'ว่าว'เต็มฟ้า ณ เมืองสตูล

เอ่ยถึง "สตูล" หลายคนอาจมองเห็นภาพน้ำทะเลใสๆ หาดทรายสวยๆ ที่เกาะหลีเป๊ะ

ซึ่งถือเป็น "เกาะดารา" ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือนจังหวัดใต้สุดแดนสยามแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย แต่จะมีใครบ้างที่รู้ว่า สตูลมีมากกว่าเกาะหลีเป๊ะ


"สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์" นี่เป็นคำขวัญของจังหวัดสตูล และมันก็ยังฉายภาพความเป็นจริงได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปยังจุดไหนเราก็จะได้พบกับวิถีชีวิตที่น่ารักของผู้คน การดำรงตนอยู่อย่างสงบท่ามกลางธรรมชาติที่หลากหลาย และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทำให้ผู้คนในเมืองนี้มีน้ำใจไมตรีต่อผู้มาเยือน แน่นอนว่า พวกเขาพร้อมให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวกับทุกๆ คนที่ผ่านมาเสมอ


อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกว่า สตูลมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ยืนยันได้จาก จรรยารักษ์ สาธิตกิจ ผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล ที่บอกว่า จังหวัดสตูลมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เพราะมีทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก อุทยานแห่งชาติ ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนซากดึกดำบรรพ์ที่ทำให้นักธรณีวิทยาทั่วโลกอยากมาสัมผัส


"เรามีเกาะที่โด่งดังหลายแห่ง ทั้งหลีแป๊ะ อาดัง ราวี เกาะไข่ เกาะหินงาม เกาะตะรุเตาซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน นอกจากนี้ก็ยังมีอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ส่วนบนบกก็มีมัสยิดโบราณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ มีน้ำตกที่ใสสะอาด และถ้ำที่น่าสนใจ อย่างถ้ำภูผาเพชรก็ได้ชื่อว่าเป็นถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และสวยที่สุดในสตูล หรือถ้ำเลสเตโกดอน เป็นถ้ำใหม่ที่เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ 1-2 ปี ก็มีซากดึกดำบรรพ์ของช้างสเตโกดอนยุคก่อนช้างแมมมอธ ทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และมีความน่าสนใจในแง่ธรณีวิทยา"


มากกว่านั้น สตูลยังมีประเพณีต่างๆ ที่น่าสนใจจนสามารถนำมาจัดเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เช่นในช่วงเดือนมีนาคมที่มี "ลมว่าว" พัดผ่าน บนแผ่นฟ้าสตูลก็จะเต็มไปด้วยว่าวสีสันต่างๆ ทั้งว่าวพื้นบ้าน และว่าวสมัยใหม่ๆ แต่ถ้าใครอยากชมว่าวแบบหลากหลายและครบครัน ต้องไปที่ งานมหกรรมว่าวประเพณีและว่าวนานาชาติ ครั้งที่ 35 เทิดพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2558 ณ สนามบินกองทัพอากาศจังหวัดสตูล ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล


สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล บอกว่า จังหวัดสตูลเริ่มการแข่งขันว่าวมาตั้งแต่ปี 2519 โดยครั้งแรกนั้นเป็นการเริ่มต้นของครูโรงเรียนสตูลวิทยา แต่ว่าเป็นงานเล็กๆ จากนั้นก็มีการขยับขยายให้ใหญ่ขึ้นโดยมีจังหวัดสตูลเข้ามาร่วมสนับสนุน จนในที่สุดเมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลเข้ามารับหน้าที่พ่องาน การจัดงานจึงค่อนข้างหลากหลายและก้าวไกลเป็นระดับนานาชาติ


"จากเดิมที่เป็นการแข่งขันกันเฉพาะว่าวพื้นบ้าน เช่น ว่าวขึ้นสูง ว่าวเสียงดัง ว่าวแอก พอ อบจ. เข้ามาสนับสนุนเราก็ทำให้มีกิจกรรมหลากหลายขึ้น คือมีการเชิญนักแสดงว่าวนานาชาติมาร่วมแสดง โดยเราต่อช่วงจากงานแสดงว่าวนานาชาติของมาเลเซียที่รัฐยะโฮร์ ก็เลยจะมีว่าวแปลกๆ มาโชว์ด้วย"
สำหรับว่าวพื้นบ้าน เรียกว่า ว่าวควาย รูปลักษณ์ก็สมดังชื่อ คือมีหน้าตาคล้ายว่าวจุฬาแต่ว่าช่วงล่างจะตกแต่งให้เป็นรูปควาย มีเขา มีหู และมีหน้าควาย ถือเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้เฉพาะสตูลและภาคใต้เท่านั้น


"คนสตูลนิยมเล่นว่าวควายที่ประยุกต์มาจากหัวไร่ปลายนาที่ออกแบบกันมาตามประเพณี เราเลยจับมาโปรโมทเพื่อการแข่งขัน คือความสวยงามมันก็พอมี อาจจะไม่ได้วิลิศมาหรามาก แต่ก็มีความสวยงามของมันอยู่ แล้วพอเอาแอกไปใส่ก็จะมีเสียงดัง สามารถแข่งขันประเภทเสียงดังได้อีก ซึ่งจริงๆ แอกสามารถฝากไว้กับว่าวได้หลายประเภท พอโต้ลมแล้วจะเสียงดัง อย่างมาเลย์เขาก็มีว่าวพื้นเมืองเหมือนกัน แต่ลักษณะว่าวของเขาจะเป็นว่าววงเดือน ปีกคล้ายๆ กัน แต่ข้างล่างจะไม่เป็นรูปหัวควายเหมือนเรา"


