สธ.ตั้งเป้าปี2567ไทยปลอดโรคมาลาเรีย

สธ.ตั้งเป้าปี2567ไทยปลอดโรคมาลาเรีย

"ศ.นพ.รัชตะ" เผยสถานการณ์โรคมาลาเรียในไทย ลดลง ตั้งเป้ากำจัดให้หมดภายใน พ.ศ. 2567

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 25 เมษายนทุกปี เป็นวันมาลาเรียโลกเพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศเร่งขจัดโรคมาลาเรีย องค์การอนามัยโลกรายงานในปี 2557 พบผู้ป่วยมาลาเรียประมาณ 207 ล้านคน ใน 97 ประเทศ เสียชีวิต 6 แสนกว่าคน ร้อยละ 90 อยู่ทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยกระทรวงสาธารณสุขไทย ได้จัดรณรงค์ในพื้นที่ต่างๆ เน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจโรค สาเหตุการเกิด และการป้องกัน ประเด็นสำคัญที่สุดคือการกินยารักษาให้ครบสูตร เพื่อป้องกันมาลาเรียดื้อยา

สำหรับสถานการณ์โรคมาลาเรียของไทยขณะนี้มีแนวโน้มลดลง ส่วนมากพบตามแนวชายแดน ป่าเขา กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมาย
กำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2567 โดยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการที่สำคัญ เช่นการป้องกันยุงก้นปล่องกัด การตรวจรักษาผู้ติดเชื้อ เพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าเขา หรืออยู่ตามแนวชายแดน การเดินทางยากลำบาก เมื่อเจ็บป่วยต้องใช้เวลาเดินทางหลายวันเพื่อรับบริการรักษา รวมทั้งความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยเชื้อมาลาเรีย และรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยารักษาที่ตรงกับชนิดของเชื้อ ซึ่งในไทยพบ 4 ชนิด ที่พบมากที่สุดคือ ฟาลซิฟารั่ม (Falciparum) และไวแวกซ์ (Vivax) จะทำให้ผู้ป่วยหายป่วยได้เร็ว ไม่แพร่เชื้อสู่คนอื่น

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคมาลาเรีย ในปี 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 เมษายน พบผู้ป่วยคนไทย 2,618 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาร้อยละ 21 และพบผู้ป่วยต่างชาติ 893 ราย ลดลงร้อยละ 26 เช่นกัน จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่อุบลราชธานี 1,105 ราย ตาก 637 ราย กาญจนบุรี 200 ราย ยะลา 149 ราย ในปีนี้ กรมควบคุมโรคได้เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยเชื้อและรักษาที่หน่วยมาลาเรียคลินิก ซึ่งเป็นบริการฟรี กระจายอยู่ในจังหวัดชายแดน 30 จังหวัด กว่า 300 แห่ง ให้แม่นยำ และจ่ายยารักษาให้ตรงกับชนิดเชื้อได้เร็วขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีคือติดตั้งกล้องเวปแคม จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผ่านการทดสอบว่าภาพมีคุณภาพชัดเจน สามารถแยกชนิดเชื้อมาลาเรียได้ นำมาใช้เชื่อมต่อทางระบบออ
นไลน์กับกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้ประจำคลินิกมาลาเรียและห้องแล็ปปฏิบัติการเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยัน ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มการบริการตรวจวินิจฉัยโรคมาลาเรียที่ได้มาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญอย่างรวดเร็วและคุ้มค่าสำหรับประชาชนทุกคนรวมทั้งที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร

นพ.โสภณ กล่าวว่า การป้องกันโรคมาลาเรีย ที่ได้ผลที่สุด คือป้องกันไม่ให้ถูกยุงก้นปล่องกัด ขอแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยหรือผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ ซึ่งเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง ควรเตรียมมุ้งหรือเต็นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุง นอนในมุ้งชุบสารเคมี และสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และควรเป็นสีอ่อนๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีดำเนื่องจากเป็นสีที่ยุงจะชอบ รวมทั้งจุดยากันยุง หรือทายากันยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ และหลังการกลับจากป่า ภายใน 15 วัน หากมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อาเจียน เบื่ออาหาร ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อรักษาและต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย โรคนี้มียารักษาหาย หากรักษาเร็วจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ ประการสำคัญที่สุด โดยขอให้กินยาจนครบตามแพทย์สั่ง แม้ว่าอาการไข้จะสร่างแล้วก็ตาม เพื่อให้หายขาดและป้องกันเชื้อดื้อยา หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง