เมียนมาร์ อิ่มตาอิ่มใจ

เมียนมาร์ อิ่มตาอิ่มใจ

เส้นทางตามรอยวัฒนธรรมเก่า ทำเอาผู้มาเยือนครั้งแรก เจริญตาเจริญใจกับวิถีศรัทธาที่ยังไม่จางหาย และความรุ่งเรืองของอดีตยังยืนหยัดท้ากาลเวลา

เมื่อกองทุนวิจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชื่อมต่อระหว่างประเทศในกลุ่ม AEC ส่งเสริมให้เชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ได้เปิดทางมอบหมายภารกิจตามรอยเส้นทาง ย่างกุ้ง-สิเรียม-หงสาวดี “เอาล่ะ โอกาสมาถึงเราแล้ว” ผมรำพึงในใจ


“เราจะไปเมียนมาร์” ที่เราตั้งใจจะไปตามหาร่องรอยอารยธรรมเก่า ที่ๆ เราสันนิษฐานว่าเป็นเมืองในแคว้นโกศล ของพระเจ้าปเสนทิโกศล สมัย พศ.0 และที่ๆ รวมชาติพันธุ์ พม่า มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง ไทย ลาว และ 12 ปันนา ในยุคของบุเรงนองหรือ บาญิ๋งนอง (สำเนียงเมียนมาร์)
ต้นปี เดือนมกราคม หลังจากจองตั๋วแอร์เอเชียได้ในราคาสบายกระเป๋า จึงติดต่อบริษัททัวร์ของเมียนมาร์ของ Dr. Tun Nay Lin ไว้ก่อนว่า ต้องการรถตู้นำเที่ยว 1 คัน และเลือกโปรแกรมเดินทางหวังตามรอยอารยธรรมและเส้นทางของพุทธศาสนาในพม่า ลงตัวกันที่ โปรแกรม ย่างกุ้ง -สิเรียม-หงสาวดี


เวลา 20.20 น. (วันธรรมดา) เครื่องบินทะยานสู่ท้องฟ้าเหนือกรุงเทพมหานคร ไปถึงสนามบิน มิงกาลาดง กรุงย่างกุ้ง (Yangon) เวลา 21.10 น. วันเดียวกัน เจ้าของบริษัททัวร์ออกมาต้อนรับ พาไปทานอาหารที่ ร้าน feel resteraunt เตรียมค่าใช้จ่ายไปแค่ 150 USD ไม่รวมค่าที่พักและค่าเดินทาง เข้าที่พัก ได้ใช้การสื่อสารภาษาสากลของอาเซียนในทันที เพราะห้องพักมีกลิ่นอับ


“Can I change my room?” พนักงานต้อนรับตอบว่า No! และโบ้ยว่าต้องเปลี่ยนพรุ่งนี้ แต่เมื่อเพื่อนร่วมทัวร์มาร่วมโวย ทางโรงแรมก็ยอมเปลี่ยนให้


นี่คือ สิ่งที่บ่งบอกว่า วัฒนธรรมในยุคปัจจุบันต้องโวยวายก่อน ถึงจะได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือเปล่า?

เจดีย์กลางน้ำ เมืองสิเรียม


เวลา 7.00 น. เช้าวันที่สอง คณะเราออกเดินทางสู่ วัดเจดีย์ เยเลพญา หรือ วัดเจดีย์กลางน้ำ เมืองสิเรียม ห่างจากกลางเมืองย่างกุ้ง ระยะเดินทางด้วยรถยนต์ (รถตู้) ไป 1 ชั่วโมง หลักฐานชิ้นแรกที่บ่งชี้ถึงอารยธรรมรุ่งเรือง คือ การเห็น "วัด" อยู่ทุกๆ 1 กิโลเมตร นับระหว่างทางซ้ายขวาที่เดินทาง 50 กิโลเมตร นับได้ประมาณ 100 วัด แต่ละวัดมีเจดีย์สีทองอร่ามองค์ใหญ่ลักษณะเหมือนเจดีย์ชเวดากองจำลอง ผมรู้สึกทึ่งกับจำนวนวัดข้างทาง และตะลึงกับรถยนต์ที่ชาวพม่าขับโดยไม่ต้องมีไฟเลี้ยว


