เคาะตั้งองค์กรคุมรสก.2มีค. คาดซูเปอร์บอร์ดยึดแบบธปท.

เคาะตั้งองค์กรคุมรสก.2มีค. คาดซูเปอร์บอร์ดยึดแบบธปท.

"ซูเปอร์บอร์ด" เตรียมพิจารณาแนวทางตั้งองค์กรเจ้าของ คุมรัฐวิสาหกิจแทนกระทรวงคลัง วันที่ 2 มี.ค.นี้ คาดยึดรูปแบบแบงก์ชาติเป็นหลัก

 คงความเป็นองค์กรรัฐ แต่มีอิสระในการบริหารงาน แย้มไม่ได้รับโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจมาพร้อมกันทั้ง 56 แห่ง เพราะบางส่วนต้องปรับโครงสร้างองค์กร ยุบรวม หรือเปลี่ยนเป็นองค์กรมหาชน


แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด วันที่ 2 มี.ค.นี้ ที่ประชุมจะหารือผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ ที่มี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน เกี่ยวกับกรอบแนวทางการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ ถือหุ้นแทนกระทรวงการคลัง เพื่อ บริหารงานรัฐวิสาหกิจแบบรวมศูนย์


ขณะเดียวกัน ที่ประชุมจะพิจารณาแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ที่มีการประชุมคณะอนุกรรมการ กลั่นกรองแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่มี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน พิจารณา ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะผ่อนปรนมติ ซูเปอร์บอร์ดที่กำหนดนโยบายปล่อยสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์ ให้สามารถปล่อยวงเงินกู้ต่อรายได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท


นอกจากนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาวาระอื่นๆ อาทิ การพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Multi-Stakeholder Group) สำหรับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (COST) รวมถึงโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่เข้าข่ายเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (การขอปรับเพิ่มวงเงินลงทุน Cost Overrun) โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้า ระยะที่ 8 ส่วนที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วยต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และเตาปูน-ท่าพระ


รวมถึงการรับทราบรายงานการพิจารณารายชื่อบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ พิจารณาโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เข้าข่ายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รายงานข้อมูลการลงทุน และการทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกิน 100 ล้านบาทของรัฐวิสาหกิจ


แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ด แจ้งว่า รูปแบบขององค์การเจ้าของ ที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับการนำมาใช้ในไทย น่าจะเป็นรูปแบบหน่วยงานในสังกัดหน่วยงานของรัฐ จะเป็นสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงการคลัง ที่มีอิสระในการดำเนินงานในระดับหนึ่ง คล้ายกับ ธปท. มีกฎหมาย และระเบียบการดำเนินงานเฉพาะของตัวเอง ขณะที่พนักงานองค์กรนี้ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ


จากการศึกษารูปแบบในต่างประเทศ พบว่ามี 4-5 รูปแบบขององค์กรเจ้าของที่ใช้กันอยู่ ประกอบด้วย 1.ยกฐานะ สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แต่เพิ่มอำนาจให้สคร.มีอำนาจในการกำกับดูแลมากขึ้น แต่ยังคงเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง 2.รูปแบบเหมือนแบบแรก แต่แทนที่จะสังกัดกระทรวงการคลังให้มาอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 3. การตั้งเป็นกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงรัฐวิสาหกิจ


4. ยังคงเป็นหน่วยงานรัฐ โดยตั้งเป็นองค์กรภายใต้การกำกับของรัฐ มีอิสระในการบริหารจัดการพอสมควร มีกฎหมาย และระเบียบของตัวเอง มีการปกป้องไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงอย่างไม่สมควร เช่น ธปท. และสำนักงานก.ล.ต. อาจสังกัดกระทรวงการคลัง หรือสำนักนายกรัฐมนตรี และ 5.ตั้งเป็นโฮลดิ้ง คัมพานี เหมือนกองทุนเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ หรือคาซาน่า ของมาเลเซีย ซึ่งหลายประเทศในยุโรป ต่างใช้การตั้งโฮลดิ้งส์คัมพานีเพื่อบริหารงานรัฐวิสาหกิจ


แหล่งข่าวกล่าวว่า องค์กรเจ้าของจะต้องรับโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจจากกระทรวงการคลังมา โดยกระทรวงการคลัง และรัฐบาลยังคงมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายต่างๆ อย่างไรก็ตามองค์กรเจ้าของนี้คงไม่ได้รับโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจมาทั้งหมด 56 แห่ง เพราะบางแห่งต้องปรับโครงสร้างกิจการ เช่น ยุบเลิก และยุบรวม หรือบางแม้ยังอยู่ แต่ต้องปรับโครงสร้างไปเป็นองค์กรมหาชน