคนิคกล่าวว่า ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กและเก่าแก่ต้อง “อัพเดต” ข้อเสนอแก่นักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลาเพื่อตอบสนองสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ


เยียว ยกตัวอย่าง The Skyline Luge สวนสนุกวิบากบนเกาะเซ็นโตซ่าว่า ที่นี่มีพื้นที่ไม่มากแต่ปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เช่นปรับเส้นทางขับรถวิบากทำให้สามารถเพิ่มรายได้ทุกปี ในทางตรงข้าม อาจารย์เชียมกล่าวว่า สวนผีเสื้อและแมลงบนเกาะเซ็นโตซ่าไม่ได้ปรับปรุงมาระยะหนึ่งแล้ว “คุณต้องจัดงานอภิปราย เพิ่มแมลงชนิดใหม่หรือให้ข้อเสนอใหม่ๆ ถ้าไม่ คนจะไม่มาเที่ยวหรือไม่กลับมาอีก เรื่องนี้ เชียง ซาน เสียง ผู้อำนวนการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของสวนผีเสื้ออธิบายว่า ก่อนหน้านี้ มีแผนที่จะปรับปรุงใหญ่มูลค่า 6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (150 ล้านบาท) หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจาก 300,000 คนในปี 2554 เป็น 250,000 คนในปีที่แล้ว แต่แผนถูกระงับเพราะเจ้าของเปลี่ยนใจไปลงทุนในธุรกิจอื่น


แต่ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น ธุรกิจอื่นที่โยงกับการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ เช่น ร้านขายของที่ระลึกก็มีปัญหารายได้ลดลง หลายแห่งคิดจะเลิกกิจการเลยด้วยซ้ำ สตีเวน ลู เจ้าของร้านขายของที่ระลึก เท็นทูเท็น แฟร์ชั่น ในห้างออร์ชาร์ด พลาซ่า กล่าวว่า บางวันขายของได้แค่ 10 เหรียญสิงคโปร์เท่านั้น เมื่อปีที่แล้ว เขาลดราคาสินค้า เช่น เสื้อยืด กระเป๋าและแม่เหล็กติดตู้เย็นลงมากกว่าครึ่ง แต่ก็ไม่ช่วยอะไรเลย นอกจากนี้ เขายังขอให้ผู้ผลิตของที่ระลึกทำอะไรใหม่ๆ บ้าง


“ผมไม่มีไอเดียว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างไร ร้านของผมมีรายได้ตกลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์”


จิมิ ตัน เจ้าของธุรกิจ “สปาปลาบำบัด” กล่าวว่า รายได้ของธุรกิจตกลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา “นักท่องเที่ยวเคยมาเป็นกรุ๊ปใหญ่ เราก็แค่คุยกับเอเย่นต์ทัวร์ แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวใช้บริการเอเย่นต์ทัวร์น้อยลง เอเย่นทัวร์เองก็เลือกสถานที่ท่องเที่ยวอื่น เขาเปลี่ยนไปทำธุรกิจอินเตอร์เน็ตคาเฟ่แทน"


........................
ที่มา : The Straits Times