จะเลี้ยวกันเมื่อไร ต้องวัดใจกันเองประมาณนั้น


เสี้ยววินาทีหนึ่งที่ผมได้ฟังพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินกล่าวว่า “เวลาที่เมียนมาร์ช้ากว่าที่ไทย 30 นาที ขอให้ท่านผู้โดยสารปรับนาฬิกาหลังเดินลงจากเครื่องบิน”


แต่แค่เพียง 30 นาทีที่พม่า ผมก็รู้สึกถูกดึงย้อนเวลาไปสู่อดีตไกลเลย


เมืองสิเรียม ตั้งอยู่บนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ประวัติบอกว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ หลังจากหมดยุคอันเกรียงไกรของอาณาจักรหงสาวดี สิ้นบุญพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าผู้สืบราชบัลลังก์ต่อคือพระเจ้านันทบุเรง พระองค์ทรงอ่อนแอจนบรรดาประเทศราชประกาศแยกตัวเป็นอิสระ แม้กระทั่งกองทหารและชาวบ้านก็หลบลี้หนีหายจนอาณาจักรหงสาวดีที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรแทบกลายเป็นเมืองร้าง กองทัพชาวยะไข่ จากรัฐอาระกัน ก็บุกเข้ามาปล้นสะดมภ์แล้วเผาเมืองโดยง่าย ยะไข่ มีกองทัพที่เข้มแข็ง และยังมีทหารรับจ้างเป็นชาวโปรตุเกสที่เชี่ยวชาญการรบ เมื่อครั้นเคลื่อนพลมาหงสาวดีก็ตั้งกองทัพเรือที่เมืองสิเรียม ครั้นเสร็จศึกสงคราม ก็ปูนบำเหน็จให้ทหารรับจ้างโปรตุเกสชื่อ ฟิลิป เดอ บริโต ยี นิโคเต เป็นเจ้าเมืองสิเรียม ตั้งแต่นั้นมา เมืองสิเรียมก็เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลแทนหงสาวดี


ฟิลิป เดอ บริโต ยี นิโคเต ปกครองเมืองสิเรียม 13 ปี ได้ทำลายดินแดนพระพุทธศาสนา ยึดทรัพย์สินและบังคับให้ชาวเมืองสิเรียมเข้ารีตเป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ให้ทำลายรูปปั้นในศาสนาอื่น โดยเฉพาะวัดในพุทธศาสนา กอบโกยผลประโยชน์ทุกสิ่งทุกอย่างไปจากเมืองสิเรียม จน พระเจ้าอนอคะเปตลุน กษัตริย์พม่า มาล้อมเมืองสิเรียม จับ เดอ บริโต เสียบประจานรับโทษทัณฑ์สูงสุดตามกบิลเมืองพม่าที่กำหนดไว้สำหรับผู้ที่ปล้นวัดวาอาราม ทนทุกข์ทรมานอยู่สามวันจึงตาย หลังจากการตายของเดอ บริโต เมืองสิเรียมตกอยู่ในอำนาจของพม่าบ้าง มอญบ้าง ไทยบ้าง กระทั่ง พ.ศ.2428 พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 อังกฤษได้พัฒนาเมืองสิเรียมเป็นเมืองอุตสาหกรรมและแหล่งปลูกข้าวตราบจนปัจจุบัน


การที่พระเจ้าอนอคะเปตลุน กษัตริย์พม่า ล้อมจับและลงโทษผู้ทำลายพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นว่าศรัทธาที่ฝังรากลึกของจิตวิญญาณชาวพม่านั้น คือ พระพุทธศาสนา นั่นเอง


รวมถึง วัด พระเจดีย์เยเลพญา หรือ เจดีย์กลางน้ำ ซึ่งตามตำนานการสร้างตั้งแต่อาณาจักรมอญเรืองอำนาจ โดยพระสงฆ์รูปหนึ่ง นิมิตรว่ามีเจดีย์อยู่บนเกาะกลางน้ำแห่ง จึงไปทูลกษัตริย์มอญสมัยนั้น ขอให้สร้างเจดีย์ และอธิษฐานไว้ว่า หากมีน้ำท่วมอย่าให้ท่วมองค์พระเจดีย์ และพระเจดีย์ก็อยู่รอดมาถึงพันปี และสามารถรองรับผู้คนจำนวนมากที่มากราบไหว้ได้นับหมื่นคน