คงไม่มีใครอธิบายความหมายของว่าวควายได้ดีเท่ากับคนทำว่าวเอง ด.ต.ประเทือง ศรีสว่าง เป็นช่างทำว่าว ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ที่คลุกคลีอยู่กับว่าวมาแทบทั้งชีวิต บอกว่า เด็กสตูลทุกคนต้องเคยเล่นว่าวควาย เพราะมันเป็นของเล่นอย่างเดียวในอดีตที่หญิงก็เล่นได้ ชายก็เล่นสนุก


"ผมตั้งแต่เด็กๆ ประมาณ 7-8 ขวบ จากนั้นก็ทำว่าวเล่นเอง คือไปนั่งดูคนแก่เขาทำว่าว แล้วเราก็ฝึกทำ ทำมาเรื่อยๆ จนไปรับราชการก็ไม่ค่อยได้ทำ จนเกษียณอายุราชการถึงกลับมาทำใหม่ ตอนนี้คนทำว่าวเป็นเหลือไม่กี่คน ดีที่มีคนรุ่นใหม่สนใจ จึงพอหาคนสืบต่อวิชาได้บ้าง"


ดาบประเทือง เล่าว่า ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน บนฟ้าสตูลจะมีว่าวลอยลมอยู่เต็มไปหมด ถ้าเป็นว่าวควายธรรมดาก็ดูกันแบบเพลินๆ ไป แต่ถ้าใครเล่นว่าวแอกด้วย ก็จะมีเสียงแอกดังตลอดทั้งวันหรือทั้งคืน


"จริงๆ มีว่าวหลายอย่าง ว่าวควาย ว่าววงเดือน ว่าวนก ว่าวปักเป้า แต่เราชอบเล่นว่าวควายกัน แล้วเอาแอกไปผูก พอว่าวลอยลมก็ผูกไว้แบบนั้นเสียงก็จะดังทั้งคืน ถ้าไม่ได้ยินเสียงแล้วแปลว่าตกไปแล้ว เวลาไปเล่นก็จะไปเล่นกันเป็นกลุ่มๆ กลางทุ่งนา แข่งกันบ้างอะไรบ้าง ก็เล่นกันเต็มท้องฟ้าไปหมด"


สำหรับการทำว่าว ดาบประเทืองบอกว่า ไม่ยาก แต่หาคนทำเป็นจริงๆ ยาก ทุกวันนี้จึงมีโรงเรียนหลายแห่งผูกรวมการทำว่าวไว้ในวิชาท้องถิ่นของเรา แล้วมีช่างทำว่าวเป็นครู


"ว่าวจะมีขนาดโครงสร้างที่คำนวณตามหลักวิทยาศาสตร์ ทำเล่นกับทำแข่งจะไม่เหมือนกัน ต้องมีสูตรทั้งขนาด ความกว้างของปีก ช่วงฐาน ช่วงท้าย เราต้องคิดตาม นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องของน้ำหนักถ่วงซึ่งแต่ละส่วนไม่เท่ากัน เพราะมันจะโยงไปถึงเรื่องการทรงตัวของว่าวด้วย ว่าวจะลอยตัวอยู่ได้อยู่ที่ความชันของกระดูกว่าว ทุกอย่างเราต้องคำนวณองศา"


ในฐานะที่เคยเป็นแชมป์จากการแข่งขันว่าวมาหลายสมัย ดาบประเทืองบอก นอกจากลอยลมได้ ว่าวต้องสวยงามด้วย


"ศาสตร์การทำว่าวก็ศาสตร์หนึ่ง ใช้ศาสตร์ด้านวิศวกรรม แต่ในว่าวหนึ่งตัวนั้นต้องมีศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าว่าวทั่วไปก็อาจจะประดับตกแต่งด้วยการติดกระดาษสวยๆ แต่นอกจากนี้ก็ยังมีช่างศิลป์ที่สามารถเขียนลายว่าวให้สวยงาม"


สำหรับงานมหกรรมว่าวประเพณีของจังหวัดสตูลมีมายาวนานและยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี จนเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกิจกรรมภายในงานก็น่าสนใจ คือนอกจากจะมีการแข่งขันว่าวประเภทต่างๆ แล้ว ยังมีการแสดงว่าวจากชมรมว่าวไทย และว่าวนานาชาติ 35 ประเทศ, การประกวดประดิษฐ์ว่าวประเภทต่างๆ ชิงถ้วยพระราชทานฯ การประกวดธิดาว่าว ขบวนแห่ถ้วยพระราชทาน ขบวนว่าว และการออกร้านจำหน่ายอาหารคาวหวานในเทศกาลอาหารสยามอันดามัน


"ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่นๆ เพราะจะเป็นงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา โดยจะมีความพิเศษหลายๆ อย่าง เช่น แลนด์มาร์คของงานจะประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ตราเฉลิมฉลองของพระองค์ และมีธงประเทศต่างๆ ล้อมรอบ ส่วนในพิธีเปิดจะขึ้นว่าวตราสัญลักษณ์ของพระเทพฯ พร้อมกันนั้นก็จะขึ้นว่าวที่เป็นโลโก้งานประดับธงชาติประเทศต่างๆ ขึ้นเคียงคู่ เราทำว่าวยักษ์ที่เป็นรูปยักษณ์ในวรรณคดีรามเกียรติ์ลักษณะคล้ายๆ ราชองครักษ์ขึ้นไปพร้อมกันด้วย" นายก อบจ. กล่าว


นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.satun.go.th หรือ www.facebook.com/มหกรรมว่าวประเพณีและว่าวนานาชาติจังหวัดสตูลครั้งที่35 และโทรศัพท์ 0 7471 1273