'ไทยซูการ์มิล'ต่อยอดผลิตน้ำตาล สู่'พลังงานทดแทน'

'ไทยซูการ์มิล'ต่อยอดผลิตน้ำตาล สู่'พลังงานทดแทน'

(สัมภาษณ์พิเศษ) "ไทยซูการ์มิล" ต่อยอดผลิตน้ำตาล สู่ "พลังงานทดแทน"

ธุรกิจโรงงานน้ำตาลที่หลายคนมองว่า น่าจะเป็น Sunset แต่สำหรับ ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทย ซูการ์ มิล กรุ๊ป ทายาทธุรกิจโรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี กลับไม่คิดเช่นนั้น


ดร. กนกวรรณ กล่าวว่า "โอกาส" ในการขับเคลื่อนธุรกิจน้ำตาล คือ การ "ต่อยอด" สู่ธุรกิจอื่นๆ ที่มีต้นทางมาจากวัตถุดิบอ้อย อาทิ พลังงานทดแทน


ขณะที่ "น้ำตาล" ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิม มีทั้งการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ลักษณะเป็นเม็ดสีขาวใส มีกระบวนการผลิตที่คล้ายการผลิตน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง ที่ผลิตจากอ้อยโดยตรง ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย โดยน้ำตาลทรายขาว ใช้บริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมผลิตอาหารและใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน และสุดท้าย คือ น้ำตาลทรายดิบ


“กว่า 40 ปีของธุรกิจน้ำตาล เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างนิ่ง โดยระบบที่รัฐบาลวางไว้ภายใต้ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาล ทำให้เป็นข้อดีและมีความชัดเจนในการทำธุรกิจ ยกเว้นในเรื่องของจำนวนวัตถุดิบ”


ต่อยอดธุรกิจพลังงานทดแทน


จากแนวโน้มอุตสาหกรรมพบว่า จำนวนพื้นที่ปลูกอ้อยปรับตัวลดลง ส่งผลต่อจำนวนวัตถุดิบที่จะส่งตรงเข้าโรงงาน ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงได้พัฒนาแนวทางดำเนินงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการปลูกอ้อยให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นในขนาดพื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม เช่น การให้ทุนกับเกษตรกรสำหรับการพัฒนาระบบหยดน้ำ ภายใต้กรอบเวลาการทำงาน 3 ปี เพื่อเพิ่มผลิตผลต่อไร่ให้มากกว่าเดิม เป็นต้น


“ที่ผ่านมาธุรกิจน้ำตาลในภาพรวมได้พัฒนาและต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่กระจายอยู่ในช่องทางขายค้าปลีกสมัยใหม่เป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ จึงไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในช่องทางนั้น ไทย ซูการ์ มิล กรุ๊ป ยังคงโฟกัสอยู่ที่ต้นน้ำ คือ โรงงาน และต่อยอดไปที่ธุรกิจพลังงานทดแทนมากกว่า”


การต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงาน ของ ไทย ซูการ์ มิล กรุ๊ป ได้แก่ ธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งพบว่า แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ทำให้ไฟฟ้าจากระบบก๊าซชีวภาพเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยเอทานอลที่ได้จากอ้อยถือว่าเป็นพลังงานสะอาด 

รุกลงทุนผลิต "เอทานอล"


ทั้งนี้ ในปี 2549 ไทย ซูการ์ มิล กรุ๊ป ได้จัดตั้ง บริษัท น้ำตาลไทยเอทานอล จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายเอทานอล อีกทั้งได้เริ่มกระบวนการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ "ฟ้าประทาน"


ปี 2550 ได้จัดตั้ง บริษัท ทีเอสเอ็ม ไบโอเอนเนอร์ยี จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (VSPP :Very Small Power Producer) ทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยใช้วัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตเอทานอลไปใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ


ต่อมา ปี 2555 จัดตั้ง บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย สร้างโอกาสในตลาดที่ขยายตัวได้ และส่งเสริมการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง


จากนั้นจัดตั้ง บริษัท ทีเอสเอ็ม เพาเวอร์ จำกัด โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (VSPP :Very Small Power Producer) โดยใช้กากอ้อย ที่เหลือจากการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ


ตามด้วย บริษัท ไทยกาญจนบุรี เพาเวอร์ จำกัด โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (VSPP :Very Small Power Producer) ที่ผลิตไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบจากกากอ้อย


เล็งขยายธุรกิจออแกนิกส์


การขยายธุรกิจไปยังธุรกิจด้าน “พลังงานทดแทน” ครั้งนี้ ดร.กนกวรรณ มองว่า เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจที่ไม่พึ่งพิงเฉพาะธุรกิจต้นน้ำเท่านั้น ด้วยการเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน
แนวทางการขยายตัวยังมีความเป็นไปได้อีกนอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน เช่น การต่อยอดจากโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง อยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ธุรกิจออแกนิกส์ แม้จะเป็นตลาดที่ยังไม่ใหญ่มาก แต่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ
สำหรับ ภาพรวมของรายได้ทั้งกลุ่ม ปัจจุบัน 70% มาจากการส่งออกน้ำตาล อีก 30% มาจากธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเบื้องต้นจะยังคงสัดส่วนนี้ไว้ก่อน


ขณะที่เป้าหมายและความท้าทายในอนาคต คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และผลักดันรายได้แตะหลัก "หมื่นล้าน"


“วันนี้ เราเป็นธุรกิจไซส์กลางเมื่อเทียบกับโรงงานน้ำตาลอื่นๆ ทำให้ต้องเร่งทำในหลายๆ เรื่อง ทั้งการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้แข่งขันได้ในอนาคต” ดร.กนกวรรณ กล่าวทิ้งท้าย