ทุกคนที่จะไปนมัสการพระเจดีย์ฯ จึงต้องลงเรือข้ามไปยังเกาะกลาง เมื่อถึงบริเวณวัด ต้องถอดรองเท้า และผมเห็นว่าคนที่นั่นเขาไม่รังเกียจการเดินด้วยเท้าเปล่า แม้ว่าจะเปื้อนขยะ ฝุ่น หรือสิ่งที่อยู่บนพื้น เพราะจุดหมายเดียวของเขา คือการได้ไปเคารพบูชาพุทธองค์ องค์พระเจดีย์ เทพนัต และพระสาวก ที่สถิตย์ ณ ที่เจดีย์นั้นเอง


ศิลปะและสถาปัตยกรรม ที่วัดเจดีย์เลพญา มีความเป็นเอกลักษณ์ สวยงาม โดดเด่นและน่าทึ่งมาก รูปปั้นกรีกที่ว่าสวยงามตราตรึงใจ ผมว่าแพ้รูปปั้นเทพนัต และรูปปั้นพระสงฆ์ ที่ตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ผมก้มกราบอย่างสนิทใจ คนพื้นถิ่นจะกราบแบบหัวราบพื้นเช่นคนไทย ผู้ชายจะนั่งชันเข่าสองข้างหรือนั่งยองๆ ในจังหวะแรกก่อน ส่วนผู้หญิงจะเหมือนกัน คือนั่งท่าเทพธิดาและกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ (อวัยวะห้าส่วนจรดพื้นแสดงความเคารพสูงสุด)
ผมถูกตราตรึงด้วยรูปปั้นที่สวยงาม ผมไม่เคยเห็นประติมากรรมเช่นนี้มาก่อนเลย หากเปรียบเทียบกับชนชาติอื่น เช่น ไทย ไทยใหญ่ ลาว ทุกคนที่มาที่นี่ล้วนดูเบิกบาน จากสถาปัตยกรรมของวัดและความรู้สึกที่ก่อให้เกิดศรัทธา

มุ่งเข้าหาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง


เวลา 13.00 น. ออกจากสิเรียมไปยัง พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ระหว่างทางพบวัดเล็กๆ สงบเงียบในหมู่บ้าน เราแวะลงไปชมกราบนมัสการพระธาตุในวัด ได้พบคนท้องถิ่นนุ่ง ลองยี (Longyi) โสร่ง หรือ ผ้าถุง คนในวัดคึกคัก พอๆกับ จำนวนคนเที่ยวห้างสรรพสินค้าที่เมืองไทย ท่าทีของทุกคนนอบน้อมต่อประติมากรรมซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จนกระทั่งผมอดที่จะปลาบปลื้มไม่ได้ว่าขนาดยุค พ.ศ. 2558 ยังมีความศรัทธาเปี่ยมล้นปานนี้ พ.ศ. ต้นๆ จะศรัทธามากล้นขนาดไหน ผมอิ่มเอิบใจกับความนอบน้อมและความอลังการของพระบรมธาตุเจดีย์ และศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีความเฉพาะตัวสูง


เวลาดี ตอน 20.00 น. ชาวคณะก็มาถึง "พระมหาเจดีย์ชเวดากอง" พระจันทร์สว่างสีเหลืองนวลลอยอยู่เหนือยอดพระบรมเจดีย์ ผมสามารถพูดได้เต็มปากว่า นี่คือพระมหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตที่ผมพบมา


เมื่อตอนที่ผมมองเห็นไกลๆ จากถนนที่มาจากสนามบินย่างกุ้ง ยอดเจดีย์สีทองอร่าม ท้าแสงไฟส่องสว่างพุ่งสู่ท้องฟ้า ก็ตื่นตาแล้ว แต่เมื่อเดินขึ้นไปถึงฐานพระมหาเจดีย์ สัมผัสแรก คือ กลิ่นธูปหอม และเสียงสวดมนต์ ภาวนา ผมอัศจรรย์ใจยิ่งกว่า นี่คือโลกสวรรค์หรืออย่างไร และสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์นี่เอง ที่บ่งบอกว่า สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองนี้ คือ ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา นั่นเอง


"ลา เย บา ยา เตะ" เสียงของสุภาพสตรีท่านหนึ่งดังขึ้น ที่ลานอธิษฐานของพระมหาเจดีย์ ผมเอี้ยวตัวหันมอง และได้เห็น แววตาสงบนิ่งของเธอ เธอจับน้ำมันงาด้วยมือสองข้าง บรรจงเทลงถ้วยแก้วใสบนชั้นวางรอบพระเจดีย์ ไหล่ของเธอตั้งตรง แม้จะมีริ้วรอยบ่งบอกวัยสาวที่เหลือน้อยไปบ้างแล้ว (ผมว่าน่าจะประมาณ 40 ) แต่ความสวยของเธอไม่น้อยเลยนะ


ผมเดินไปจุดประทีปข้างๆ เธอ และมองอย่างเต็มตา ภาพที่เหนือจากความงามของหญิงสาว คือภาพของผู้คนหลายพัน ที่มากราบไหว้ จุดประทีปบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากองแห่งนี้


...................


วันที่สาม คณะของเราไปเปิดโลกทัศน์กันต่อ ที่เมือง หงสาวดี (Bago) เมืองเก่าแก่ มีอดีตอันรุ่งเรืองแบบคู่ขนานมากับกรุงศรีอยุธยา


ประเด็นอดีตมาอีกแล้วครับท่าน เคยมีข้อถกเถียงกัน ว่าเราควรเกลียด และกลัวกันและกัน เพียงเพราะเหตุ คือความอยากได้ อยากมี อยากเด่น เป็นที่หนึ่ง การแก่งแย่งและความอยากเกินพอดีเป็นเหตุให้เกิดการแย่งชิง ทำลาย คดโกง ประวัติศาสตร์ก็ทำสงครามกันไม่สิ้นสุด และยังมีสงครามช่วงชิงความเด่นในการเล่าประวัติศาสตร์อีกต่างหาก


อาณาจักรหงสาวดี ที่มี พระเจ้าบุเรงนอง สร้างเมืองยิ่งใหญ่จนกลายเป็นตำนานและนิยายเลื่องชื่อ ผู้ชนะสิบทิศ แต่กลับมาเสื่อมในยุคของพระเจ้านันทบุเรง ที่หนังไทยได้ฉายภาพไว้อย่างละเอียด (และยับเยิน) หงสาวดีเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมอญ วัดพระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ ที่บรรจุพระบรมสาริกธาตุและ พระนอนชเวตาลยอง พระนอนที่พระพักตร์ยิ้มแย้ม เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดผู้คนไปเยี่ยมชมเมืองหงสาวดี


เอาเป็นว่า ได้เห็น "หงสาวดี" ในปีพุทธศักราชนี้ หลังจากที่เคยฟังแต่ในตำนาน และภาพยนตร์ไทยหัวใจรักชาติแล้ว ความรู้สึกที่ควรจะเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นศัตรู กลับกลายเป็นความ(อยาก)เป็นมิตร

'หมาก' พม่า


ความประทับใจของผมอีกอย่างที่หงสาวดี คือ หมาก


หมาก มีหลายชนิด มีหลายสูตร ที่วางขายให้เลือกชิมกันด้วย มีทั้งหมากแบบกระตุ้นกำลังงาน และหมากหวาน ทานง่าย (เพราะมีรสหวานและไม่ใส่ใบยาสูบ) ผมตัดสินใจลองชิมหมาก เห็นแผงที่วางขายอยู่ก็ลองซื้อ ในราคา 300 จั๊ด (ประมาณ 10 บาท) เพื่อลิ้มลองรสชาติ เคี้ยวหยาบๆ ก็ได้กลิ่นหอมชื่นใจ และเมื่อกลืนลงคอไป มีรสชาติเฝื่อนคอ แต่ความหอมยังอยู่ และสติตื่นทันที เป็นอาการโดนสารกระตุ้น มิน่าล่ะ เมื่อตอนรถตู้ของเราแล่นผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งระหว่างทาง (จำชื่อหมู่บ้านไม่ได้ครับ ขออภัย) ผมเห็นชายหนุ่มนุ่งโสร่งเคี้ยวหมากไป แบกหินไป วางสร้างถนน ขอโทษครับ ผมไม่เห็นมีรถแมคโคร หรือเครื่องจักรซักคัน แรงงานคนล้วนๆ ยิ่งกว่าซูเปอร์แมนซะอีก สงสัยเพราะฤทธิ์หมากที่มีสารบางอย่าง มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทอ่อนๆ นี่ล่ะ


กลิ่นหมาก ชวนผมหวนอดีตวัยเด็ก ผมจำภาพที่ ปู่ทวด (พี่ชายของคุณย่า) ของผม นั่งยองๆ เคี้ยวหมาก สูบยาเส้นใบตองแห้งและนุ่งโสร่ง ช่างเป็นความคล้ายกัน คงไม่บังเอิญ แต่น่าจะเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมคนแถบนี้ เลยคิดเรื่อยไปว่า ถ้าทัวร์ไทยจะไปบ้านเขาแล้วคิดว่า เขาด้อยพัฒนาและแตกต่าง บางทีมองถึงเนื้อแท้และวิถีเก่าๆ เราก็เหมือนๆ กันนะ


แว่บแรกความรู้สึกเมื่อมาถึงเมืองหงสาวดี ผมมองเห็นภาพเมืองที่เคยอบอุ่น และศิลปวัฒนธรรมวิจิตรสวยงาม คนที่เมืองนี้ คงพูดภาษากรุงศรีอยุธยาหรือโยเดียได้ (ดูหนังท่านมุ้ยมากไปหรือเปล่าหว่า) เพราะความรุ่งเรืองของเมืองเก่ายังมีให้เห็น และได้เห็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม วิถีชีวิตที่ยังเรียบง่าย ดูแจ่มใสจริงใจ เป็นมิตรกับคนแปลกหน้ามาเยือน


ที่หงสาวดี ผมได้ชิมอาหารท้องถิ่นง่ายๆ ตำมะยม ตำมะม่วง และผลไม้จิ้มพริกเกลือ และ "งาปิ๊ทองหรืองะปิ๊ทอง" หรือ ภาษามอญออกเสียง "งะหรืองา" เป็น "ก๊ะปิ๊" ซึ่งคือกะปิปลาร้า และงาปิ๊ทอง ที่ผมได้กินเป็นปลาแห้งป่นผสมปลาร้า มีผักจิ้ม เหมือน "แจ่ว" หรือน้ำพริกปลาร้า แถวชาวอีสานบ้านผมเองเลยล่ะครับ


ผมรู้สึกว่าที่นี่เหมือนบ้าน ผมสัมผัสถึงความสงบและจิตเปี่ยมบุญกุศล ผมเดินทางกลับถึงดอนเมืองอย่างสวัสดิภาพ พร้อมทั้งรำพึงในใจว่า "มิงกาลาบา (พบกันใหม่นะ) ย่างกุ้ง" .. ..


ผมจะต้องข้ามมาเมียนมาร์อีกแน่นอน



................

การเดินทาง


เดินทางด้วยสายการบินแอร์เอเชีย สนามบิน ดอนเมือง-ย่างกุ้ง หรือสุวรรณภูมิ-ย่างกุ้ง หรือเที่ยวบินอื่นๆของนกแอร์ การบินไทย และบางกอกแอร์เวย์ การติดต่อที่พักพร้อมบริการรถตู้นำเที่ยว เลือกเส้นทางได้เอง ผ่านบริษัททัวร์ที่มีใบรับประกันวิชาชีพถูกต้อง พร้อมบริการมัคคุเทศก์เพื่อสื่อสารภาษาพม่ากับคนท้องถิ่นได้สะดวก